16 ม.ค. 2023 เวลา 04:30 • ข่าว

บัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) ใช้แทนบัตรจริงได้ ตั้งแต่ 10 ม.ค.66

โฆษกรัฐบาล ย้ำ บัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) ใช้แทนบัตรจริงได้ ตั้งแต่ 10 ม.ค.66 ตามนโยบายนายกฯ ผลักดันรัฐบาลดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม อำนวยความสะดวกเพิ่มเติมให้ประชาชน สอดคล้องสังคมยุคใหม่
วันที่ 16 ม.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นกฎหมายกลางส่งเสริมให้การบริการของภาครัฐใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
โดยบางส่วนของกฎหมายมีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 65 และบางส่วนมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 เป็นต้นไป ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการเพื่อรับโดยต่อเนื่องนั้น
ขณะนี้มาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นประชาชนสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน แทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้
1
“พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ซึ่งมีผลบังคับทั้งฉบับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ผลักดันเรื่องรัฐบาลดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่
รวมทั้งเป็นไปตามการปฏิรูปประเทศด้านการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ให้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อบริการสาธารณะและอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมให้แก่ประชาชน
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการผลักดันเทคโนโลยี Digital ID มาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีการใช้งานจริงในปัจจุบัน อีกทั้งบริการจากภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ต่างก็ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี Digital ID ขึ้นมา
เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และมั่นคงปลอดภัย ในขณะเดียวกัน Digital ID ก็นำไปใช้ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อทำธุรกรรมอื่นๆ ได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น” นายอนุชา กล่าว
นายอนุชา กล่าวย้ำว่า บัตรประจำตัวประชาชน เป็นเอกสารสำคัญที่ทุกคนต้องพกติดตัวไว้ควบคู่กับบัตรต่างๆ เพื่อใช้ในการติดต่อทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ใช้พิสูจน์และยืนยันสถานะของตัวบุคคลเมื่อต้องทำธุรกรรมหรือนิติกรรมต่างๆ ใช้ยืนยันสถานภาพการเป็นคนไทยของตัวบุคคลตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ตามกฎหมายแล้วความผิดเกี่ยวกับบัตรประชาชนเป็นเรื่องของความมั่นคง หากถูกเรียกตรวจสอบจากเจ้าพนักงานตรวจบัตรที่สามารถขอตรวจได้ตามกฎหมาย แล้วไม่มียื่นให้ตรวจสอบ จะมีความผิดที่ต้องได้รับเป็นโทษปรับได้
แต่นับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 ประชาชนสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน แทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
1
และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้ ประชาชนสามารถออกจากบ้านโดยพกโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว โดยไม่ต้องพกบัตรประจำตัวประชาชน
ทั้งนี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ DOPA-Digital ID เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนใช้บริการเพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการต่างๆ ที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน
โดยผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ID สามารถดำเนินการได้ ดังนี้
1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “D.DOPA” ของกรมการปกครอง ลงในโทรศัพท์มือถือก่อนเข้ารับบริการลงทะเบียน ซึ่งรองรับทั้งระบบไอโอเอส (IOS) และระบบแอนดรอยด์ (Android)
2. ผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียน
3. เปิดแอปพลิเคชัน D.DOPA พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของเครื่องมือ ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักให้ถูกต้อง
4. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียนแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล (D.DOPA)
5. ทำการสแกนคิวอาร์โค้ดในแอปพลิเคชัน
6. ระบบแจ้งเตือนให้ตั้งค่ารหัสผ่าน โดยทั้ง 2 ครั้งต้องเหมือนกัน
7. เมื่อระบุครั้งที่ 2 ถูกต้อง ระบบแจ้งเตือนขอยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่ออัปโหลดข้อมูลลงในแอปพลิเคชันมือถือของตน
8. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงสถานะการสมัครสำเร็จ
ภายหลังลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องติดต่อรับบริการจากหน่วยงานรัฐ หรือมีเจ้าพนักงานเรียกตรวจบัตรประชาชนในกรณีต่างๆ ประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟนที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้วข้างต้นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่เรียกตรวจแทนการใช้บัตรประชาชนได้
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คาดว่าในปี 2566 จะมีประชาชนใช้ Digital ID แทนบัตรประจำตัวประชาชนประมาณ 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังกรมการปกครองได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนทั้งหมดไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์
โฆษณา