Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กระทรวงการต่างประเทศ
•
ติดตาม
12 ม.ค. 2023 เวลา 00:57 • สิ่งแวดล้อม
การนำโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในเดนมาร์ก ตอนที่ ๑
ช่วงการประชุมเอเปค ๒๐๒๒ ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในปีที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นที่ไทยผลักดัน ก็คือ BCG Model ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในวันนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับหนึ่งในส่วนสำคัญของ BCG Model อย่าง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ให้ดียิ่งขึ้น ผ่านตัวอย่างการนำโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Economy Circular Solutions) ไปใช้ในเดนมาร์ก ประเทศในทวีปยุโรปที่มีประชากรกว่าห้าล้านคน
ในวันนี้ เราได้หยิบยก ๕ ตัวอย่างที่แสดงให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ดี ช่วยทำให้เข้าถึงตลาดใหม่ขับเคลื่อนโซลูชั่นด้านนวัตกรรม และประหยัดต้นทุนการผลิต แต่จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูพร้อมกันเลยครับ
ที่มา: State of Green
๑. อุตสาหกรรมที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน (Industrial Symbiosis)
“อุตสาหกรรมที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน” หรือ “Industrial Symbiosis” ในเดนมาร์กถือเป็นต้นแบบที่เก่าแก่ที่สุดสำหรับการเติบโตในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและถือเป็นวิธีการใช้วัสดุที่หายากอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้ ท่าเรืออัลบอร์ก (Aalborg) มหาวิทยาลัยอัลบอร์ก และกลุ่มพลังงาน House of Energy จึงร่วมมือกันพัฒนาโครงการ “Sustainable Synergies” ส่งผลให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุนในการผลิตได้ ในปัจจุบัน มีบริษัทจำนวนกว่า ๒๕ แห่ง ได้แลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่เหลือใช้ซึ่งกันและกัน เช่น น้ำ พลังงาน และวัตถุดิบอื่น ๆ
โครงการ “Sustainable Synergies” มีส่วนช่วยทำให้เกิดผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกหลายประการ อาทิ การลดการใช้พลังงานลงประมาณ ๑๑,๐๐๐ จิกะจูล การใช้วัตถุดิบลดลงประมาณ ๒,๖๐๐ ตัน ส่งผลให้แต่ละบริษัทสามารถประหยัดพลังงานได้ถึง ๒๖๔ เมกะวัตต์ชั่วโมง หรือเท่ากับการใช้พลังงานของ ๘ ครัวเรือน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงประมาณ ๑๐,๐๐๐ ตันต่อปี
ที่มา: State of Green
๒. ระบบการรีไซเคิลกระป๋องและขวดเครื่องดื่ม
ย้อนกลับไปปี ๒๕๖๔ เดนมาร์กมีอัตราการส่งคืนบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งประมาณร้อยละ ๙๓ และมีการรีไซเคิลกระป๋องและขวดจำนวนกว่า ๑.๙ พันล้านชิ้นให้นำกลับมาใช้ใหม่ จากการที่เดนมาร์กได้กำหนดให้มีระบบการจ่ายเงินมัดจำค่าขวดและกระป๋อง ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำกระป๋องและขวดที่จ่ายเงินมัดจำไปคืนที่ตู้รับคืนบรรจุภัณฑ์ขององค์กรชื่อว่า “Dansk Retursystem” ที่ตั้งอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายของชำ
ทั่วประเทศ
ระบบดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ทำให้การผลิตกระป๋องจากวัสดุรีไซเคิลใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตกระป๋องจากวัสดุบริสุทธิ์ (virgin materials) ถึงร้อยละ ๙๕ และลดการใช้แร่บ็อกไซต์ (bauxite) ในการผลิตอะลูมิเนียมอีกด้วย
๓. โครงการเคหะของรัฐแห่งแรกของเดนมาร์กที่สร้างขึ้นตามหลัก Circular Economy
อุตสาหกรรมก่อสร้างมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นร้อยละ ๓๙ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีหนึ่งในวิธีการคือ การรีไซเคิลโดยนำวัสดุก่อสร้างกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการเพิ่มอายุการใช้งานและนำวัสดุกลับมาใช้ใหมให้ได้มากที่สุด
หนึ่งในตัวอย่างสำคัญ ได้แก่ โครงการ “The Circle House” ที่ออกแบบโดยบริษัท 3XN Architects ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองออร์ฮูส (Aarhus) คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๖ โดยบริษัทฯ ได้ออกแบบพิมพ์เขียวสำหรับการก่อสร้างอาคารหมุนเวียน (circular construction) ซึ่งร้อยละ ๙๐ ของวัสดุก่อสร้างสามารถรื้อถอนและนำกลับมาใช้ใหม่หรือขายต่อได้โดยไม่เสียมูลค่า
โครงการดังกล่าวนอกจากจะใช้คอนกรีตและซีเมนต์เป็นวัสดุก่อสร้างหลักแล้ว ยังมีการเลือกใช้วัสดุทางเลือกอื่น ๆ เพื่อทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกซ์ไชด์ให้เหลือน้อยที่สุด เช่น การนำไม้ก๊อกและหนังสือพิมพ์เก่ามาใช้ก่อสร้างบริเวณเปลือกอาคาร การนำหญ้าทะเลและเมล็ดข้าว Granules มาใช้เป็นฉนวนความร้อน รวมถึงการนำยางรถยนต์เก่ามาใช้เป็นแผ่นรองพื้นห้อง เป็นต้น
เมื่อโครงการดังกล่าวสร้างแล้วเสร็จจะกลายเป็นโครงการแห่งแรกของโลกที่สร้างขึ้นตามหลักของ Circular Economy และคาดว่าจะทำให้เดนมาร์กมีศักยภาพทางเศรษฐกิจในการดำเนินเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้างประมาณ ๗.๗๕ พันล้านยูโร/ปี (ประมาณ ๒๘๖.๗๕ พันล้านบาท) ไปจนถึงปี ๒๕๗๘
ที่มา: State of Green
๔. การรีไซเคิลหญ้าเทียม
สำหรับหญ้าเทียม เดนมาร์กมีรีไซเคิลโดยการคัดแยกหญ้าเทียมที่เสื่อมสภาพออก และนำกลับมาใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมหญ้าเทียมหรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยบริษัท Re-Match เป็นเจ้าแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว
ดังนั้น สนามหญ้าเทียมที่รีไซเคิลโดยบริษัท Re-Match จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ประมาณ ๔๐๐ ตัน หรือเทียบเท่ากับการเผาขยะ ๒๕๐ ตัน หรือการเผาถุงพลาสติก ๑.๔ ล้านใบ นอกจากนี้ กระบวนการที่ใช้ในการแยกหญ้าเทียมที่เสื่อมสภาพออกจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยกว่า ๒๐ ตัน ต่อสนาม
๕. การนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่
ด้วยเหตุที่ผู้บริโภคในปัจจุบันมองหาวิธีการลดการใช้บรรจุภัณฑ์และของเหลือทิ้ง จึงทำให้เกิดความต้องการเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่า ดังนั้น บริษัท Plus Pack ในเดนมาร์กจึงได้ร่วมมือกับบริษัท Circqle พัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ ๖๐ เมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
ทั้งหมดที่ได้กล่าวไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการนำโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในเดนมาร์กเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายตัวอย่างที่รอให้ทุกท่านได้ติดตามและทำความรู้จัก ในตอนต่อไปเราจะมาดูกันว่าประเทศเดนมาร์กมีวิธีการใดในการปรับใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกบ้าง รอติดตามกันนะครับ
โดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียงโดย นายสิรภพ เดชะบุญ
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
เดนมาร์ก
1 บันทึก
1
5
1
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย