15 ม.ค. 2023 เวลา 11:50 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] SOS - SZA

ร้องขอ ลองฟัง
-เมื่อเห็นจำนวน 23 แทร็คในตอนแรก แอบทำใจไว้ก่อนเลยว่า เราจะเจอความล้นความยืดยาดอีกมั้ย เพราะที่ผ่านมาผมมีความรู้สึกฝังใจกับอัลบั้มยี่สิบกว่าแทร็คที่ได้ผลลัพธ์ quantity over quality ในการเล่าเรื่อง มีแต่น้ำมาตั้งหลายอัลบั้ม โดยเฉพาะอัลบั้มฮิปฮอปที่ชอบพ่นไรห์มเยอะๆ โชว์ลูกคออาร์แอนด์บีจนลิงหลับก็มี ยิ่งหายไปนานกว่า 5 ปีด้วย เธอคงมีเรื่องจะระบายเยอะพอสมควร ดูทรงแล้วสาสน์น่าจะล้นแบบจุกๆแน่ ผมจึงไม่คาดหวังอะไรมาก
-แต่ผลลัพธ์ที่ได้ เพลินเว้ยเห้ย เป็นความรู้สึกที่หลากหลาย หาทางบิดพริ้วได้แนบเนียนมากๆ ราวกับ 5 ปีที่ผ่านมา เธอสามารถตกตะกอนจากสภาวะขึ้นๆลงๆทางอารมณ์แล้วบรรยายโฟลว์นั้นอย่างรวบรัดไม่มากความ จำไว้นะครับ ถ้าอยากให้คนฟังสามารถไหลไปกับสิ่งที่ตัวเองอยากเล่ามากกว่า 20 แทร็คเป็นต้นไป ความยาวแต่ละเพลงควรรวบรัดเฉลี่ยไว้ที่ 2-3 นาทีพอ เด็กรุ่นใหม่จะได้ไม่หาวใส่ด้วย อีกจุดแข็งนึงที่ทำให้คนฟังไหลตามชุดนี้ได้ไม่ยากคือ พรสวรรค์การแร็ปเอื้อนของเธอที่จัดเต็มยิ่งกว่าเดิมด้วย
-ไปเจอบทสัมภาษณ์ของ PEOPLE Magazine ทำให้ผมกลับมามองอัลบั้มนี้เปลี่ยนไป ด้วยคาแรคเตอร์และแนวทางของงานชุดนี้ที่รู้แล้วว่าทำไมถึงออกมาวาไรตี้ แตกต่างจากงานเพลงของศิลปินหญิงอาร์แอนด์บีทั่วๆไปที่มักจะวนกับ slow jam, Jazz และฮิปฮอป ซึ่งอยู่ในสับเซ็ทของ black music เนี่ยแหละ มู้ดแอนด์โทนก็มักจี่กับประเด็นความรักแบบส่วนตัวอย่างที่เราคุ้นเคย โดย Solána Imani Rowe (a.k.a SZA) ระบุในบทสัมภาษณ์ของ PEOPLE ไว้ว่า
“ตอนนี้ฉันเพิ่งเข้าสู่ยุคที่ชั้นต้องรอมรับตัวเองแล้วว่าเป็นนังตัวแสบ ซึ่งนั่นก็โอเค ชั้นโอเคที่จะเป็นนางมารร้าย ชั้นโอเคที่จะระบายความในใจ ชั้นไม่สามารถเสียใจเพียงเพราะไม่สามารถเป็นหวานใจของใครหลายคนได้ ชั้นเป็นคนที่มีหลายแง่มุม ชั้นสามารถอ่อนหวาน ชั้นสามารถเป็นคนพยาบาท เป็นคนรุนแรง เป็นคนน่าทะนุถนอมก็ย่อมได้”
-เมื่อได้รับรู้สิ่งที่เธอให้สัมภาษณ์ข้างต้น ผมก็พอเห็นคาแรคเตอร์ของอัลบั้มนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างน้อยก็ไม่ตัดสินไปตามชื่อกับความโดดเดี่ยวที่สะท้อนให้เห็นในปกอัลบั้มซะทีเดียว ผมสังเกตได้ว่า เธอมั่นใจขึ้นกว่าตอนสมัย Ctrl ที่เธอพยายามหาทางประคับประคองภายใต้การข้ามผ่านช่วงวัย 20 Something ซึ่งมีทั้งความสับสน low self-esteem การผูกใจเจ็บต่างๆนาๆจนตัวตนหล่นหาย
-ตัดภาพมาที่ยุค SOS เหมือนเธอจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือแบบด่วนๆก็จริง แต่เมื่อมองภาพรวมแล้วเราคงไม่จำเป็นต้องเข้าหาเธอด้วยการให้ advice หรือ solution เพื่อไปแก้ปัญหาส่วนตัวให้มากความ เธอคงอยากให้เราเป็นผู้ฟังที่ดีเสียมากกว่า
-ในช่วงแรกเธอโชว์ความเป็นนังตัวแสบประหนึ่งเข้าสู่ bitch era อย่างที่เธอว่าจริงๆ ตั้งแต่ไตเติ้ลแทร็คเปิดอัลบั้ม SOS ที่เธอร่ายยาวถึงการทวงความเป็นตัวเธอจากการโดนเอารัดเอาเปรียบต่างๆนาๆ เป็นหนึ่งนาทีกว่าที่กินเรียบด้วยสไตล์การแร็ปสลับกับร้องที่จัดจ้านและแดกดัน เป็นการ boost confident ที่ให้มู้ดต่างจาก Supermodel เพลงเปิดอัลบั้มแรกอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยเปิดด้วยอารมณ์ค่อนข้างละห้อยและดราม่า ณ ตอนนี้แปรเปลี่ยนมาเป็นความมั่นใจที่เริ่มพุ่งปรี๊ดพร้อมท้าชนไม่อ่อนข้อ
-บู๊อย่างต่อเนื่องด้วย Kill Bill ซึ่งตอนนี้ฮิตติดลมบนไปแล้ว มีปัจจัยที่น่าฮิตเพียบอย่างไม่แปลกใจ ไล่ตั้งแต่ชื่อเพลงที่ใครต่างก็สะดุด เพราะอ้างอิงจากหนังซามูไรเลือดสาดสุดคลาสสิคของ Quentin Tarantino ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก ความแสบตามท้องเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก ได้ใจคนถูกทิ้งและโดนหักหลังที่ต้องการอยากเอาคืนแฟนเก่าด้วยการฆ่าแม่งให้พ้นตาเลย แล้วต่อด้วยมือที่สาม ไม่เพียงแค่ชื่อที่น่าดึงดูดแล้ว ท่อนฮุกก็ติดหูอีก เชื่อเลยว่าใครที่เพิ่งโดนทิ้งคงท่องมนต์ตามท่อนฮุกเป็นการสะกดจิตแล้วเป็นที่เรียบร้อย
-ถ้าหากใครได้ดูเอ็มวีเพลงนี้แล้ว ในช่วง Outro ก็มีเพลง Seek & Destroy ซึ่งเป็นแทร็คต่อไปซะด้วย ซึ่งถือว่าฉลาดมากๆในการทำให้มู้ดร้อนๆเกิดความต่อเนื่อง เพราะเพลงนี้ก็พลุ่งพล่านพอกัน เป็นการตัดพ้อถึงความรัก toxic ที่ย้อนกลับมาทำลายตัวเรามากกว่าเยียวยาเรา ซึ่งเป็นการทำลายในเชิงซาดิสม์เสียมากกว่า ประหนึ่งเอาแม่งให้กระจุยจะได้สิ้นเรื่อง
-Low เป็นเพลง trap rap ที่คอนเทนท์โคตรแซ่บ ต่อหน้าทำเป็นไม่พูดจา ลับหลังซัดกันนัว เสริมด้วยพลังการไฮป์จาก Travis Scott ใคลอเป็นแบ็คกราวนด์ด้วย ยิ่งเป็นการเพิ่มความพีคในช่วงต้นอัลบั้มที่เหล็กกำลังร้อนได้ที่ จะเห็นได้ว่าเธอเลือกที่จะเข้าหาคนฟังด้วยการเสิร์ฟของร้อนก่อนแล้วค่อยๆปูเข้าไปสู่การเปิดแผลใจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอย่างเป็นสาระสำคัญ
ภาพต้นฉบับเจ้าหญิงไดอาน่า ที่มาของปกอัลบั้ม
-ซึ่งก็สอดคล้องกับปกอัลบั้มที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายเจ้าหญิงไดอาน่า (ผู้ล่วงลับ) นั่งอยู่บน diving board ตอนทริปเสด็จทางเรือไปที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ณ อิตาลี ซึ่งเธอก็ตีความภาพนั้นอย่างแตกฉานว่า เป็นภาพที่สะท้อนความโดดเดี่ยวและแปลกแยกของพระองค์ได้ดีที่สุด ถือว่าฟังเพลงได้ตรงปกอยู่
-การเบรคด้วย Love Language เป็นการเคารพธรรมเนียมของอาร์แอนด์บีในแง่ของการเผยแพร่ความ slow jam แบบเฉพาะของดนตรีคนดำ เผยให้เห็นด้านแห่งการประนีประนอมและอยากได้ความชัดเจนที่ตรงไปตรงมามากกว่านี้ หมวด trap pop ร่วมสมัยก็มีในเพลง Used ที่ได้ Don Toliver มาร่วมแชร์ความรู้สึกการถูกคนเมินเฉยภายใต้โลกอันแสนเย็นชา ถูกหลอกใช้ไม่ต่างจากทาสสมัยก่อน บางทีความด้านชาทางความรู้สึกอาจเป็นคำตอบในการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เป็นภัย
-Blind เป็นเพลงที่มาทางปลงของจริง เป็นความรู้สึกที่หนักอึ้งชวนอึดอัดกับการที่เรามืดบอดแปดด้านจนเราไม่สามารถรับรู้ถึงสิ่งดีๆรอบตัวได้เลย Gone Girl ก็เป็นอีกหนึ่งเพลงที่ชื่อคุ้น เพราะอ้างอิงชื่อจากภาพยนตร์ทริลเลอร์ชื่อดังเมื่อปี 2014 โดยเพลงก็ออกแนวเปรียบเปรยตามท้องเรื่องของหนังด้วยส่วนนึง เป็นบัลลาดที่มีรสดราม่าของการโดนคุกคามมากเสียจนต้องหลีกหนีในที่สุด
-Smoking on my Ex Pack เป็นการโชว์แร็ปด้วยท่าทีสุดชิวล์ เป่าอดีตรักเพื่อการมูฟออน ซึ่งมีจุดนึงที่เหน็บ Drake ที่ครั้งนึงเธอเคยออกเดตด้วยเมื่อนานมาแล้ว แต่คิดว่าทั้งคู่ปล่อยผ่านไปแล้ว ถ้าใครยังจำเพลง Mr. Right Now ที่ Drake ไปแจมกับ 21 Savage ได้ มันจะมีอยู่ท่อนนึงที่เสี่ยเดรค flex ว่า เคยออกเดตกับ SZA เมื่อปี 2008 จนสร้างความฮือฮาในแบบที่แฟนเพลงฮิปฮอปไม่ยักกะรู้มาก่อน ซึ่งต่อมา SZA ก็แอบแซวว่า เธอจำปีผิดค่ะ ปี 2009 ต่างหาก ซึ่งก็เป็นแค่การแซว ไม่มีอะไรขัดแย้งต่อจากนี้
-ส่วนท่อนฮุกถ้าใครสังเกตดีๆ มีการแปลงวลีเด็ด Smoking on yo' top five tonight ของ Kendrick Lamar ในเพลง family ties ด้วย ถือเป็นการ diss แบบขำๆ ก่อนที่จะไปเจอคลื่นแห่งความหลากหลายต่อจากนี้
-Ghost in the Machine สร้างความเซอร์ไพร์สตั้งแต่ฟีทเจอร์อย่าง Phoebe Bridgers ซึ่งเป็นศิลปินรับเชิญคนเดียวที่ฉีกแนวเพลงไปทางอินดี้-โฟล์คเลย นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟีบี้ได้ไปแจมกับศิลปินอาร์แอนด์บี-ฮิปฮอป ก่อนหน้านั้นเธอเคยไปแจมกับ Kid Cudi ในเพลง Lovin’ Me ด้วย ส่วนตัวผมชอบฟีบี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ก็ต้องเรียนตามตรงว่าเธอยังไม่ใช่ส่วนผสมที่สร้างความแปลกใหม่ได้อย่างลงตัวมากขนาดนั้น บริบทของเพลงนึกถึง Halloween ของฟีบี้ก็จริง ถ้าเน้นแต่ SZA เดี่ยวๆไปเลยน่าจะฉงนสนเท่ห์กว่า
-โดยเพลงนี้เปิดประเด็นค่อนข้าง deep conversation เกี่ยวกับยุคสังคมดิจิตอลที่ต่อให้จะช่วยคลายเหงา หลีกหนีความวุ่นวายในชีวิตวงการบันเทิงก็จริง แต่ก็ลดทอนความเป็นมนุษย์ได้เช่นกัน ยังดีที่เธอตื่นรู้และไม่ให้อารมณ์แห่งความเหงานำพาให้ถลำลึกจนเกินไป
-ทั้งนี้ฟีบี้ก็มาเสริมถึงชีวิตที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น ตามมาด้วยความเหนื่อยล้าจากการออกทัวร์ ซึ่งนั่นทำให้เธอเฉยชากับคนรอบตัวจนมันเป็นปัญหาแห่งการขาดความเป็นมนุษย์นั่นเอง ถือว่าเป็นเพลงที่ weird สุด ด้วยการหยิบจับคาแรคเตอร์หุ่นยนต์ ความต่างของศิลปินและ element ที่เป็น Folk ดุ่มๆซะด้วย
-เพิ่มความท้าทายอีกขั้นด้วยการจับพังก์-ร็อคในเพลง F2F (น่าจะย่อมาจาก Fuck 2 Forget เอาไปเรื่อยเพื่อลืมเธอ) ซึ่งก็อินเทรนด์มากๆเพราะตอนนี้กระแสแนวเพลงยุค Y2K กลับมาวนเวียนอีกครั้ง เอาจริงความรู้สึกแว๊บแรกเลยคือ เอางี้จริงดิ ถามว่าพอฟังได้มั้ย เธอทำได้ดีเลยล่ะ แต่เมื่อเอามาอยู่ในอัลบั้มนี้มันคือเพลงที่ตัดมู้ดที่ปูทางความเป็นอาร์แอนด์บี-ฮิปฮอปมาโดยตลอด เป็นอันผิดแผกไปคนละทาง จนกลายเป็นเพลงที่แปลกแยกที่สุด น่าตัดมาเป็นเพลงแถมแยกต่างหากใน Deluxe ยังดีเสียกว่า
-ยังดีที่ความอคลูสติค-บัลลาดป็อปของเพลง Nobody Gets Me และ Special เหมาะเจาะกับการเป็นเพลงหลักที่ทำหน้าที่เติมเต็มอัลบั้มนี้ได้ดีกว่า ด้วยรสดราม่าเจ้าน้ำตาที่สอดคล้องกับตีมหลักของอัลบั้มนี้ที่ว่าด้วยการไม่มูฟออนจากคนเก่าซะส่วนใหญ่
-โดยเพลงแรกมีกลิ่นอายคันทรี่ป็อปคล้ายๆ Taylor Swift พอสมควร เป็นการคิดถึงคนเก่าหนักมาก เกิดความเสียดายที่ครั้งนึงได้ฝ่ายชายถึงขั้นคุกเข่าหมั้นหมาย แต่เนื่องด้วยอาชีพศิลปินที่เดินสายออกทัวร์ เวลาไม่ตรงกันจนต้องแยกทางในที่สุด สำหรับ Special เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจที่โดนคนรักผลักไส เอาตัวเองเทียบกับคนอื่นจนด้อยค่าเป็น loser เสียเอง
-Too Late เป็นป็อป-อาร์แอนด์บีที่ catchy แลดูอ่อนโยนกว่าเพลงอื่นๆ ประหนึ่งเป็นการพยายามกลับไปสานสัมพันธ์ความรักที่พังยับเยินอีกครั้งด้วยความหวังที่ริบหรี่เกินกว่าที่จะกลับตัวได้ Far เป็นความพยายามวิ่งหนีจากอดีตที่ไม่สุกสมหวัง โดยมีคำแนะนำจากท่านโยคี Sadhguru เป็นจุด spark ในช่วงอินโทรของเพลงนี้
-ซึ่งเธอก็ขอปรึกษาปัญหาชีวิตที่แสนเหนื่อยกับการถูกปฏิเสธมาหลายครั้งหลายครามากๆ โดยท่านอยากให้เธอเปลี่ยนมุมมองเสียว่า การโดนปฏิเสธเนี่ยแหละคือจุดเริ่มต้นของการพ้นพันธนาการ ซึ่งเป็น advice ที่น่าเอาไปปรับ mindset มากๆ โดยเฉพาะกับเรื่องความสัมพันธ์
-แอบไปสืบประวัติของท่านโยคีดังกล่าว ท่านเป็นอาจารย์อยู่ที่อินเดีย ผมก็พลางนึกถึงข่าวที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในตอนแรกๆที่ปล่อยอัลบั้มนี้ เธอรู้สึกกังวลถึงผลลัพธ์ กลัวคนฟังจะไม่ชอบ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เธอคงย้ายไปสงบจิตสงบใจที่อินเดียเป็นตุเป็นตะเลย จนในที่สุดอัลบั้มนี้ก็อยู่อันดับ 1 มานานต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ สรุป ณ ตอนนี้คือ แผนเปลี่ยนจ้า
-นอกจากจะมี advice ของท่านอาจารย์ที่อินเดียแล้ว ยังมี advice จากคุณย่า Norma Rowe ในช่วงอินโทรเปิดเพลง Open Arms ถ้าใครยังจำได้ คุณย่า Norma คือหนึ่งบุคคลสำคัญที่เคยอยู่ในเพลง Love Galore และ Garden (Say It Like Dat) จากอัลบั้ม Ctrl ซึ่งตอนนี้คุณย่าเสียชีวิตแล้ว ไม่แน่ใจว่าเพลงนี้ tribute ให้กับคุณย่าหรือไม่?
-เพลงมีรสความซึ้งและเหงาในเวลาเดียวกัน เป็นการโหยหาใครซักคนที่รักเราอย่างที่เราเป็นจริงๆ การได้ Travis Scott มาแจมเต็มรูปแบบก็ช่วยสร้างสีสันได้อย่างสุภาพ เอคโค่คอรัสของเขากลับทำให้เพลงนี้ไม่พลุ่งพล่านแบบเพลง Low แต่ทรงพลังชิบหาย
Mid Month Sale 1.15 มาแล้ว >>> https://shope.ee/2AgNRixWwl
-นานๆครั้งเราจะเห็นการเอาซิงเกิ้ลที่ถูกปล่อยออกมา กองไว้ที่ช่วงท้ายอัลบั้ม ไม่ว่าจะเป็นเพลงเต้น Shirt ที่ตอนแรกเธอไม่รู้ว่าจะตั้งชื่ออะไร อยู่ดีๆเธอก็ตั้งใจ leak เพลงนี้ใน TikTok แล้วคนก็ใช้เพลงนี้ไปเต้นแล้วตั้งชื่อเล่นๆว่า Shirt เธอเลยบ้าจี้ตามแฟนคลับจนได้เป็นหนึ่งซิงเกิ้ลอย่างที่เห็น ส่วนตัวผมค่อนข้างเฉยๆ I Hate U ก็อยู่ได้ถูกที่ในแง่ของบริบทที่ว่าด้วยการไม่มูฟออน ไอ้ความได้แต่นึกถึงเป็นสิ่งที่เธอเกลียดมาก จึงออกมาเป็นเพลงประชดประชันที่มีความ harmony ใช้ได้
-Good Day ตอนปล่อยเพลงนี้ในช่วงแรกๆ ผมไม่เก็ตเลยฮะ ทั้งๆที่เค้าชอบจนเพลงติดบิลบอร์ดอันดับสูง แต่พอถูกเอามารวมในงานชุดนี้ และจัดวางไว้ในช่วงสุดท้าย ช่างเป็นอะไรที่เหมาะเจาะและมีผลต่อความรู้สึกอย่างมาก หลังจากที่เราเผชิญกับคลื่นแห่งความผิดหวังที่ชอกช้ำวนลูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพลงนี้กลับทำหน้าที่ชะล้างได้ดีมาก โดยเฉพาะการปล่อย Outro ให้ไหลไปเองโดยไม่ต้องพร่ำพรรณาอะไรแล้ว ยิ่งช่วยให้คนฟังรู้สึกโล่งอย่างไม่น่าเชื่อราวกับเธอน่าจะปล่อยวางเรื่องที่ผ่านมาได้แล้วจริงๆ
-ปิดท้ายด้วย Forgiveless ที่ให้ความรู้สึกฮึกเหิม ไม่ดราม่าเท่ากับเพลงเปิดอัลบั้ม เป็นการส่งท้ายความรู้สึกที่ยังคงแดกดัน ไร้ซึ่งความกลัว ไม่เน้นให้ใครมาง้ออีกต่อไป ใครนินทาอะไรลับหลังไว้ก็จงระวัง อย่าให้ได้ยินล่ะกัน ลืมได้แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะให้อภัย แซมเปิ้ลด้วย ตำนานผู้ล่วงลับ Ol' Dirty Bastard คลอด้วย Hidden Place ของ Björk เป็นการปิดท้ายอัลบั้มแร็ปแบบสับๆดุดันไม่เกรงใจใคร
-นี่คือตัวอย่างอัลบั้มจำนวน 20 กว่าแทร็คที่น่าจะสร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการอาร์แอนด์บีเหมือนกันนะ ข้อจำกัดของอัลบั้มอาร์แอนด์บีที่เจอบ่อยมากๆคือความ slow jam ที่ค่อนข้างจะยืดยาด และมักเจอกับความซ้ำซากจนไม่จูงใจให้ฟังได้ตลอดรอดฝั่งเท่าไหร่ solution จากอัลบั้มนี้ที่น่าสนใจคือ ความยาวเพลงที่รวบรัดตัดความ หลีกเลี่ยงความซ้ำซากด้วยการ switch beat ในช่วงท้ายเพลงให้ได้อีกมิตินึง แต่แช่ไม่นานมากนัก
-การ transition ต่อเนื่องที่มีทั้งเสียงทะเล เสียงรหัสมอส หรือแม้กระทั่งบทสนทนาร่วมกับท่านโยคีและคลิปเสียงคำสอนคุณยายก็ช่วย connect กับอัลบั้มในเชิงเสริมเติมแต่ง เพิ่มเติมมุมมองที่ไม่ได้มีแค่เจ้าของอัลบั้มแค่มุมมองเดียว ถือเป็นลูกเล่นที่ที่ฉายความอ้างว้างโดดเดี่ยวตามปกอัลบั้มที่แหล่มชัด และการเสริมมุมมองด้วยบุคคลที่สามเป็นส่วนสนับสนุนในการให้ทั้งตัวศิลปินและคนฟังผ่านพ้นเรื่องเหล่านี้ไปด้วยกันด้วย
-อีกความโดดเด่นที่ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลมากๆนั่นก็คือ การถ่ายทอดที่น่าฟังของตัว SZA เองที่ไม่ได้ใช้ทฤษฎีการร้องที่ตายตัวตามโน้ตเสมอไป แต่เธอมีอารมณ์ร่วมในการ connect กับผู้ฟังเพื่อรู้สึกร่วมโดยอัตโนมัติไปกับสิ่งที่เธอเจอมาจริงๆ เหมือนเธอได้สะกิดแผลใจที่เราเคยเจอมาโดยไม่รู้ตัว
-มีจุดที่อยากติก็มีแค่ปริมาณแทร็คที่ไม่จำเป็นต้อง 20 กว่าแทร็คเสมอไป มีจุดที่วกวนทางความรู้สึก แต่ด้วยความยาวเพลงที่ค่อนข้างรวบรัด อย่างน้อยเกิดความยินยอมที่จะไม่กด skip ไปมากกว่านี้ เมื่อเทียบกับ Ctrl จำนวนแทร็คค่อนข้างสมเหตุสมผลกว่า
-การกลับมาในรอบ 5 ปีครั้งนี้ เธอคงจะมอบประสบการณ์เรียนรู้ที่จะเจ็บ หาทางออกด้วยวิธีที่ก๋ากั่น คิดผูกใจเจ็บวกไปวนมาจนได้เรียนรู้ความจริงอย่างลึกซึ้งไม่มากก็น้อย ยังดีที่เธอหัดมองโลกอย่างมีความหวังจนสามารถผ่านพ้นไปได้ SOS อาจจะไม่ใช่การส่งสัญญาณ alert เรียกร้องให้ทุกคนเข้าหาตัวเธอแบบปัจจุบันทันด่วน ช่วยเหลือให้ได้ปุบปับ การเป็นผู้ฟังไปก็แค่นั้นที่ช่วยได้ เพราะสุดท้ายแล้วความทุกข์ที่กักเก็บจะถูกระบายโดยที่ไม่ถูกขวางลำด้วยการตัดสินอะไรมากมาย มันจะมีจุดที่คิดได้อัตโนมัติในแง่ของความไม่ตลอดไป
ไม่มีสุขตลอด ไม่มีทุกข์ตลอดเช่นกัน
Top Tracks : SOS, Kill Bill, Seek & Destroy, Low, Blind, Used, Snooze, Gone Girl, Smoking on my Ex Pack, Nobody Gets Me, Special, Too Late, Open Arms, I Hate U, Good Days, Forgiveless
Give 8/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา