13 ม.ค. 2023 เวลา 02:06 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

โรคระบาดกลางฤดูฝุ่น

คนสมัยก่อนเชื่อว่า อากาศที่สะอาดจะทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี ส่วนอากาศที่สกปรกจะเป็นสาเหตุของอาการป่วย ความเชื่อนี้เรียกว่า ทฤษฎีอายพิศม์ (miasma theory) แต่ภายหลังนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ตัวการที่ทำให้เราป่วยคือ เชื้อโรคที่อยู่ในสภาพแวดล้อมต่างหาก ไม่ใช่อากาศ
แต่ความเชื่อว่า อากาศสกปรกเป็นเหตุแห่งความเจ็บป่วยก็ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลเสียทีเดียว เพราะอากาศที่เจือปนด้วยมลสาร (pollutant) ในปริมาณที่มากพอ และคงอยู่เป็นระยะเวลานานพอ หรือที่เรียกว่า มลภาวะอากาศ (air pollution) จะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมนุษย์
มลภาวะอากาศมีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือแก๊สก็ได้ แต่มลภาวะอากาศที่กระทบคนไทยมากที่สุดคงเป็น ฝุ่น PM2.5 ที่ปกคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า มลภาวะอากาศสัมพันธ์กับการเกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคปอด โรคหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคซึมเศร้า การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย
ที่สำคัญ มลภาวะอากาศอย่างฝุ่น PM2.5 ยังสัมพันธ์โดยตรงกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวเช่นนี้ เพราะอากาศเย็นจะทำให้ไวรัสมีอายุขัยยืนยาวขึ้น และไวรัสจะสามารถเกาะกับฝุ่นที่ล่องลอยไปตามลม
พูดง่ายๆ คือ ฝุ่นยิ่งเยอะ โรคยิ่งร้ายนั่นเอง
ดังนั้น การกลับมาเยือนของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงฤดูหนาวที่มีการกระจายตัวของฝุ่น ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่น่ากังวลนะครับ
เราสามารถรับมือมลภาวะอากาศได้ 2 แนวทางหลักๆ คือ ป้องกันไม่ให้มลภาวะอากาศสัมผัสร่างกาย และลดปริมาณมลภาวะอากาศ
หลายๆ วิธีการเราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง อาทิ สวมหน้ากาก N95 และติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ แต่คำถามสำคัญกว่านั้นคือ ภาครัฐควรมีวิธีรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างไรบ้าง
text: สมาธิ ธรรมศร
อ่านฉบับเต็มได้ที่: https://waymagazine.org/pm2-5-air-pollution-and-covid-19/
โฆษณา