13 ม.ค. 2023 เวลา 00:59 • ท่องเที่ยว
ในฐานะนักเรียนเก่าอินเดีย การได้เดินทางมายังปากีสถานคือความฝันที่เป็นจริง
ภาพผู้เขียนกับหอคอยปากีสถาน ถ่ายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ประเทศปากีสถาน
ผมได้เดินทางไปประเทศปากีสถานเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 19-27 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เพื่อเข้าร่วมประชุมวิชาการที่กรุงอิสลามาบัดและเดินทางไปแคชเมียร์ฝั่งปากีสถานรวมถึงเมืองละฮอร์อันเก่าแก่ของประเทศ
ที่เมืองละฮอร์ผมและอาจารย์มาโนชญ์ อารีย์ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ หลายแห่งในเมืองนี้ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดบัดชาฮีอายุกว่า 350 ปี ป้อมละฮอร์ สุสานดาตา สุสานอิกบาล ตลาดรอบๆกำแพงเมืองเก่า พรมแดนปากีสถาน-อินเดีย สวนอิกบาล และ หอคอยปากีสถาน
วันนี้ผมจึงขอถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับหอคอยปากีสถานให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน
ก่อนอื่นขออธิบายข้อมูลภูมิหลังสั้นๆสำหรับท่านที่ไม่ทราบมาก่อนว่า อินเดียครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษระหว่างปีค.ศ. 1858-1947 ต่อมาเกิดขบวนการเรียกร้องเอกราชขึ้น นำโดยพรรคคองเกรส
ต่อมาเกิดพรรคสันนิบาตมุสลิมขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เมื่อแรกเริ่มเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวมุสลิมในอินเดีย จนกลายมาเป็นตัวแทนทางการเมืองของชาวมุสลิมในอินเดียในการก่อตั้งประเทศเอกราชของชาวมุสลิมแยกออกจากอินเดียที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู แม้ปัจจุบันอินเดียก็ยังคงมีชาวมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม
กลับมาที่หอคอย…..แน่นอนว่าความสูงของหอคอยที่ 62 เมตร และอายุ 63 ปีของหอคอยนั้นไม่สำคัญเท่ากับจุดมุ่งหมายในการสร้าง
หอคอยปากีสถาน (Minar-e-Pakistan) ถูกสร้างขึ้นในปีค.ศ. 1960 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของปากีสถาน เพราะบริเวณที่สร้างหอคอยนี้คือจุดเริ่มต้นข้อเรียกร้องในการก่อตั้งประเทศเอกราชของชาวมุสลิมในบริติชอินเดีย
ข้อเรียกร้องดังกล่าวเรียกว่า มติละฮอร์ หรือ Lahore Resolution กำเนิดขึ้นจากการประชุมพรรคสันนิบาติมุสลิมแห่งอินเดียเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1940 ณ สวนอิคบาล เมืองละฮอร์ พรรคการเมืองของอินเดียในขณะนั้นมีสองพรรคใหญ่คือพรรคคองเกรสและพรรคสันนิบาตมุสลิม
แกนนำพรรคสันนิบาตมุสลิมที่มาประชุมกันในวันนั้นประกอบด้วยบุคคลสำคัญได้แก่มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (ผู้ได้รับการยกย่องเป็นผู้ก่อตั้งประเทศปากีสถาน) เลียกัต อาลี ข่าน (นายกรัฐมนตรีคนแรกของปากีสถาน) มูฮัมหมัด ซาฟารุลลอฮ์ ข่าน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรกของปากีถาน) เอ.เค. ฟัซลุล ฮัก (นายกรัฐมนตรีคนแรกของเบงกอล)
มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ (แถวล่างคนที่ห้าจากขวา) เลียกัต อาลี ข่าน (แถวล่างซ้ายสุด) มูฮัมหมัด ซาฟารุลลอฮ์ ข่าน (ยืนอยู่ขวามือด้านบนของผู้หญิงที่ใส่ชุดคลุมตัว) เอ.เค. ฟัซลุล ฮัก (คนที่หกจากขวา)
มติละฮอร์นี้ถือเป็นข้อเรียกร้องครั้งแรกอย่างเป็นทางการในการก่อตั้งประเทศเอกราชของชาวอินเดียมุสลิม ซึ่งกลายมาเป็นประเทศปากีสถาน ภายหลังเหตุการณ์แบ่งแยกอินเดีย หรือ Partition of India 1947 เพื่อแบ่งแยกอินเดียออกเป็นสองประเทศภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ได้แก่สาธารณรัฐอินเดียในปัจจุบัน และสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน
ซึ่งเหตุการณ์แบ่งแยกอินเดียนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองอินเดีย-ปากีสถานเป็นอย่างมาก และยังคงส่งผลถึงปัจจุบัน เพราะมีดินแดนที่ตกลงกันไม่ได้อย่างแคชเมียร์ อันเป็นสาเหตุของความบาดหมางของทั้งสองประเทศมาตลอด 75 ปีนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ
แนวคิดการก่อตั้งประเทศของชาวมุสลิมอินเดียนี้ถือกำเนิดจากทฤษฎีสองเชื้อชาติ (Two-nation theory) ซึ่งชาวปากีสถานถือว่าผู้พัฒนาแนวคิดนี้จนนำไปแบ่งแยกอินเดียและก่อตั้งเป็นปากีสถานประกอบด้วยสามท่านคือ เซอร์ซัยยิด อะหมัด ข่าน ผู้ก่อตั้งมหาลัยมุสลิมอาลีการ์ มูฮัมหมัด อิกบาล นักกวีและนักปรัชญาและ มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้ร่วมก่อตั้งปากีสถาน
ทฤษฎีสองเชื้อชาติไม่ได้พิจารณาเชื้อชาติบนพื้นฐานของชาติพันธุ์และภาษา แต่พิจารณาจากศาสนา โดยมองว่าชาวฮินดูและชาวมุสลิมในอินเดียนั้นไม่ได้มีเชื้อชาติเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันมาก ทั้งศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ดังนั้นอินเดียจึงมีเชื้อชาติฮินดูและเชื้อชาติมุสลิม
อย่างไรก็ตามเซอร์ซัยยิดและอิคบาลไม่ได้พูดถึงการแยกประเทศเอกราชของชาวมุสลิมอินเดีย อิคบาลพูดถึงเขตการปกครองของมุสลิมภายใต้อินเดียที่เป็นสหพันธรัฐ แนวคิดนี้ถูกพัฒนาท้ายที่สุดโดยจินนาห์จนทำให้เกิดการแบ่งแยกอินเดียเป็นสองประเทศ
แม้คำว่าปากีสถานจะถูกนำเสนอโดยเชาดารี เราะห์หมัด อาลี นักศึกษาชาวมุสลิมอินเดียที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาเคมบริดจ์ ซึ่งปากีสถานหมายถึงดินแดนอันบริสุทธิ์ แต่ปากีสถานถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายภายหลังจากมีมติละฮอร์ปี 1940 นี่เอง
#ความสำคัญของมติละฮอร์ 1940 ก็คือ เป็นครั้งแรกที่กลุ่มการเมืองมุสลิมอินเดียออกมาเรียกร้องให้มีการก่อตั้งประเทศเอกราชของชาวอินเดียมุสลิมแยกออกจากแผ่นดินอินเดียที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู และภายหลังจากมติละฮอร์นี้ การขับเคลื่อนของพรรคสันติบาตรมุสลิมแห่งอินเดียดำเนินไปอย่างมีเอกภาพและมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยมีมูฮัมหมัด อาลี จินนาห์เป็นผู้นำ
ดังข้อความในมติละฮอร์ดังนี้
หน่วยที่อยู่ติดกันทางภูมิศาสตร์ (ประเทศสองประเทศ-ผู้แปล) นั้นเป็นเขตซึ่งควรได้รับการจัดตั้งขึ้น โดยมีการปรับดินแดนดังกล่าวตามความจำเป็น ซึ่งพื้นที่ที่ชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ เช่น โซนตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกของอินเดียภายใต้การการปกครองของอังกฤษ ควรจัดกลุ่มเป็น 'รัฐเอกราช' ซึ่งหน่วยที่เป็นส่วนประกอบควรเป็นอิสระและมีอำนาจอธิปไตย
สาเหตุสำคัญที่ชนชั้นนำทางการเมืองชาวมุสลิมอินเดียจำนวนมากในสมัยนั้นไม่ยอมรับแนวคิดอินเดียที่เป็นหนึ่งเดียวภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษก็คือปัจจัยสำคัญสองประการคือระบอบการปกครองและประชากร
ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยนี้อำนาจทางการเมืองได้มาจากการเลือกตั้ง และภายใต้ประเทศอินเดียที่ประชากรร้อยละ 80 นับถือศาสนาฮินดู มุสลิมจะเป็นชนกลุ่มน้อยตลอดกาล ดังนั้นการจะรับประกันเสรีภาพ สันติภาพ ความอยู่รอดปลอดภัยของชาวมุสลิมอินเดียได้นั้น การก่อตั้งประเทศของชาวมุสลิมที่ชื่อว่าปากีสถานคือทางออกที่ดีที่สุดของชาวมุสลิมในเวลานั้น ซึ่งมีพรรคสันติบาตมุสลิมแห่งอินเดียเป็นตัวแทนทางการเมืองของพวกเขา
หอคอยปากีสถานจึงเป็นอนุสรณ์สถานว่า ณ ที่แห่งนี้ในปี 1940 แนวคิดการก่อตั้งประเทศปากีถานได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการจนสำเร็จในปี 1947 นั่นเอง
ไว้จะมาเล่าเรื่องราวของปากีสถานในตอนต่อๆไป
ผู้เขียน: รุสตั้ม หวันสู อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
โฆษณา