9 ม.ค. 2023 เวลา 09:47 • ข่าว

กรมศุลกากร ยึดใบคัต สารตั้งต้นผลิตยาเสพติก หนัก 5,600 กก. มูลค่า 60 ล้านบาท

วันนี้ เวลา 14.00 น. กรมศุลกากรแถลงข่าวจับกุมใบคัตอบแห้ง (Khat) หรือใบแกต ได้ที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยทางสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกันตรวจสอบตู้สินค้านำเข้า ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี พบใบขนสินค้าเข้าสำแดง รายการที่ 1 ผงใบมะรุม ประเทศกำเนิดเคนย่า น้ำหนัก 5,600 กิโลกรัม ในฐานะพรรณไม้และส่วนผสมของพรรณไม้ (รวมถึงเมล็ดและผล) อื่นๆ ตัด บดและทำเป็นผง
เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจสอบสินค้าพบลักษณะทางกายภาพเป็นใบพืชแห้งแยกบรรจุในถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติกสีน้ำเงินและพลาสติกใส เขียนระบุ Moringa Dry Tea Leaf และฉลากมุมขวาล่างด้านหลัง เขียนระบุ Product of Thailand ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าสินค้าผลิตในประเทศไทย
เมื่อตรวจสอบเอกสารใบรับรอง Phytosanitary Certificate ที่ผู้นำเข้ามาแสดงขณะนำเข้า ระบุชื่อพืชพฤกษศาสตร์ “CATHA EDULIS” ซึ่งไม่ตรงกับสินค้าที่นำเข้า จึงนำตัวอย่างสินค้าส่งสถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
และเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้รับรายงานผลวิเคราะห์จาก ป.ป.ส. ตรวจพบเป็นใบพืช Khat” เป็นพืชที่ประกอบด้วยสารคาทิโนนและสารคาทีน จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 และประเภท 2 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 (มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท)
ผลกระทบต่อสุขภาพ คัตทำให้เสพติดอยู่ในอันดับที่ 17 และเป็นอีนตรายต่อร่างกายในอันดับที่ 20 สามารถชักนำทำให้เกิดพฤติกรรมคลั่งไคล้เช่นเดียวกับแอมเฟตามีน ทำให้ท้องผูก เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือด หากใช้ในระยะยาวส่งผลทำให้เกิดภาวัซึมเศร้า เกิดภาพหลอนเป็นครั้งคราว เพิ่มความเสี่ยงหัวใจวาย และทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าว เป็นกรณีความผิดฐานพยายามนำเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ตามมาตรา 149 (1) (2) แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. 2565 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พ.ศ. 2565
กรณีเป็นความผิดฐานนำของหัตถกรรมใด ๆ ที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 5 ประกอบ มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พุทธศักราช 2481
และเป็นความผิดฐานนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามมาตรา 202 และมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 166 และ 167 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และยึดของกลางเพื่อสืบสวนขยายผลต่อไป
โฆษณา