Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE MODERNIST
•
ติดตาม
10 ม.ค. 2023 เวลา 09:24 • ข่าว
Opinion Leader: เปิดหลากมุมมองต่อกรณี “กระทรวงสาธารณสุขสั่งห้ามหน่วยบริการอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลจ่าย PrEP/PEP”
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ได้ประกาศบน Facebook ขององค์กรในกรณีที่กรมสนับสนุนการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกหนังสือเลขที่ สธ0702.04/3033 เรื่อง แนวทางการจัดบริการเพร๊พ (PrEP) ในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ที่กำหนดให้งบประมาณ “การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี” ครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วันนี้ The Modernist ขอพามาฟังเสียงที่หลากหลายจากผู้คนบนโลกออนไลน์และออฟไลน์กัน
ประกาศนี้ส่งผลอย่างไรต่อองค์กรชุมชน?
มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ กล่าวว่า การที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข และประกาศของ สปสช. ถูกประกาศออกมาและมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นั่นส่งผลกระทบทำให้องค์กรชุมชนที่ทำงานไปก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในสิทธิ์ที่นอกเหนือจากบัตรทอง และยังส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการจำนวนมากที่มาใช้บริการที่มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ และองค์กรชุมชนอื่นๆ ในเรื่องสิทธิการเข้าถึง
แล้วส่งผลต่อประชาชนเท่าไหร่บ้าง?
มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการยังได้เปิดเผยตัวเลขของผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ได้จากประกาศนี้ว่า จะทำให้ประชาชนที่มีสิทธิ์การรักษาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากสิทธิ์ สปสช. เข้าไม่ถึงบริการนี้จำนวน 402,191 คน หรือเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 30 ของผู้รับบริการทั้งหมดในประเทศไทย นั่นรวมทั้งหมดตั้งแต่การตรวจเอชไอวีโดยสมัครใจ การรับถุงยางอนามัย ตลอดจนการป้องกันเอชไอวีแบบครบวงจรอีกด้วย
และจะมีจำนวน 8,631 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของผู้รับบริการทั้งหมดในประเทศไทยที่ไม่สามารถรับยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสอีกด้วย
เขาเรียกร้องอะไรบ้าง?
มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ในฐานะตัวแทนขององค์กรชุมชน เรียกร้องทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่ สปสช. ต้องทบทวนและแก้ไขประกาศหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุน สปสช. ในปี 2566 ให้สามารถจัดให้บริการด้านเอชไอวีครอบคลุมประชาชนทุกคนในผืนแผ่นดินไทย, กระทรวงสาธารณสุขต้องทบทวนแก้ไขประกาศแนวทางการจัดบริการ PrEP โดยเปิดให้องค์กรประชาสังคมสามารถจัดบริการเทียบเท่ากับสถานพยาบาลได้ และดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนและหน่วยงานในพื้นที่,
กำหนดแนวทางการจัดบริการ PrEP ให้สามารถดำเนินการด้วยระบบ Telemedicine ได้ และต้องบูรณาการ 3 กองทุน ได้แก่ สิทธิ์ สปสช. สิทธิ์ประกันสังคม และสิทธิ์ข้าราชการ รวมเป็นกองทุนเดียว เพื่อจัดบริการได้โดยไร้อุปสรรค ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาโดยด่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงสามารถบรรลุเป้าหมายยุติเอดส์ของประเทศไทยภายในปี 2573 อีกทางหนี่งด้วย
มุมมองประชาชนทั่วไปมองอย่างไรบ้าง?
ทางฝั่งประชาชนทั่วไปที่ได้ยินข่าวนี้ ต่างร่วมลงชื่อผ่าน
Change.org
มากกว่า 3,000 คน และมีผู้ที่ส่งข้อความมาที่มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการมากกว่า 7,000 คนเลยทีเดียว รวมถึงในสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมอย่าง Twitter ก็มีข้อสังเกตต่อกรณีนี้ว่า เป็นการลดการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนแบบตัดขาด
และยังมีข้อสังเกตถึงการตีความกฎหมายของ สปสช. ส่งผลทำให้ประชาชนต้องไปซื้อยาเองในกรณีไม่มีสิทธิ์ สปสช. ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป รวมถึงการตรวจเอชไอวีที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง
ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย กล่าวใน Twitter ส่วนตัวว่า “ที่ผ่านมา NGO ด้านสุขภาวะทางเพศทำงานหนักมาก เข้าหาชุมชนในหลายพื้นที่ เพื่อลด HIV แต่ สธ. ดันประกาศไม่ให้หน่วยบริการที่ไม่ใช่รพ.จ่าย PrEP และ PEP ทำให้ศูนย์สุขภาพชุมชน คลินิกประชาสังคม ยุติการจ่ายยา ประชาชนต้องไปรับยาที่ รพ.ในประกันสังคมหรือ สปสช. แทน กลายเป็นการทำร้ายประชาชนทางอ้อม”
“การประกาศของสธ. ไม่อนุญาตให้หน่วยบริการที่ไม่ใช่รพ. บริการ PrEP และ PEP เป็นการทำลายความสะดวกของประชาชนในการเข้าถึงสุขภาวะทางเพศ เพิ่มภาระงานให้บุคคลลากรทางการแพทย์ ทำลายบทบาท NGO เพียงเพราะ สธ.หวังสร้างผลงานป้องกัน HIV เท่านั้น”
สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า อยากให้ทางกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และการที่ไม่สามารถให้บริการสิทธิ์อื่นๆ นอกเหนือจาก สปสช. นั่นส่งผลทำให้เกิดปัญหาในการเข้าถึง รวมถึงการผลักให้ไปรับที่โรงพยาบาล ส่งผลทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิ์ที่ควรจะได้รับเป็นอย่างมาก ถูกเปิดเผยตัวตน และทำให้ไม่สามารถเข้ารับบริการนี้ได้ทันที ต้องรอในวันและเวลาราชการ ซึ่งทำให้โอกาสเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูงมากขึ้นอีกด้วย
สปสช. มองอย่างไรต่อกรณีนี้บ้าง?
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า แม้จะยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมายว่า สิทธิในการรักษาและรับยาเหล่านี้จะจัดให้เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้นหรือไม่ แต่ก็จะเปิดช่องให้ประชาชนยังคงใช้สิทธิได้ตามเดิม และให้หน่วยบริการอื่นๆ ยังคงสามารถเข้าถึง PrEP และ PEP ได้ตามปกติ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนออกมา
The Modernist มองอย่างไรต่อกรณีนี้?
หากจะพูดถึงกายุติปัญหาเอดส์ในปี 2573 ที่กำลังจะมาในอีก 7 ปีนี้นั้น เรามองว่าประกาศนี้เป็นปัญหาของการยุติปัญหาเอดส์เป็นอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ผู้ที่มีสิทธิ์อื่นๆ นอกเหนือจากสิทธิ์ สปสช. ไม่สามารถเข้าถึงบริการซึ่งเคยเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานได้ ตั้งแต่การตรวจเอชไอวี การรับบริการป้องกันเอชไอวี รวมถึงบริการอื่นๆ อย่างครบวงจรได้ และอาจจะส่งผลต่อการติดเชื้อเอชไอวีอีกด้วย
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ยังคงต้องจับตากันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังต้องรอความชัดเจนจากการประกาศและการตีความของกฎหมายต่อไป
เรียบเรียงโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
#TheModernistTH : Opinion for The Better
www.themodernist.in.th
Contact:
opinionmediathai@gmail.com
ข่าว
hiv
สุขภาพ
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย