13 ม.ค. 2023 เวลา 01:41 • สิ่งแวดล้อม

การนำโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในเดนมาร์ก ตอนที่ ๒

ในตอนที่ ๑ เราได้รู้จักกับการนำโมเดล “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Economy Circular Solutions ไปปรับใช้ในเดนมาร์กแล้ว ๕ ตัวอย่างด้วยกัน และต่างก็มีความน่าสนใจและมีประโยชน์ในแง่ธุรกิจและความยั่งยืนทั้งสิ้น วันนี้ Blockdit กระทรวงการต่างประเทศ จะได้นำอีก ๕ ตัวอย่างให้ทุกท่านได้รู้จักกัน ซึ่งก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กันเลย หากทุกท่านพร้อมแล้ว ไปอ่านกันเลยครับ
๑. ศักยภาพในการผลิตแป้งมันฝรั่ง
กลุ่มสหกรณ์ KMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตแป้งมันฝรั่งของเดนมาร์กถือเป็นผู้บุกเบิกในด้านการเพิ่มมูลค่าให้กับ side streams โดยได้พัฒนาและปรับปรุงส่วนที่เหลือจากการผลิตแป้งมันฝรั่ง โดยเมื่อปี ๒๕๔๘ กลุ่มสหกรณ์ KMC ได้เปลี่ยนเส้นใยมันฝรั่ง (potato fiber) เหลือใช้เป็นสารเติมแต่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนที่มีคุณค่าสำหรับภาคอุตสาหกรรมอาหาร โดยการคัดแยกและปรับแต่ง side streams จากการผลิตแป้งมันฝรั่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่ง
ที่มา: State of Green
ในขณะเดียวกันการใช้เส้นใยมันฝรั่งจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารสามารถเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๒. การนำอิฐเก่ากลับมาใช้ใหม่เพื่ออนาคตสีเขียว
บริษัท Gamle Mursten ของเดนมาร์กได้คิดค้นผลิตเทคโนโลยีทำความสะอาดที่จดสิทธิบัตรแล้วในการนำขยะจากการก่อสร้างนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการรวบรวมอิฐเก่านำมาทำความสะอาดด้วยเทคโนโลยีการสั่นสะเทือน และตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะถูกนำมาวางซ้อนเรียงกันบนแท่นไม้พาเลทโดยหุ่นยนต์ เพื่อจัดส่งไปยังไซต์งานก่อสร้างแห่งใหม่ ซึ่งจะประหยัดพลังงานมากกว่าร้อยละ ๙๕ ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตอิฐใหม่
วิธีการดังกล่าวนับเป็นตัวอย่างของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์แบบที่ส่งต่อทรัพยากรจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นใหม่ ซึ่งอิฐที่นำมาผ่านเทคโนโลยีดังกล่าวจำนวน ๒,๐๐๐ ก้อน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง ๑ ตัน
๓. ฉนวนความร้อน
เดนมาร์กมีการนำเครื่องเคลือบดินเผาและสุขภัณฑ์ที่ใช้แล้ว มารีไซเคิลเป็นฉนวนความร้อนใหม่เนื่องจากขยะของเสียในเดนมาร์กมากกว่าร้อยละ ๓๐ มาจากสิ่งก่อสร้าง ดังนั้น การนำวัสดุที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาเข้าสู่วงจรการใช้อีกครั้ง (upcycling) จึงเป็นเทรนด์ใหม่ที่ผู้คนให้ความสำคัญมากขึ้น
บริษัท RGS90 บริษัท ROCKWOOL และบริษัท Combineering A/s ของเดนมาร์ก จึงได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการนำขยะจากการก่อสร้างจากศูนย์รีไซเคิลของเดนมาร์ก ส่งไปยังบริษัท RGS90 ที่เชี่ยวชาญในการคัดแยก กำจัดและรีไซเคิลขยะ
โดยจะคัดแยกฉนวนความร้อน ROCKWOOL และแผ่นซับเสียง ROCKFON ออกจากฉนวนความร้อนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ก่อนจะนำไปอัดใหม่ ขณะที่เครื่องเคลือบดินเผาและสุขภัณฑ์จะถูกนำไปบดก่อนที่จะส่งไปยังโรงงานผลิตของบริษัท ROCKWOOL เพื่อใช้ในการผลิตฉนวนความร้อนใหม่ที่สามารถรีไซเคิลได้
ที่มา: Landager Group
๔. The Swan ศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่สร้างขึ้นตามหลัก Circular Economy
The Swan เป็นศูนย์รับเลี้ยงเด็กในเขตเทศบาลเมือง Gladsaxe กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก นับเป็นอาคารหลังแรกที่สร้างขึ้นตามหลัก Circular Economy โดยมีบริษัท Landager Group เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว และได้รับรางวัล Nordic Swan EcoLabel ซึ่งรางวัลดังกล่าวจะมอบให้กับอาคารที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ได้แก่ การใช้พลังงานต่ำ สภาพแวดล้อมในร่มดี และมีข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับการใช้สารเคมีและไม้ที่ยั่งยืน เป็นต้น
๕. การเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตข้างเคียง (side streams)
ที่มา: เว็บไซต์ Danish Crown
ในเดนมาร์ก การผลิตและความเป็นไปได้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตข้างเคียง (side streams) ปรากฏให้เห็นทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ฟาร์มไปจนถึงโต๊ะอาหาร ซึ่งบริษัท Danish Crown หนึ่งในผู้ผลิตเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดในโลกมุ่งเน้นการผลิตเนื้อสัตว์ รวมถึงการผลิตและการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น พลังงานยั่งยืนเชื้อเพลิง อาหารสัตว์ สารอาหาร และปัจจัยการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมเภสัชกรรม
โดยทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเป็น DNA หลักของบริษัทฯ ตลอดจนมีการลงทุนในห่วงโซ่คุณค่าที่เชื่อมโยงระหว่างกัน เช่น การเพาะพันธุ์สัตว์ การสร้างคอกที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพของอาหารสัตว์การรีไซเคิลสารอาหาร และการปรับปรุงประสิทธิภาพน้ำและพลังงาน การขนส่ง และการใช้ประโยชน์จาก side streams เป็นต้น
ตัวอย่างการปรับใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งสิบที่ได้กล่าวไป เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการนำโมเดลมาใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจและความยั่งยืนในประเทศเดนมาร์กเท่านั้น แต่ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยของเราก็มีการนำโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้และโมเดล BCG มาใช้อย่างแพร่หลาย ดังนั้นเรามาร่วมติดตามและช่วยกันผลักดันโมเดลเศรษฐกิจเหล่านี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันกันนะครับ
โดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน
เรียบเรียงโดย นายสิรภพ เดชะบุญ
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา