12 ม.ค. 2023 เวลา 09:57 • สิ่งแวดล้อม
Net Zero คืออะไร? ทำไมใครๆ ก็พูดถึง?
Net Zero คืออะไร?
พูดง่ายๆ ก็คือ Net Zero หมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ใกล้เคียงกับศูนย์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยที่มลพิษที่ถูกปล่อยออกมาที่เหลือทั้งหมดจะถูกดูดซับกลับคืนจากชั้นบรรยากาศโดยมหาสมุทรและป่าไม้ เป็นต้น
เหตุใด Net Zero จึงสำคัญ?
วิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและรักษาโลกให้น่าอยู่ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นจำเป็นต้องถูกจำกัดไว้ที่ 1.5°C เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ปัจจุบัน โลกอุ่นขึ้นกว่าที่เคยเป็นในช่วงปลายทศวรรษ 1800 ประมาณ 1.1°C และการปล่อยมลพิษยังคงเพิ่มขึ้น เพื่อให้โลกร้อนไม่เกิน 1.5°C ตามที่ถูกเรียกร้องในข้อตกลงปารีส การปล่อยก๊าซจะต้องลดลง 45% ภายในปี 2030 และให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050
Net Zero จะทำให้สำเร็จได้อย่างไร?
การเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่มีการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์เป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติเคยเผชิญ มันเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ของวิธีการผลิต การบริโภค และการเคลื่อนที่ ภาคพลังงานเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณสามในสี่ส่วนในปัจจุบัน และถือเป็นกุญแจสำคัญในการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแทนที่ถ่านหิน ก๊าซ และพลังงานจากน้ำมันที่ก่อมลพิษด้วยพลังงานจากแหล่งที่สร้างทดแทนได้ เช่น ลมหรือแสงอาทิตย์ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างมาก
มีความพยายามทั่วโลกในการไปถึง Net Zero หรือไม่?
มี พันธมิตรของประเทศ เมือง ธุรกิจ และสถาบันอื่น ๆ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่างให้คำมั่นว่าจะปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์กว่า 70 ประเทศ รวมถึงผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ที่สุดอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งครอบคลุมประมาณ 76% ของการปล่อยมลพิษทั่วโลกต่างก็ได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero
ธุรกิจและสถาบันการเงินมากกว่า 3,000 แห่ง ก็กำลังทำงานร่วมกับ Science-Based Targets Initiative เพื่อลดการปล่อยมลพิษให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ และเมืองมากกว่า 1,000 เมือง สถาบันการศึกษากว่า 1,000 แห่ง และสถาบันการเงินกว่า 400 แห่ง ได้เข้าร่วม Race to Zero โดยให้คำมั่นว่าจะดำเนินการอย่างเข้มงวดและทันทีเพื่อลดการปล่อยมลพิษทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030
ตอนนี้ เราอยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 หรือไม่?
ไม่ คำมั่นสัญญาที่รัฐบาลทำไว้จนถึงปัจจุบันยังห่างไกลจากสิ่งที่จำเป็น แผนสภาพภูมิอากาศแห่งชาติในปัจจุบัน – สำหรับ 193 ภาคีในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่นำมารวมกัน – จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมากของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเกือบ 11% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับระดับปี 2010
การทำให้ไปถึงค่า Net Zero นั้นต้องการให้รัฐบาลของประเทศซึ่งเป็นผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ที่สุดทั้งหมดต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDCs) ของตนอย่างมาก และดำเนินขั้นตอนที่เข้มข้นชัดเจนในทันทีเพื่อลดการปล่อยมลพิษในปัจจุบัน
The Glasgow Climate Pact เรียกร้องให้ทุกประเทศทบทวนและเสริมความแข็งแกร่งให้กับเป้าหมายปี 2030 ใน NDCs ภายในสิ้นปี 2022 แต่มีเพียงแผนใหม่หรือแผนปรับปรุง 24 แผนล่าสุดเท่านั้นที่ส่งภายในเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา
ย้อนกลับมาดูประเทศไทยของเราบ้าง นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 และด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ไทยจะยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม บริษัทพลังงานขนาดใหญ่อย่าง ปตท. ก็มีการดำเนินการเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เช่นเดียวกันค่ะ โดยตั้งเป้าหมายให้ถึง Net Zero ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าที่ประเทศกำหนด โดยชูกลยุทธ์ 3P เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจกลุ่ม ปตท. เพื่อให้ตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจก
โดยคุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. หรือ PTT ประกาศเจตนารมณ์ กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ โดยใช้ 3 แนวทางหลัก ได้แก่
1. Pursuit of Lower Emissions การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด ผ่านโครงการสำคัญ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ในพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทย และพื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออกภายใต้ความร่วมมือ PTT Group CCS Hub Model ที่ระดมเทคโนโลยีของกลุ่ม ปตท. เพื่อบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน
การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization: CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การปรับปรุงกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน เป็นต้น
โดยวิธีการเหล่านี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
2. Portfolio Transformation การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด และการเติบใตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ซึ่งสอดคล้องตามการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยกำหนดสัดส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ที่ 32% ของงบประมาณการลงทุน การรุกปรับสัดส่วนการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึงร้อยละ 50
3. Partnership with Nature and Society การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 20% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท.
สำหรับการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด ปตท. ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเติบโตแตะ 12,000 เมกะวัตต์ในปี 2030 โดยภายในปี 2026 คาดมีกำลังการผลิตที่ 7,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ได้มีการก่อสร้างโรงงานแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และส่วนประกอบต่างๆ ในไตรมาส 4/65 ที่ผ่านมาโดยคาดจะแล้วเสร็จได้ตามแผน หรือครึ่งปีแรกของปี 2024 ด้วยกำลังการผลิตเฟสแรก 50,000 คันต่อปี และทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 150,000-200,000 คันต่อปีในปี 2030
ด้านการผลักดันการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน “ปตท. – โออาร์ – โตโยต้า – บีไอจี” ก็ได้ผนึกกำลังกันเพื่อร่วมกันเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทยที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาเพื่อทดสอบการใช้งานในประเทศไทย ให้บริการในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา - ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะทำการเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริง เพื่อสร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคตค่ะ
ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะมันใกล้ตัวเรามากๆ ค่ะ ดูจากฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนก็ได้ค่ะ ดังนั้น ทุกภาคส่วนทั้งโลกจึงต้องให้ความสำคัญ นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมใครๆ ก็พูดถึง Net Zero ค่ะ
โฆษณา