13 ม.ค. 2023 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์

80/90/100

พี่เล้ง ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร CEO ของ MFEC เคยพูดไว้ว่า “คนที่ประสบความสำเร็จ” นั้นมักจะมีความเป็น “คนช่างสังเกต” เสมอ และความช่างสังเกตจะนำมาซึ่ง “ความโชคดี”
พี่เล้งเปรียบเทียบกับการเล่นกอล์ฟว่า ถ้าเล่นกอล์ฟแล้วมีการเดิมพันกัน ถ้าราคาเดิมพันคือ 20 บาท เราคงเล่นแบบอย่างไรก็ได้ จะตีแพ้ตีชนะก็เหมือนกัน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น 2,000 บาท เราก็อาจจะตั้งใจเล่นขึ้นมาอีกหน่อย แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นหลุมละ 200,000 บาท คราวนี้วิธีการเปลี่ยนแน่นอน เราคงต้องไปซ้อมที่สนามหลายรอบ เลือกแคดดี้ที่ดูไลน์เก่งๆ ใช้อุปกรณ์ที่ดีและมั่นใจที่สุด ฯลฯ
ชีวิตก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน เวลาที่โอกาสเข้ามา ขนาดของโอกาสเป็นอย่างไรและเราทำอย่างไรกับโอกาสนั้น
คนที่โชคดีคือคนที่ช่างสังเกตว่า ขนาดของโอกาสเป็นอย่างไรและวางกลยุทธ์ไว้ว่าจะทำอย่างไร
ถ้าโอกาสขนาด 200,000 แต่ทำ 20 ซึ่งจริงๆ มีให้เห็นบ่อย เช่น หัวหน้ามอบหมายงานสำคัญมากให้ แต่เราดันทำแบบขอไปที แบบนี้โอกาส 200,000 อาจจะไม่มาอีกแล้วก็ได้
แต่ถ้าโอกาส 20 แต่ทำ 200,000 คือทำเกินความจำเป็นไปมากๆ แบบนี้เราก็จะเหนื่อยและเบิร์นเอาต์ในที่สุด พอโอกาสใหญ่เข้ามาเราก็ไม่เหลือแรงและทรัพยากรทำแล้ว
ถ้าเป็นเรื่องงานที่เข้ามา เราสามารถเลือกได้หมดว่าจะทำลวกๆ ก็ได้ จะทำให้คุ้มค่าจ้างก็ได้ หรือจะทำเกินค่าจ้างก็ได้ แต่เราต้องรู้ว่าเหตุผลของการทำคืออะไร
พี่เล้งยังเล่าถึงการทดลองหนึ่งที่เอาคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นคน “โชคดี” กับคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นคน “โชคร้าย” มาทำการทดลองกัน โดยการเอานิตยสารมาให้ดูและให้หาว่าในนิตยสารนี้มีภาพอยู่กี่ภาพ
ซึ่งผลที่ออกมาน่าสนใจมาก คนที่นิยามตัวเองว่าเป็นคน “โชคดี” ใช้เวลาเฉลี่ยไม่กี่วินาทีก็ตอบได้ ในขณะที่คน “โชคร้าย” ใช้เวลาประมาณ 5 นาที
เหตุผลเพราะว่าที่สารบัญมันบอกอยู่แล้วว่าหนังสือเล่มนี้มีภาพ 43 ภาพ
นี่คือการเชื่อมโยงระหว่างการช่างสังเกตกับความโชคดี จริงๆ เรื่องนี้ประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือความสัมพันธ์
ลองคิดดูว่าถ้าเรามีคนที่มีค่าราวกับ 200,000 เข้ามาในชีวิต แต่เราปฏิบัติกับเขาเหมือนเขาเป็นคน 20 อะไรจะเกิดขึ้น หรือในทางกลับกัน ถ้าคน 20 เข้ามาในชีวิต แต่เราดันให้ราคา 200,000 กับคนแบบนี้ อะไรจะเกิดขึ้น
1
ผมประยุกต์แนวคิดนี้กับการทำงาน โดยใช้คอนเซ็ปต์แบบ 80/90/100
ในโลกธุรกิจอันแสนวุ่นวาย ผมเชื่อว่าเราต้องมีกรอบแนวคิดคร่าวๆ ว่าแต่ละเรื่องต้องใช้พลังงานแค่ไหน และเมื่อไรจะมีการเปลี่ยนระดับพลังงานของเรื่องนั้น
1
สิ่งสำคัญอันดับแรกคือแบ่งงานที่เราไม่จำเป็นต้องทำเองออกไปก่อนเลย งานพวกนี้คือระดับ 0 ซึ่งคืองานที่อย่างไรก็ไม่ควรทำ อาจเป็นเพราะว่ามีคนอื่นทำได้ดีกว่าเรา เลยไม่ต้องทำและเอาเวลามาทำเรื่องที่เราจำเป็นต้องทำเองดีกว่า ส่วนเรื่องที่เราต้องจัดการ ควรเป็นเรื่องที่มีแต่เราเท่านั้นที่จัดการได้ และแต่ละอย่างก็ยังมีระดับของมันอีก
งานบางประเภทใช้ระดับ 80 เช่น การสังสรรค์กับลูกค้า หรือ Networking กิจกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องไปแต่อย่าใช้เวลามากเกินไป
1
เรื่องการประชุมจำนวนมากก็อยู่ในหมวดนี้เช่นกัน และถ้าพิจารณาดีๆ การประชุมที่เราคิดว่าอยู่ในระดับ 80 หลายครั้งควรปรับเป็นระดับ 0 มากกว่า
1
ส่วนงานบางประเภทต้องจัดให้อยู่ที่ระดับ 90 อาทิ การบริหารจัดการความเสี่ยง การบริหารจัดการสภาพคล่อง เรื่องเกี่ยวกับนักลงทุน ฯลฯ
สุดท้ายคือประเภท 100 ซึ่งก็คือการทุ่มเทให้หมดหน้าตักหรือ All-in ไม่มีพื้นที่สำหรับความผิดพลาดเลยแม้แต่นิดเดียว เรื่องที่ว่านั่นก็คือ
“เครดิต” หรือ “ชื่อเสียง” นั่นเองครับ เพราะถ้าเราพลาดเรื่องนี้แล้ว จะทำอะไรต่อมันยากมากจริงๆ และการกู้มันคืนมาก็ยากมากเช่นกัน
คำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ที่ว่า “It takes 20 years to build a reputation and five minutes to ruin it. If you think about that, you'll do things differently.”
ชื่อเสียงนั้นใช้เวลาสร้าง 20 ปี แต่ใช้ 5 นาทีในการทำลาย คนฉลาดจะรู้ว่าเรื่องนี้พลาดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว
กรอบความคิดนี้จะช่วยให้เราทำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำครับ
อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของเวลาครับ
เวลาไหนควร “รุก” และเวลาไหนควร “ถอย”
บิล กรอส ผู้กว้างขวางอีกคนในวงการ Startup เคยกล่าวใน Ted Talk ของเขาที่ชื่อ “The single biggest reason why start-ups succeed” หรือ เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ Startup ประสบความสำเร็จ ว่าจากการเก็บข้อมูลมายาวนานและนำมาวิเคราะห์พบว่า 5 ปัจจัยที่นำมาซึ่งความสำเร็จของ Startup ได้แก่ Ideas, Team & Execution , Business Model, Funding, Timing
จากการวิเคราะห์พบว่า Funding มีส่วนสำคัญกับความสำเร็จอยู่ที่ 14%, Business Model 24%, Idea 28%, Team & Execution 32%
และ
Timing 42%
ใช่ครับ การเลือกจังหวะเวลาที่จะปล่อยสินค้าและบริการในช่วงที่เหมาะสม เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของ Startup มากที่สุด
3
เรื่องนี้จริงสำหรับพวกเราเช่นกันครับ เวลาพิจารณาโอกาสต่างๆ ที่เข้ามา ต้องไม่ลืมที่จะถามตัวเองด้วยว่า เวลาตอนนี้มัน “ใช่” ไหม เพราะแม้โอกาสจะดี แต่เวลามันไม่ได้ มันก็ไม่ได้อยู่ดีครับ
กล่าวโดยสรุปคือ คนที่โชคดีและประสบความสำเร็จ เป็นคนที่ช่างสังเกต วัดขนาดของโอกาสเป็น ใส่ทรัพยากรให้เหมาะสมกับโอกาสนั้นๆ และที่สำคัญที่สุดเวลาต้องถูกต้องด้วยครับ
เหมือนที่เขาบอกกันครับว่า “คนที่ใช่ ในเวลาที่ผิด” อย่างไรก็เป็นไปไม่ได้นะ
#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
1
โฆษณา