8 ม.ค. 2023 เวลา 13:27 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
KBTG ผนึกพันธมิตรไทยดึง MIT Media Lab โชว์งานวิจัย Moonshot สร้างแรงบันดาลใจและความร่วมมือเพื่อเปลี่ยนประเทศไทย
KBTG สานต่อพันธกิจเปลี่ยนประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผนึกพันธมิตรไทย พร้อมดึง MIT Media Lab โชว์งานวิจัย Moonshot ปลุกจิตวิญญาณ สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความร่วมมือ เพื่อสร้างวัฒนธรรมและระบบนิเวศงานวิจัยต้นน้ำในงาน MIT Media Lab Southeast Asia Forum
ด้วยวิสัยทัศน์ของ KBTG ที่ต้องการเป็นบริษัทเทคโนโลยีไทยเบอร์ต้นของโลก ทำให้ตระหนักดีกว่าต้องให้ความสำคัญกับการทำวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier Research ทำให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยระดับโลกอย่าง MIT Media Lab ใน 3 รูปแบบ คือ การร่วมทำวิจัย (Cco-research) การให้ทุนนักศึกษาปริญญาเอก (KBTG Fellowship) และการจัดฟอรัมที่นำแนวคิดและงานวิจัย Moonshot มาสร้างผลกระทบให้กับประเทศไทย
KBTG ร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศไทยอย่างธนาคารกรุงเทพ, ทรู คอร์ปอเรชั่น, MQDC, MIT Alumni Association, SCG, ThaiCom ชวนและ MIT Media Lab จัด MIT Media Lab Southeast Asia Forum ในประเทศไทย กิจกรรม 3 วันที่ขนทัพนักวิจัยระดับหัวกะทิของ MIT Media Lab มานำเสนองานวิจัยขั้นแนวหน้าใน 5 แนวคิด คือ Connected Mind + Body, Cultivating Creativity, Decentralised Society, Future World และ Life With AI
มี “จิตวิญญาณ”​ ร่วมกัน
อาจกล่าวได้ว่า MIT Media Lab Southeast Asia Forum เป็นผลผลิตในมิติที่ 3 ของการพบกันครั้งแรกระหว่าง “กระทิง” ​เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กับ “พัทน์” ภัทร นุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกคนไทยคนแรกในรอบ 20 ปีที่ MIT Media Lab ตั้งแต่เมื่อเมษายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมิติแรกคือ ความร่วมมือระหว่าง KBTG และ MIT Media Lab ในการทำวิจัยขั้นแนวหน้าร่วมกัน KBTG และมิติที่สองคือการสนับสนุนทุนแบบ Fellowship ให้แก่พัทน์
“กระทิง” ​เรืองโรจน์ พูนผล
กระทิง ชื่นชอบความเป็นสหวิทยาการวิจัย (Interdisciplinary Research) และสปิริตของ MIT Media Lab ที่ “แทนที่จะถามว่า เราทำทำไม แต่ MIT Media Lab จะถามว่า ทำไมไม่ลองทำดู เป็นสปิริตของการค้นหา คำถามเหล่านี้ หากไม่มีใครตอบ MIT Media Lab จะเข้าไปเป็นคนตอบ ซึ่งเป็นสปิริตเดียวกันกับ KBTG ที่บอกว่า หากสิ่งใดจำเป็นต้องมีแต่ยังไม่มี KBTG จะสร้างให้มี”
จากที่เคยเป็นเด็กโอลิมปิก (เหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิกประเทศไทย และเหรียญทองแดงคณิตศาสตร์โอลิมปิกประเทศไทย) และเคยเป็นเด็กพสวท. (โครงการพัฒนาส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ชอบและรักวิทยาศาสตร์ อยากทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น
ทำให้กระทิงมีความต้องการที่จะนำทีมนักวิทยาศาสตร์ระดับแถวหน้าของโลก จาก MIT Media Lab มานำเสนองานวิจัยที่จะเป็นเมกะเทรนด์ของโลกในอนาคต ซึ่งเป็นการนำงานระดับโลกมาจัดที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกและจัดที่ประเทศไทย เพื่อกระตุ้นความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ ในประเทศไทย สร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ที่อยากโตขึ้นไปเป็นนักวิทยาศาสตร์
“พัทน์” ภัทร นุธาพร
ในขณะที่พัทน์ชอบวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์และสร้างอนาคตเหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่เขาเคยเห็นในการ์ตูน แต่ไม่เคยมีความมั่นใจว่าจะทำได้ จนกระทั่งเขาได้เจอกับ Professor Pattie Maes ผู้อำนวยการ Fluid Interfaces Group ของ MIT ที่พูดบนเวที TED Talk ที่พูดถึงโปรเจคต์ที่ชื่อ Sixth Sense โชว์เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ ทำให้คนกลายเป็น Cyborg คือ เพิ่มศักยภาพของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งเป็น TED Talk ที่มีคนดูมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก
ทำให้พัทน์ตื่นเต้นมากที่ได้เห็นว่าในโลกใบนี้มีนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างอนาคตจริง ๆ ไม่ใช่แค่เห็นในการ์ตูนเท่านั้น ยิ่งทำเขามีแรงขับความอยากของพัทน์ในการเป็นนักวิทยาศาสตร์แบบที่เห็น ความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ MIT Media Lab ก่อตัวขึ้นทันทีจากวันนั้นในวัยมัธยม
แม้พลาดโอกาสเข้าเรียนที่ MIT ตอนปริญญาตรี แต่ก็ได้มาเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ลูกศิษย์ Professor Pattie ที่ MIT Media Lab สมใจ และที่ MIT Media Lab นี้เป็นห้องทดลองที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีมากมาย อาทิ Touch Screen เทคโนโลยี Navigation Holrogram หุ่นยนต์​ Personal Robot และ AI
เมื่อพัทน์ได้ไปอยู่ที่นั่นก็ย้อนคิดถึงตอนเป็นเด็ก ว่าจะดีแค่ไหนหากไม่ต้องบินข้ามโลกเพื่อมาที่ MIT Media Lab แต่ยก MIT Media Lab กลับมาสู่เด็กไทยและคนไทย ด้วยความช่วยเหลือของ KBTG และหลายหน่วยงานร่วมกันทำให้สามารถยกทีมนักวิจัยจาก MIT Media Lab มาที่กรุงเทพฯ มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายคน ซึ่งการร่วมกันสร้างจะนำไปสู่นวัตกรรมและสิ่งใหม่
นอกจาก MIT Media Lab Southeast Asia Forum เป็นผลของการพบกันของคนสองคนที่ชื่นชอบและหลงใหลในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหมือนกันแล้ว ยังเป็นผลลัพธ์เชิงรูปธรรมของการตระหนักรู้และการพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยด้วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าผ่านการร่วมมือกันขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย เพราะเป็นงานระดับโลกที่เห็นความเป็นหนึ่งเดียวของ 9 หน่วยงาน ได้แก่ KBTG ธนาคารกรุงเทพ MIT Association of Thailand, MQDC, ทรู คอร์ปอเรชั่น, Thaicom, SCG, MITTA Group และ Techsauce
“ความร่วมมือระหว่าง KBTG และ MIT Media Lab เป็นแบบสองทาง คือ การส่งคนไปร่วมทำวิจัยที่ MIT Media Lab และพา MIT Media Lab มาเมืองไทย ในไทยมีไม่กี่องค์กรที่มีศักยภาพทำแบบนี้ได้” กระทิง กล่าว
อีกหนึ่งคุโณปการของ MIT Media Lab Southeast Asia Forum คือ ทำให้ MIT Media Lab ได้เห็นศักยภาพของประเทศไทย และความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของประเทศไทยในการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะงานวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Frontier Research) เพื่อที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องการจัดการเมือง เป็นต้น
คนไทยไม่เคยขาดคนเก่ง สิ่งที่คนไทยขาด คือ คนเก่งที่เชื่อมโยงคนเก่ง และช่วยกันสร้างอะไรที่เป็นภาพใหญ่ให้กับเมืองไทย การที่ทำ MIT Media Lab Southeast Asia Forum ไม่ได้มีแค่ KBTG และ MIT Media Lab แต่มีคอปอเรตอีกหลายรายที่มีคนเก่งจำนวนมากเช่นกัน ทำอย่างไรให้สามารถสร้างเป็นภาพใหญ่ภาพเดียวกันและเปลี่ยนประเทศไทยได้
Beyond The Elephant in The Room
MIT Media Lab ไม่ได้เน้นการสร้างเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวแต่ต้องการให้เทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ เป็นที่มาของธีมงาน MIT Media Lab Southeast Asia Forum คือ Beyond The Elephant in The Room ช้าง คือ สัญลักษณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นตัวแทนของเทคโนโลยีที่จะก้าวมามีบทบาทสำคัญ ซึ่งต้องการให้คนขี่ช้างเพื่อเพิ่มศักยภาพ ให้เทคโนโลยีพามนุษย์ไปไกลกว่าที่เคยเป็น
เนื้อหาสองวันเข้มข้นมาก มีตั้งแต่ Augemented Intelliggence นำ AI มาเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ ในด้านต่าง ๆ อาทิ ความคิดสร้างสรรค์ (Learning, Creativity and Beyond) มนุษย์กึ่งเทคโนโลยี Cyborg Health เทคโนโลยีบนร่างกายมนุษย์ นำข้อมูลมาใช้เพื่อชีวิตและสุขภาพที่ยืนยาวมากขึ้น Nano Ctybernetic Biotech สร้างเซนเซอร์ที่ฝังเข้าไปในสมอง นำ Electrodes ฝังในทุกเซลล์ของมนุษย์​ เป็นต้น
รวมถึงมีงานหลายอย่างที่ยังจินตนาการไปไม่ถึงมาแสดงในฟอรัม รวมถึง Cultivating Technology เกี่ยวข้องกับการสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดย Professor Mitchel Resnick ผู้บุกเบิก LEGO Learning เกิดเป็น LEGO Mindstorms เลโก้ที่โปรแกรมได้ และปัจจุบันเป็นผู้บุกเบิกแพลตฟอร์ม Scratche โปรแกรมการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็ก โดยปัจจุบันมีคนใช้มากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเด็กที่มาเรียนรู้การเขียนโปรแกรมด้วยกัน
MIT Media Lab ทำงานข้ามสาขา มีศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักออกแบบ นักพัฒนา นักธุรกิจ คนหลากหลายสาขาทำงานด้วยกัน เพราะเชื่อว่าโจทย์ใหญ่ ๆ ไม่ได้มาจากการสร้างการแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดียว แต่มาจากหลาย ๆ องค์ความรู้ที่มาทำงานด้วยกัน ทำให้ MIT Media Lab Southeast Asia Forum เป็นฟอรัมที่มีหัวข้อที่หลากลหลายมาก ตั้งแต่การพูดถึงอวกาศ มาถึงศักยภาพของมนุษย์ และสังคมความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผลลัพธ์น่าตื่นเต้นมาก หลังจากนี้คนไทยจะมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ
โครงการที่ MIT Media Lab มาเล่าให้ฟังในฟอรัม อาทิ การแปลงแบคทีเรียในลำไส้ออกมาเป็นดนตรีได้อย่างไร นำเส้นใยมาใส่เซนเซอร์ ทำให้ผืนผ้าธรรมดากลายเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
"เด็ก ๆ หลายคนเดินมาหาและบอกว่า เขาไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเขาสามารถที่จะชอบศิลปะและวิทยาศาสตร์ได้พร้อม ๆ กัน ไม่เคยคิดมาก่อนว่าการเป็นนักวิทยาศาสตร์จะเท่ขนาดนี้ เป็นความตื่นเต้นมากที่เวที MIT Media Lab Southeast Asia Forum สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนเกิดความประทับใจในการคิดแบบรวมศาสตร์ของ MIT Media Lab ซึ่งเป็นเมจิกของ MIT Media Lab” พัทน์ กล่าว
พัทน์กล่าวว่า ตอนที่มีความคิดอยากนำ MIT Media Lab มาไทย ไม่แน่ใจว่าคนไทยพร้อมแค่ไหน แต่ผลตอบรับดีเกินคาด คนเต็มห้องสัมมนา 800 คน ตลอดทั้งสองวัน ขณะที่หัวข้อเรื่องซับซ้อนมาก อาทิ อวกาศ​ Augmented และเซนเซอร์ที่ฝังในสมอง เป็นต้น สะท้อนว่าคนไทยตื่นเต้นมากที่จะค้นหาและสำรวจพรมแดนใหม่ ๆ คนที่มาฟังมีตั้งแต่เด็ก ๆ ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงจากหลายหน่วยงาน รวมถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และได้รับแรงบันดาลใจกลับไป
“การมาร่วมฟัง MIT Media Lab Southeast Asia Forum คือ “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” – Nothing is Impossible – เมื่อคิดแบบนี้ได้ จะทำให้สามารถไปทำให้โจทย์ที่ท้าทายให้เป็นไปได้ นี่คือ Magic ของ MIT Media Lab ที่ถ่ายทอดออกมาก” พัทน์ กล่าว
สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของ MIT Media Lab คือ 4Ps of Creative Learning คือ Passion, Project, Play และ Peer คนที่ตื่นเต้นกับสิ่งนั้นจะสามารถทำโปรเจคต์ออกมาได้ดี โปรเจคต์ที่ดีต้องอยู่ในบริบทที่ขี้เล่น ทำผิดแล้วไม่เป็นไร เรียนรู้กันใหม่ได้ ทำให้เกิดโปรเจคต์ที่ส่งเสริมกันได้ และทำกันเป็นกลุ่ม จะยิ่งยกกำลังไปได้มาก KBTG หวังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ น้อง ๆ เด็กรุ่นใหม่ที่มาฟัง MIT Media Lab Southeast Asia Forum จะได้ซึมซับวัฒนธรรมเหล่านี้
“แค่ 2 วันเขาได้ฟังเรื่องราวแห่งโลกอนาคตทั้งหมด เด็ก ๆ ไม่กลัวที่จะเข้าไปพูดคุยกับ Professor จะเป็นการจุดประกาย ซึ่งปีหน้าจะยกระดับและสร้างแรงกระเพื่อมให้มากกว่านี้ เป็นความฝันของ KBTG ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเข้าไปอยู่ในพัฒนาการของโลก” กระทิง กล่าว
Future You … งานวิจัยด้าน AI
Future You เป็นการทดลองเพื่อเพิ่มศักยภาพของคนในการคิดระยะยาวได้มากขึ้น เริ่มจากการออกแบบการทดลองด้วยการทำการศึกษาผู้ใช้งาน เป็นการทดลองเพื่อศึกษาผลกระทบต่อผู้คน ด้วยการสุ่มอาสาสมัครที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ให้ผ่านการพูดคุยกับ Future You ซึ่งเป็นการนำ AI มาสร้าง Self-reflection จากข้อมูลปัจจุบันเพื่อบอกความเป็นไปได้ในอนาคตของเขาผ่านตัวเขาเองในอนาคต ในขณะที่อีกกลุ่มไม่ผ่านการแทรกแซง แล้ววัดผลลัพธ์ด้วยตัวชี้วัดทางจิตวิทยาต่าง ๆ ดูผลลัพธ์ว่าส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานอย่างไรบ้าง
งานวิจัยนี้โฟกัสที่กลุ่มคนอายุ 18-24 ปี โดยติดตามการคำนึงถึงผลลัพธ์ในระยะยาวของการกระทำของตัวเองที่เพิ่มมากขึ้น
ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์ Principal Research Engineer, KBTG Labs กล่าวว่า การคิดระยะยาวมีประโยชน์มากกว่าการคิดในระยะสั้น ผลตอบแทนจะมากกว่าการคิดระยะสั้น การคิดระยะยาว คือ ธรรมชาติของการคิดงานวิจัยแบบ Moonshot ของ MIT Media Lab เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ในอนาคตของการกระทำในวันนี้ การที่จะกระตุ้นคนเป็นเรื่องที่ยากมาก สิ่งที่ทรงพลังมากคือการทำให้คนเห็นสิ่งที่เขาเป็นอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่จะเขาตั้งใจจะเป็นในอนาคต และความเชื่อมโยง ยิ่งเห็นชัดมากเท่าใด จะยิ่งมีแรงกระตุ้นในการเปลี่ยนนิสัยมากขึ้น
ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์
สิ่งที่ MIT Media Lab คิดถึงนั้น ไม่ใช่การนำ AI มาให้ข้อมูลแก่มนุษย์ แต่เป็นการนำมาเพิ่มศักยภาพให้มนุษย์ (Augmented Intelligence) โปรเจคต์นี้เป็นการช่วยให้คนมีศักยภาพในการมองเห็นตัวเองในระยะยาวได้ด้วยการสร้างภาพจำลองสร้างตัวตนของเขาในอนาคตขึ้นมา
ที่ผ่านมาได้มีการทดลองกับกลุ่มทดลองเริ่มแรกจำนวน 200 คน แล้วพบว่า กลุ่มที่คุยกับ AI ตัวเองในอนาคต มีความรู้สึกเชิงบวกมากขึ้นกับอนาคตของตัวเอง มีความเครียดน้อยลง รู้สึกว่าตนเองสามารถทำให้อนาคตที่เห็นเป็นไปได้จริงมากขึ้น
“นี่คือตัวอย่างของการใช้ AI ไม่ใช่แค่มาให้ข้อมูล แต่มาเพิ่มศักยภาพในการมองระยะยาว ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งการคุยกับตัวตน AI ในอนาคตในเรื่องอื่น ๆ อาทิ การวางแผนเส้นทางอาชีพ เป็นการทดลองที่ MIT Media Lab ทำร่วมกับ KBTG เพื่อให้เด็กไทยเข้าพึงความสามารถในการมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ในอนาคตของตัวเอง”​พัทน์ กล่าว
การอยู่ที่ MIT Media Lab เหมือนอยู่ในโลกอนาคตจริง ๆ ห้องทดลองล้อมรอบด้วยผนังกระจกทุกคนในทุกทีมจะมองเห็นกันหมดว่าใครกำลังทำงานวิจัยอะไร ทำให้เกิดแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน และเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
ที่ MIT Media Lab ทำงานวิจัยตั้งแต่ เทคโนโลยีอวกาศ สุขภาพ สังคม เป็นต้น ห้องทดลองที่ MIT Media Lab ไม่ได้ผลิตเทคโนโลยี แต่ผลิต “สื่อ” หรือตัวกลางที่เชื่อมมนุษย์เข้ากับมนุษย์ เชื่อมนุษย์เข้ากับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และเชื่อมมนุษย์เข้ากับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ AI, Bio-technology หรือ social platform เป็นต้น MIT Media Lab จึงเป็นห้องทดลองที่จ้องมองไปข้างหน้าในอนาคตตลอดเวลา
“การทำงานร่วมกับ KBTG ไม่รู้สึกเหมือนกับว่ากำลังทำงานอยู่กับบริษัทคนไทย แต่กำลังทำงานอยู่กับส่วนงานหนึ่งของ MIT Media Lab ทำงานเป็นทีมเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สนุกและตื่นเต้นมาก ช่วงทำโปรเจคต์ ​Future You เราประชุมทุกสองวัน ไม่ใช่เพราะต้องรีบให้ผลงานออกมา แต่เพราะตื่นเต้นมากที่จะเห็นผลงานออกมาเป็นผลสัมฤทธิ์”
กระทิง กล่าวว่า Human-AI Symbiotic คือ แนวคิดของ MIT Media Lab ที่ทำให้มนุษย์กับ AI อยู่ร่วมกัน ช่วยให้มนุษย์มีความสามารถมากขึ้น ทำให้สังคมมนุษย์ก้าวหน้า ตรงกับธีมของ KBTG ที่จะสร้างเทคโนโลยีที่จะเสริมพลังของชีวิตมนุษย์และสร้างผลกระทบต่อสังคม
ที่ KBTG มีการขยายขีดความสามารถของมนุษย์ ขยายความเป็นไปได้ในการเพิ่มความสามารถของมนุษย์ อาทิ Thai NLP ไม่ได้มาแทนเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ จำนวนคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้ลดลง แต่มาช่วยให้คอลเซ็นเตอร์ทำงานได้ดีขึ้นมากขึ้น ประหยัดเวลาลูกค้าไป 300,000 ชั่วโมง หรือ 35 ปี ในเวลาเพียง 1 ปี งานหลายอย่าง AI สามารถมาช่วยมนุษย์ได้
ซึ่ง AI อยู่ในช่วงเติบโตสูง เนื่องจากเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดและเกิดการเติบโตของข้อมูลอย่างก้าวกระโดด ซึ่ง KBTG มีการทำวิจัยด้าน AI มาโดยตลอด อาทิ NLP (Natural Language Processing) ที่นำมาใช้ในคอลเซ็นเตอร์ และ Face Recognition เป็นต้น
KBTG ต้องการทำงานร่วมกับ MIT Media Lab เพื่อนำ AI มาใช้ในธุรกิจการเงิน รวมไปถึงการสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะโปรเจคต์ Future You ที่เปลี่ยนชีวิตด้วยวิธีคิดแบบระยะยาว ซึ่งปีหน้า KBTG จะมีงานวิจัยที่ทำร่วมกับ MIT Media Lab อีกมากไม่เฉพาะด้านการเงิน อาทิ ด้านความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล
ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director, KBTG Labs กล่าวว่า แผนต่อยอดในอนาคต คือ การเปลี่ยนงานวิจัยให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงได้ งานวิจัยที่ทำร่วมกันจะนำมาประยุกต์กับคนไทย อาทิ การนำงานวิจัย Future You ทำออกมาเป็นสินค้าและบริการ และการบุกเบิกการทำวิจัยในหัวข้ออื่น ๆ ร่วมกัน
นอกจาก AI แล้วมีอีกหลายเทคโนโลยีที่สามารถนำมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยได้ อาทิ ด้าน wellness, sustainability, blockchain เป็นต้น มีอีกหลายงานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกันเพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับให้กับประเทศไทย
KBTG มีแผนจะทำความร่วมมือหลากหลายอุตสาหกรรมเพื่อการเปลี่ยนงานวิจัยจาก MIT Media Lab ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับคนไทย ไม่ใช่เฉพาะผลิตภัณฑ์ของ KBank และ KBTG เท่านั้น
และในระยะยาวจะสร้างระบบนิเวศขึ้นมาเพื่อต่อเชื่อมองค์กรไทยกับ MIT Media Lab เพื่อสร้างวัฒนธรรมของการวิจัยเทคโนโลยีระดับต้นน้ำ และจะสร้างนวัตกรรมที่ต่อยอดจากงานวิจัยของ MIT Media Lab ทำให้การขยายผลความร่วมมือระหว่าง KBTG กับ MIT Media Lab สามารถเข้าไปตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้กับองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
สร้างโมเมนต์เปลี่ยนชีวิตและเปลี่ยนประเทศ
MIT Media Lab จัดฟอรัมต่าง ๆ ทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชียก็มักจะเป็นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ไม่เคยจัดที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน Professor Pattie อาจารย์ที่ปรึกษาของพัทน์ ยินดีอย่างมากที่จะให้การสนับสนุนพัทน์ในการจัด MIT Media Lab Southeast Asia Forum ที่ประเทศไทย
ทีมนักวิจัยที่ MIT Media Lab ตื่นเต้นที่เห็นนักเรียนไทยไปเรียนที่นั่น เพราะพัทน์ เป็นนักศึกษาไทยคนแรกในรอบ 20 ปีของ MIT Media Lab ความสามารถของพัทน์ทำให้ทีมนักวิจัยที่ MIT Media Lab อยากรู้ว่าประเทศแบบไหนที่สร้างคนแบบนี้ขึ้นมา และยินดีมากที่จะมานำเสนองานวิจัยให้คนไทยในงาน MIT Media Lab Southeast Asia Forum
วันนี้ KBTG และ MIT Media Lab ได้สร้างผลกระทบที่ผ่านงาน MIT Media Lab Southeast Asia Forum อย่างมาก งานนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจ ได้ปลูกฝังหน่อแห่งความตื่นเต้นในการค้นหาและเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ได้กระตุ้นเร้าเด็กไทยให้ได้ตระหนักรู้ว่าเขาสามารถโตมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นนักสร้างสรรค์ได้ ซึ่งไม่เฉพาะเด็กเท่านั้นที่ถูกปลุกกระตุ้น แต่ผู้บริหารระดับสูงของหลายองค์กรที่เข้าร่วมฟังในงานนี้ต่างถูกปลุกจิตวิญญาณของนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีของเขาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดการสนับสนุนในอีกหลายเรื่อง
กระทิง เสริมว่า MIT Media Lab Southeast Asia Forum เป็นการปลุกและใส่พลังงานใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทย เป็นการปักธงว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพที่จะยืนอยู่แถวหน้าในงานวิจัยแห่งอนาคตร่วมกับหน่วยงานวิจัยเบอร์ต้นของโลกอย่าง MIT Media Lab เป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดงานฟอรัมของ MIT Media Lab เป็นความภาคภูมิใจ และที่เหนือกว่านั้นคือผลสัมฤทธิ์ที่สร้างขึ้นจากงานนี้
“คนเรามีวินาทีที่เปลี่ยนชีวิตเพียงไม่กี่ครั้ง เชื่อแน่ว่างาน MIT Media Lab Southeast Asia Forum จะเป็นหนึ่งในโมเมนต์ที่จะเปลี่ยนชีวิตของน้อง ๆ หลายคนที่มา ใครจะไปรู้ว่าน้อง ๆ เหล่านี้ในอนาคตจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ MIT Media Lab คนต่อไป เรายินดีและเป็นเกียรติมากที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ นำนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกมาให้คนไทยได้สัมผัสใกล้ชิดและสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกไฟในการเรียนรู้และลงทุนด้านวิทยาศษสตร์และเทคโนโลยี” กระทิง กล่าว
งาน MIT Media Lab Southeast Asia Forum เป็นตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือที่สวยงามขององค์กรธุรกิจไทยที่เห็นพ้องตรงกันว่าประเทศไทยต้องการงานวิจัยระดับต้นน้ำ และมีความร่วมมือกันในการสร้างระบบนิเวศและวัฒนธรรมของการทำวิจัยเชิงลึก วิจัยแห่งอนาคต วิจัยต้นน้ำ ที่ต้องใช้จินตนาการและความทุ่มเท รวมถึงทรัพยากรบุคคล เงิน และเวลา ซึ่งมีหลายงานวิจัยที่มีแนวโน้มที่เหมาะสมจะขยายผลมาเป็นงานวิจัยเพื่อเปลี่ยนประเทศไทย ซึ่งลำพัง KBTG องค์กรเดียวไม่สามารถสร้างผลกระทบได้มากเท่ากับหลายองค์กรมาร่วมมือกัน
"สิ่งที่อยากทำในปีหน้าคือสร้างความร่วมมือและทำงานร่วมกันในแต่ละเรื่องงานวิจัย โฟกัสว่าประเทศไทยจะทำงานวิจัยเต้นน้ำเพื่อสร้าง local developed solution อาทิ ระบบการกระจายพลังงาน การสร้างระบบจัดเก็บพลังงาน รวมถึงงานวิจัยด้านอาหาร และการสร้าง soft power ให้ประเทศไทย เป็นต้น
MIT Media Lab Southeast Asia Forum เป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างให้เกิดฟอรัมลักษณะแบบนี้บ่อย ๆ ในประเทศไทย โดยเอาโจทย์เป็นตัวตั้ง นำวิธีคิดแบบ moonshot ของ MIT Media Lab มาใช้ เชื่อมต่อไปที่หน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภาคเอกชนต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการเปลี่ยนประเทศไทย" กระทิง กล่าว
MIT Media Lab เอากรอบมาวางให้เห็น หน้าที่ของประเทศไทยคือสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อผลักดันโจทย์ต่าง ๆ ร่วมกันให้ชัด โจทย์ที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน ระบุอุตสาหกรรมที่จะสร้างให้เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศร่วมกันแล้วผนึกพลังกันโฟกัสตรงนั้น
ความท้าทายใหญ่ คือ องค์กรธุรกิจในไทยมักมองการวิจัยเทคโนโลยีเป็นเรื่องไกลตัว และมักมองระยะสั้นเพียง 1-3 ปี มองแค่เทคโนโลยีที่ให้ผลลัพธ์ทางธุรกิจ ในขณะที่ต่างประเทศองค์ธุรกิจมองระยะยาว 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี พวกเขาให้ความสำคัญกับการวิจัย มองภาพใหญ่และมองการณ์ไกล เป็นเรื่องดีที่หลายองค์กรในประเทศไทยกำลังไปในทิศทางนี้
โฆษณา