19 ม.ค. 2023 เวลา 00:02 • หนังสือ

ยอมรับคำชมจากคนอื่นบ้าง อย่าถ่อมตัวจนไม่แฟร์กับตัวเอง

มีคนบอกว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ คือมนุษย์มี “จินตนาการ” และสามารถสร้างเรื่องเล่าเพื่อเชื่อมโยงผู้คนให้เชื่อในบางสิ่งเหมือนกัน จนนำไปสู่ความร่วมมือในระดับก่อสงครามได้ (เช่น สงครามครูเสด)
นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราหมกมุ่นกับการสื่อสารกับคนอื่นมาก จะทำยังไงให้คนอื่นเชื่อเรา ให้คนอื่นพอใจ ให้คนอื่นชอบเรา และอีกสารพัดหัวข้อในใจ แต่สิ่งที่หลายคนไม่ค่อยพูดถึงเท่าไรก็คือการ “สื่อสารกับตัวเอง” ครับ
ในหนังสือ “แค่สนิทกับตัวเองให้เป็น” เขียนโดย คิดมาก บอกว่า หลายคนมักเข้าใจว่าการคุยกับตัวเองเป็นเรื่องแปลก (หรือบางคนอาจมองว่าบ้าได้เลย) แต่ถ้าคิดดูดี ๆ ในชีวิตประจำวันเราก็คุยกับตัวเองเป็นประจำเหมือนกันนะ
จริง ๆ แล้วมันคือช่วงที่เราใช้ความคิดอยู่กับตัวเอง หรือบทสนทนาที่มีกับตัวเองนั่นแหล่ะครับ เช่น ในวันที่รถติดเราอาจคิดในใจว่า “ทำไมรถติดแบบนี้ เราจะไปทำงานทันไหม” หรือในวันที่เราผิดหวังกับชีวิต เราอาจคิดในใจว่า “ทำไมเราถึงแย่ขนาดนี้ ไม่เก่งเหมือนคนอื่นเลย”
ประเด็นคือ หากเราได้ยินเสียงในความคิดของตัวเองแบบนี้บ่อย ๆ สมองก็จะเริ่มเชื่อคำพูดเหล่านั้นขึ้นมาจริง ๆ ครับ ผมคิดว่านี่เป็นสาเหตุที่คนคิดลบ แล้วก็เอาแต่มองหาเรื่องแย่ ๆ ในทุกสถานการณ์ เลยมักจะค่อย ๆ กลายเป็นคนขี้บ่น จุกจิก และไม่มีใครอยากเข้าใกล้ เพราะ (สมอง) เขาเชื่อว่าชีวิตมันแย่ไปหมด และก็เช่นเดียวกับคนคิดบวกที่มองหาเรื่องดี ๆ ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เสมอ
มันคงแย่น่าดู ถ้าเราเอาแต่พูดกับตัวเองว่า “ฉันมันห่วย” “ฉันไม่ได้เรื่อง” หรือ “ฉันไม่ควรได้รับสิ่งดี ๆ” (ซึ่งผมเป็นบ่อย) แล้วสมองเราก็ดันเชื่อความคิดเหล่านี้ขึ้นมาจริง ๆ ด้วย
ดังนั้นถ้าหากทฤษฏีนี้เป็นจริง ผู้เขียนแนะนำว่าต่อไปนี้หากเราจะใช้ความคิดแบบไหนกับตัวเอง หรือพูดอะไรกับตัวเอง “จงใช้ความคิดและคำพูดที่ดีเสมอ” เพราะเราควบคุมคำพูดที่ออกจากปากคนอื่นไม่ได้ แต่เราเลือกได้ว่าจะคิดกับตัวเองแบบไหน และสนทนากับตัวเองอย่างไร ซึ่งนั่นต่างหากที่สำคัญกว่าครับ
นอกจากคำแนะนำดังกล่าวแล้ว ผมคิดว่ายังมีอีกสิ่งนึงที่เราสามารถทำควบคู่กันไปด้วยได้ นั่นก็คือ “ยอมรับคำชมจากคนอื่นบ้าง อย่าถ่อมตัวจนไม่แฟร์กับตัวเอง” เพราะแม้เราจะควบคุมสิ่งที่คนอื่นพูดไม่ได้ แต่หากเขาเลือกจะพูดสิ่งดี ๆ ถึงเรา เราก็สามารถที่จะรับเอาไว้ได้ ในทางกลับกัน หากเราเอาแต่ปฏิเสธสิ่งดี ๆ เสียหมด บางทีมันอาจไม่ได้ทำให้เราดูดีอย่างที่คิด แต่มันออกจะน่ารำคาญด้วยซ้ำ
ตัวอย่างเช่น แม้ผมจะเป็นคนที่ไม่ค่อยได้รับคำชมจากใครนัก แต่พอมีคนชมเมื่อไรผมก็จะตอบกลับไปเสมอว่า “โอ้ย ไม่หรอกครับ ไม่ได้ครึ่งคุณหรอกครับ”
มีครั้งนึงที่เจ้านายคนนึงของผมบังเอิญกลับมาร่วมงานกันสั้น ๆ อีกครั้ง แล้วเขาก็กล่าวชม ซึ่งผมก็ตอบไปแบบเดิมครับ “โอ้ย ไม่หรอกครับ” เจ้านายคนนั้นเลยตอบกลับมาว่า “มึ*นี่เหมือนเดิมเลยจริง ๆ นะ” ก่อนจะเดินจากไป
แม้นี่จะไม่ใช่คำด่าหรือต่อว่าอะไร แต่ผมกลับมานั่งคิดกับตัวเองครับว่า นี่คนอื่นเขาไม่ได้มองว่าผมเป็นคนถ่อมตัวหรอกนะ บางทีเขาอาจจะรำคาญเสียด้วยซ้ำ
ตั้งแต่นั้นมาผมเลยเปลี่ยนจากคำปฏิเสธมาเป็นคำว่า “ขอบคุณครับ” แทน ซึ่งก็ดีทั้งกับตัวคนชม แล้วก็ดีทั้งกับจิตใจของผมเองด้วยครับ
โดยสรุปแล้ว แม้การถ่อมตัวจะเป็นเรื่องดี แต่อย่าถ่อมตัวจนล้ำเส้นตัวเองเกินไป ใคร ๆ ก็ชอบคำชมครับ ลองอนุญาตให้ตัวเองได้รับความปิติยินดีเหมือนคนอื่นเขาบ้าง
ชื่อหนังสือ: แค่สนิทกับตัวเองให้เป็น #แค่สนิทกับตัวเองให้เป็น
ชื่อสำนักพิมพ์: Springbooks
#igotthisfromthatbook #ฉันได้สิ่งนี้จากหนังสือเล่มนั้น
โฆษณา