18 ม.ค. 2023 เวลา 00:05 • ธุรกิจ

แนวทางการนำระบบ QSHE มาปฏิบัติ

1. การศึกษาความเข้าใจหลักการและข้อกำหนดของระบบคุณภาพ (ISO9001:2015) ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม(ISO14001:2015) และระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย(ISO 45001:2018) รวมทั้งมาตรฐานอื่นๆ ที่สนับสนุนต่อการจัดทำระบบ QSHE เช่น มาตรฐานแรงงานไทยหรือ SA 8000 โดยองค์การจะต้องศึกษาข้อกำหนดทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง
โดยหลักการนี้ทางองค์การที่ต้องการนำระบบ QSHE ไปปฏิบัตินั้นควรจัดให้มีการฝึกอบรมความรู้ ความเข้าใจข้อกำหนด และแนวปฏิบัติที่จำเป็นต่อการจัดทำระบบ เช่น การประเมินความเสี่ยง การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ รวมทั้งการศึกษาการสืบค้นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. การกำหนดนโยบายและวัตถุประสงค์ QSHE
นโยบายด้าน QSHE นั้นต้องเป็นนโยบายที่สะท้อนภาพรวมของความมุ่งมั่นในการนำระบบ QSHE มาปฏิบัติครอบคลุมทุกๆด้าน และการกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อวัดความมีประสิทธิผลและผลสำเร็จของระบบ QSHE โดยการวัดผลนั้นควรครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ การป้องกันมลพิษ การป้องกันอุบัติเหตุ การวัดผลกระทบด้านสุขภาพ การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
3. การทบทวนหา Gap จากระบบการจัดการในปัจจุบัน
การทบทวน Gap หมายถึงการวัดแนวทางการปฏิบัติและระบบขององค์การในปัจจุบันที่มีต่อระบบ QSHE ที่จะต้องดำเนินการเพิ่มขึ้น โดยวิธีการนี้สามารถทำได้โดยการศึกษาข้อกำหนด การใช้ระบบการตรวจติดตามภายในโดยผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจข้อกำหนด QSHE และการจัดทำรายงานสิ่งที่องค์การยังมีระบบไม่สอดคล้องกับระบบ QSHE เพื่อเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงระบบเอกสารต่อไป
4. การกำหนดการปรับปรุงระบบเอกสาร
องค์การควรแต่งตั้งทีมงานในการจัดทำเอกสาร ระเบียบปฏิบัติเพิ่มเติมขึ้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่องค์การมีระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001:2015 เป็นพื้นฐาน เมื่อองค์การต้องการจัดทำระบบ QSHE องค์การจะต้องมีการศึกษาและจัดทำระเบียบปฏิบัติตามระบบ QSHE โดยใช้พื้นฐานของมาตรฐาน ISO 14001:2015 หรือ ISO 45001
โดยองค์การจะต้องจัดทำระบบการประเมินความเสี่ยงด้านอุบัติเหตุ ผลกระทบด้านสุขภาพจากการทำงาน ระบบการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
การจัดทำเอกสารทะเบียนกฏหมายที่เกี่ยวข้อง การค้นหาสืบค้นและศึกษาสาระที่สำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการจัดทำมาตรการควบคุมความเสี่ยง การจัดทำโครงการปรับปรุงด้านต่างๆเป็นต้น
5. การฝึกอบรมและนำระบบที่กำหนดขึ้นไปปฏิบัติ
เมื่อได้มีการจัดทำระบบเอกสารเรียบร้อยแล้ว ควรจัดให้มีการฝึกอบรมความเข้าใจในระเบียบปฏิบัติที่เกิดขึ้น เพื่อความสำเร็จของการนำระบบ QSHE มาปฏิบัติ และเมื่ออบรมทำความเข้าใจแล้ว
ควรดำเนินการปฏิบัติตามระบบที่กำหนด เช่น การบันทึกผลการควบคุมการปฏิบัติการ (Control of operation) การปฏิบัติตามข้อกำหนดทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการวัดผลด้านผลสำเร็จตามค่าวัตถุประสงค์และเป้าหมายของ QSHE ที่กำหนด และนำไปปฏิบัติการแก้ไขและป้องกันเมื่อไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อกำหนด
6. การตรวจติดตามภายใน การตรวจประเมินภายในจะช่วยให้องค์การมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องโดยการค้นหาสืบค้นสิ่งที่ยังไม่สอดคล้องกับข้อกำหนด และดำเนินการปฏิบัติการแก้ไขและป้องกันการเกิดซ้ำ และเพื่อหาโอกาสในการปรับปรุง
การทำระบบ QSHE นั้นองค์การควรมีการเตรียมพร้อมด้านทีมผู้ตรวจประเมินที่มีความรู้ ความเข้าใจในข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติตามระบบ QSHE และมีการเตรียมพร้อมในการตรวจประเมิน การจัดทำบันทึกผลการตรวจประเมิน และมีการปฏิบัติการแก้ไขและป้องกันสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจประเมิน รวมทั้งการติดตามความมีประสิทธิผลของแนวทางการปฏิบัติการแก้ไข
7. การทบทวนโดยฝ่ายบริหาร องค์การควรจัดให้มีการประชุมทบทวนโดยฝ่ายบริหาร เพื่อทวนสอบความมีประสิทธิผลของการนำระบบ QSHE มาปฏิบัติ
โฆษณา