15 ม.ค. 2023 เวลา 05:00 • ครอบครัว & เด็ก

เมื่อคำว่า "แป๊บนึง" ของพ่อแม่กับลูกไม่เท่ากัน จะทำอย่างไร

เวลาที่ "พ่อแม่" หลายคน อยากให้ลูกทำอะไรสักอย่าง ลูกมักจะบอก "แป๊บนึง" ตลอด และบางทีก็ "แป๊บนึง" ไปเรื่อยๆ จนทำให้พ่อแม่หลายคนเหนื่อยที่จะดุลูก ดังนั้น เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้คำว่า "แป๊บนึง" ของพ่อแม่กับลูกเท่ากัน และมีคำพูดไหนบ้างที่ไม่ควรพูดกับลูก
เมื่อคำว่า "แป๊บนึง" ของพ่อแม่กับลูกไม่เท่ากัน ทำให้เป้าหมายที่ผู้ปกครองอยากจะกำหนดเวลาและฝึกระเบียบวินัยของลูกไม่สามารถทำได้ง่ายนัก หลายครั้งที่เด็กๆ อาจจะเล่นเพลินจนลืมเวลาทานข้าว อาบน้ำ และการที่พูดคุยหรือใช้วิธีสื่อสารผิดๆ อาจทำให้เด็กต่อต้าน ไม่ทำตาม และเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่าง พ่อแม่ และลูกได้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้คำว่า "แป๊บนึง" ของพ่อแม่และลูกตรงกัน
1
การเข้าใจวิธี "การสื่อสาร" ที่ดี เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเลี้ยงลูก เพราะหลายคนมองว่าเด็กดื้อไม่เชื่อฟัง แต่ความจริงแล้วพ่อแม่อาจใช้คำพูดที่ผิด การสื่อสาร จึงถือเป็นเครื่องมือชิ้นแรกที่เด็กและผู้ปกครองใช้เข้าหาซึ่งกันและกัน แต่เมื่อการใช้การสื่อสารไม่ดี พัฒนาการของเด็กในหลาย ๆ ด้านก็จะไม่ดีตามไปด้วย
“พญ.ทัตติยา วิษณุโยธิน” แพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้แบ่งปันเทคนิคที่จะกำหนดเวลากับบุตรหลานของท่าน ให้สามารถกำหนดเวลาและพฤติกรรมของลูกให้เหมาะสม และปรับคำว่า "แป็บนึง" ของทั้ง 2 ฝ่ายให้ตรงกันมากขึ้น ผ่าน Net PAMA tip and tricks EP 2 โดยอธิบายว่า พ่อแม่หลายคน พบว่า แป๊บนึงของเรากับลูกไม่เคยเท่ากัน
สำหรับการปรับเทคนิคคำว่า “แป๊บนึง” ของพ่อแม่และลูกให้เท่ากันง่ายๆ โดยใช้นาฬิกาในบ้าน อันดับแรก ต้องเลือกนาฬิกาก่อน นาฬิกาที่ช่วยพ่อแม่ได้ดี คือ มีเข็มสั้นและเข็มยาวที่มองเห็นชัดเจน รวมถึง มีตัวเลข 1-12 บนหน้าปัดนาฬิกาเพื่อให้เด็กมองเห็นชัดเจนไม่ต้องเดาว่า ขีดนี้ คือ เลขเท่าไหร่ และที่สำคัญ คือ ต้องเป็นนาฬิกาที่ดูง่าย ไม่ต้องมีลวดลาย ยิ่งเป็นเด็กเล็กๆ ใช้ตัวเลขใหญ่ๆ เลยยิ่งดี
ถัดมา คือ วิธีการปรับให้แปปนึงของเรากับลูกเท่ากัน ก่อนที่พ่อแม่จะบอกให้ลูกทำอะไร ให้เรียกชื่อลูกให้หันมาสบตากับเราก่อน เพราะบางทีการที่ลูกทำอะไรเพลินๆ และเราพูด เขาอาจจะไม่สนใจฟัง เหมือนที่เราดูหนัง ฟังเพลง มีคนมาเรียกชื่อเราบางทีเราก็ไม่ได้ยิน ดังนั้น เรียกชื่อลูกก่อนที่จะให้ลูกทำอะไร
หลังจากเด็กหันกลับมาแล้ว หากเป็นเด็กที่โตแล้ว ให้พ่อแม่ถามว่า “ลูกดูนาฬิกาสิตอนนี้กี่โมงแล้ว” หากเป็นเด็กเล็ก อาจจะถามว่า “ตอนนี้เข็มยาวชี้เล็กอะไรแล้วนะ”
โดยที่สำคัญ คือ ต้องบอกระยะเวลา เช่น “แม่อยากให้ลูกไปทานข้าว ตอนเข็มยาวชี้เลข 6” ซึ่งการบอกเวลา
ควรกะเวลาให้เหมาะสมด้วย เพราะบางครั้ง แค่ 5 นาทีสำหรับเด็กอาจจะน้อยไปในการที่เขาจะทำใจ อาจจะต้องกะเวลาเผื่อ 30-40 นาที เพื่อให้เขาทำใจเลิกเล่นสิ่งที่เขากำลังเล่นอยู่ก่อน
ถัดมา หลังจากที่พ่อแม่บอกสิ่งที่อยากให้ลูกทำแล้ว ให้ลูกทวนสิ่งที่พ่อแม่พูดอีกที เพื่อจะได้มั่นใจว่า เขาตั้งใจฟังอยู่ เขาเก็บข้อมูลครบ และเรามีความเข้าใจที่ตรงกัน
สุดท้าย เมื่อใกล้ถึงเวลาที่กำหนด ควรเตือนลูกก่อนเพราะบางที เขาอาจจะเผลอลืมไม่ได้มองนาฬิกา เช่น หากให้เวลาลูก 1 ชั่วโมง อาจจะเตือนตอนเหลือเวลาอีกประมาณ 30 นาที หรือ 15 นาที ซึ่งการเตือนจะช่วยให้เขาทำใจได้มากขึ้น แต่หากเตือนบ่อยเกินไป เช่น ผ่านไป 5 นาทีแล้วนะ ผ่านไป 10 นาทีแล้วนะ แบบนี้จะทำให้ลูกรำคาญได้
ดังนั้น ควรเตือนลูกทุก 15 นาที หรือหากเป็นเด็กที่ค่อนข้างเชื่อฟังอยู่แล้ว อาจจะเตือนตอน 30 นาที หรือ 5 นาทีสุดท้ายเลยก็ได้
โฆษณา