15 ม.ค. 2023 เวลา 00:00 • ปรัชญา
บทความ ภาวนาเพื่อละ
จากหนังสือ ลำธารริมลานธรรม
เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล
หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก (หรือ “ท่านพ่อเฟื่อง”) เป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดของพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร ผู้ก่อตั้งวัดอโศการาม ท่านเป็นชาวจันทบุรี เมื่อบวชได้ ๒ พรรษา ก็ได้พบพระอาจารย์ลี (ซึ่งลูกศิษย์นิยมเรียกว่า “ท่านพ่อลี”)
เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงติดตามพระอาจารย์ลีออกธุดงค์ตามแนวเขตป่าจันทบุรีและตราด มีช่วงหนึ่งท่านได้แยกไปธุดงค์ทางภาคเหนือ
1
นอกจากได้พบหลวงปู่มั่นแล้ว ยังได้ไปศึกษาและปฏิบัติกับศิษย์คนสำคัญของหลวงปู่มั่นหลายท่าน อาทิ หลวงปู่สิม และหลวงปู่อ่อนสา
ช่วงที่ได้อยู่กับหลวงปู่มั่นที่อำเภอพร้าวนั้น ท่านได้เรียนรู้พระธรรมวินัยมากมาย อีกทั้งยังได้เห็นปฏิปทาของหลวงปู่มั่นและอุบายการสอนของท่านด้วย ซึ่งมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับลูกศิษย์แต่ละคน
3
อาทิเช่น หากมีพระรูปใดป่วยแล้วขอยา หลวงปู่มั่นจะตำหนิว่า “นี่เอาอะไรเป็นสรณะที่พึ่ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง หรือเอายาเป็นที่พึ่ง ถือศาสนาพุทธหรือถือศาสนายากันแน่” แต่หากพระรูปไหนป่วยแล้วไม่ยอมฉันยา ท่านก็ติเตือนอีกว่า “ยามี ทำไมไม่ยอมฉัน ทำไมทำตัวเป็นคนเลี้ยงยาก”
1
ภายหลังท่านได้กลับมาปฏิบัติอยู่กับพระอาจารย์ลี ที่วัดคลองกุ้ง จังหวัดจันทบุรี เมื่อพระอาจารย์ลีมรณภาพ ท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดมกุฏกษัตริยาราม และสอนกรรมฐานให้แก่พระเณรที่นั่น
แม้ภายหลังท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต อำเภอเมือง จังหวัดระยอง แต่ท่านก็ยังไปสอนกรรมฐานที่วัดมกุฎกษัตริยารามอยู่เป็นประจำ ต่อมาได้รับนิมนต์ไปสอนกรรมฐานในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ฮ่องกง จนไปมรณภาพที่นั่นเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๙ สิริอายุ ๗๑ ปี
หลวงพ่อเฟื่องเป็นผู้ที่พูดน้อย เว้นแต่มีเหตุที่ควรพูดยาว ท่านก็จะขยายความ ทั้งนี้เพราะท่านถือตามคติพระอาจารย์ลีว่า “ถ้าจะสอนธรรมะให้เขาฟัง แต่เขาไม่ตั้งใจฟัง หรือไม่พร้อมที่จะรับ ธรรมะที่พูดไปนั้น ถึงจะดี วิเศษวิโสแค่ไหน ก็ยังนับว่าเป็นคำเพ้อเจ้ออยู่ เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร”
1
แม้ท่านจะประหยัดคำพูด แต่ถ้อยคำของท่านก็มีความลุ่มลึก ตรงถึงใจของญาติโยม ลูกศิษย์ของท่านผู้หนึ่งเล่าถึง
ประสบการณ์ครั้งแรกที่ได้พบท่าน ท่านถามว่า “เคยทำบุญที่ไหนบ้าง” เขาตอบว่า เคยไปช่วยสร้างพระพุทธรูปที่วัดนั้น ช่วยสร้างเมรุที่วัดนี้ ช่วยทำที่นั่นที่โน่นอีกหลายแห่ง พูดจบ ท่านก็ถามต่อว่า “ทำไมไม่ทำที่ใจล่ะ”
ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งทำอย่างที่ท่านแนะนำ คือทำสมาธิ ภาวนา แต่ทำมาหลายปีก็รู้สึกว่าอยู่กับที่ จึงบ่นให้ท่านว่า ฝึกภาวนามาหลายปีแล้ว แต่ไม่เห็นได้อะไรขึ้นมาเลย ท่านตอบทันทีว่า “เขาภาวนาเพื่อให้ละ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อให้เอา”
อีกคนหนึ่งนั่งภาวนาหลังจากทำงานที่วัด รู้สึกเพลียมากแต่ก็ฝืนใจภาวนาเพราะเกรงใจท่าน นั่งไปได้ไม่นานรู้สึกว่าใจเหลืออยู่นิดเดียว กลัวใจจะขาด ท่านเดินผ่านมาพอดีจึงพูดขึ้นว่า “ตายเตยไม่ต้องกลัว คนเราก็ตายอยู่แล้วทุกลมหายใจ เข้า-ออก” ลูกศิษย์ได้ฟังก็เกิดกำลังใจที่จะนั่งต่อสู้ความเพลีย
อีกคราวหนึ่งท่านได้กล่าวเตือนสติลูกศิษย์ว่า “การภาวนาก็คือการฝึกตาย เพื่อเราจะได้ตายเป็น” ท่านยังกล่าวอีกว่า “ไม่ต้องกลัวหรอกการตาย ให้กลัวการเกิดดีกว่า”
2
กับพระภิกษุเช่นกัน หลวงพ่อพูดตรงและมีความหมายลึกซึ้ง มีพระรูปหนึ่งอยู่กับท่านมาหลายปี วันหนึ่งเข้าไปหาท่านเพื่อขอพรวันเกิด ท่านให้พรสั้น ๆ ว่า “ให้ตายเร็ว ๆ” พระรูปนั้นฟังแล้วก็ใจหาย ต่อเมื่อพิจารณาถ้อยคำดังกล่าวอยู่หลายวัน จึงเข้าใจว่าท่านไม่ได้แช่ง แต่ให้พรจริง ๆ เป็นพรที่ประเสริฐด้วย นั่นคือการตายจากกิเลส หรือมีปัญญาแจ่มแจ้งจน “ตัวกู” ดับ
“ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้ มันก็ผิด”
3
เป็นคำสอนของท่านอีกข้อหนึ่ง ที่มีความหมายลึกซึ้ง และเตือนใจให้เราตระหนักถึงโทษของความยึดมั่นถือมั่นในความคิดที่ดี หรือยึดติดในความดีของตน เพราะความจริงแล้วไม่มีอะไรที่เราสามารถยึดติดถือมั่นได้แม้แต่อย่างเดียว
ใช่แต่เท่านั้นการยึดมั่นในความดียังทำให้เกิดทุกข์และอาจนำไปสู่การกระทำที่ผิดก็ได้
อย่างไรก็ตามในเรื่องพระวินัย ท่านเห็นเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจอยู่เสมอ “อย่าเห็นว่าข้อวินัยเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเรื่องไม่สำคัญ ท่านอาจารย์มั่นเคยบอกว่า ไม้ทั้งท่อนไม่เคยเข้าตาใครหรอก แต่ขี้ผงเล็ก ๆ นั่นแหละ เข้าตาง่าย ทำให้ตาบอดได้”
1
ท่านมีความเห็นเกี่ยวกับพระวินัยที่น่าสนใจ คราวหนึ่งพระต่างชาติที่มาบวชกับท่านได้กลับไปเยี่ยมบ้าน โยมแม่เลี้ยงเป็นชาวคริสต์ เมื่อเห็นพระลูกชายก็อยากกอด
เพราะไม่ได้พบกันมานานหลายปี แต่พระลูกชายไม่ยอมให้กอด เธอจึงโกรธมาก หาว่าพุทธศาสนาสอนให้รังเกียจผู้หญิง เมื่อเรื่องนี้ถึงหูท่าน ท่านก็อธิบายว่า “ที่พระพุทธเจ้าไม่ให้พระจับต้องผู้หญิงนั้น ไม่ใช่ว่าเพราะผู้หญิงไม่ดี แต่เป็นเพราะพระไม่ดีต่างหาก เพราะพระยังมีกิเลสจึงจับต้องกันไม่ได้”
คำอธิบายตรงไปตรงมาแบบนี้น้อยคนจะได้ฟังจากปากของพระทั่วไป เหตุผลสำคัญคงเป็นเพราะไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของพระวินัยว่าเป็นเครื่องฝึกฝนตนและขัดเกลาจิตใจสำหรับบุคคลที่ยังมีกิเลส ส่วนท่านที่พ้นกิเลสแล้วยังรักษาพระวินัยก็เพื่อเป็นแบบอย่างแก่บุคคลทั้งหลายที่ยังต้องฝึกฝนตน
โฆษณา