17 ม.ค. 2023 เวลา 05:17 • การเมือง

รัฐไทยกับ ‘Social Tracking’ เมื่อองค์กรรัฐไม่ได้ฟังเสียงประชาชนเพื่อปรับปรุง

ความคิดเห็น ความต้องการ ทัศนะ มุมมองความคิด หรือทิศทางของกระแสประชามตินั้นเป็นสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กรภาคธุรกิจและประชาสังคมต่าง ๆ ล้วนต้องการรับรู้เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการพัฒนาสินค้าและบริการของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ตอบสนองตรงตามความต้องการของลูกค้า หรือกลบจุดอ่อนทางธุรกิจ (Pain point) ไปได้
ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่ใช้ Social Listening ในการได้มาซึ่งข้อมูลสำหรับพัฒนาองค์กร องค์กรของรัฐเองก็สามารถใช้การฟังเสียงจากสังคมได้ด้วยเหมือนกัน โดยใช้ในการสำรวจความคิด ความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อนโยบายโดยภาครัฐ ข้อมูลเหล่านี้ก็จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อพัฒนานโยบาย อีกทั้งประชาชนทั่วไปก็ยังสามารถร่วมพูดคุยกับนักการเมือง หน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนจากองค์กรรัฐต่าง ๆ ได้อีกด้วย คล้ายคลึงกับ
ตัวอย่างของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่คอยตอบคอมเมนท์หรือตอบคำถามของประชาชนในโพสต์ Facebook หรือวิดีโอถ่ายทอดสด หรือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เข้ามาร่วมพูดคุยประชาชนใน Twitter ผ่านการทวีตข้อความ ตอบกลับ และร่วมทวีตแฮชแท็กต่าง ๆ ร่วมกับประชาชนเป็นประจำ
ยังมีวิธีการที่คล้ายกันกับ Social Listening คือ ‘Social Monitoring’ โดยเป็นการติดตาม เฝ้าระวังผลกระทบของการกล่าวถึงองค์กรหรือแบรนด์โดยลูกค้าทั้งในแง่บวกและลบบน Social media ซึ่งทางองค์กรก็จะมีการดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าไว้ เช่น ข้อความตอบกลับ หรือคำแนะนำในการแก้ไข และจะติดตามเพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาปรับปรุงพัฒนาสินค้าและบริการหรือตัวองค์กรให้ดีขึ้น ซึ่งองค์กรก็จะใช้ทั้ง Social listening และ Social monitoring ควบคู่กันไป
ทว่า…เมื่อในฝั่งของรัฐบาลไทยนั้น นำทั้งวิธีการ Social listening และ Social monitoring มาใช้ กลับกลายเป็นว่า น้อยครั้งที่จะนำไปปรับปรุงและพัฒนานโยบายต่าง ๆ ให้ออกมาตรงกับความต้องการของประชาชน หรือมีเพียงกล่าวถึงในการประชุมสภา แต่แล้วก็ถูกปัดตกไปในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นคือ การที่ประชาชนไม่ไว้วางใจในความเป็นส่วนตัวของตนเองในแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียเพราะเกรงกลัวว่าจะมีการเฝ้าติดตามและจับตาดูความเคลื่อนไหวของตนจากภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถแสดงความคิดอะไรเกี่ยวกับรัฐได้อย่างเต็มที่
การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบนโลกออนไลน์ที่ต้องแลกมาด้วยความปลอดภัย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สถานการณ์การเมืองการปกครองของไทยกลับมาปะทุและเกิดเป็นประเด็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในพื้นที่ต่าง ๆ ที่จัดเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประชาชนทั่วไปแม้แต่เยาวชนเองก็ได้มีความตระหนักรู้ด้านการเมืองมากยิ่งขึ้นและพร้อมใจกันออกมาร่วมเรียกร้องและแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สำคัญนอกเหนือจากการชุมนุมแล้ว การแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และการเรียกร้องของประชาชนจากรัฐบาล หรือการรณรงค์ทางการเมืองผ่าน Social media ก็มีมากยิ่งขึ้นและแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจาก Social media เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย และเป็นพื้นที่สาธารณะ (Public sphere) ในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แต่กลับกลายเป็นว่าประชาชนทั่วไปกลับเริ่มรู้สึกกังวลการแสดงความคิดเห็น เพียงเพราะไม่ไว้วางใจในรัฐบาล กลัวว่าจะถูกดำเนินคดีได้
มีกรณีตัวอย่างจากนักศึกษาคนหนึ่งที่ถูกจับและสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 นาย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ในปี 2564 โดยได้รับโทษว่าทวีตข้อความเกี่ยวกับรัฐบาลและราชวงศ์ไทย โดยข้อความหนึ่งถูกรีทวีตถึง 60,000 ครั้ง ก่อนที่บัญชีดังกล่าวจะถูกลบไป และนักศึกษายังทวีตทิ้งท้ายอีกว่า
“อยากเตือนคนที่ผ่านมาอ่านทวิตหรือรีอะไร คิดดีๆ ก่อนนะ ระวังตัวด้วย มันมีคนจับตาดูอยู่จริงๆ”
นักศึกษาคนที่ถูกดำเนินคดีในโทษพาดพิงราชวงศ์ไทย
การคุกคามและแฝงตัวจากรัฐบาล: เมื่อรัฐเข้ามาร่วมมีตัวตนและบทบาทใน พื้นที่ออนไลน์
ช่วงปีที่ผ่านมา ประชาชนในโลกออนไลน์เริ่มจับสังเกตได้ถึงการแฝงตัวเข้ามาสอดส่อง ดูแล ของรัฐบนพื้นที่ออนไลน์ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่เป็นนักเคลื่อนไหวหรือนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุกคามจากบัญชีผู้ใช้ที่ไม่สามารถระบุตัวตนจากการส่งคำขอร้องเป็นเพื่อนในบัญชี Facebook หรือการติดตามในบัญชี Twitter
โดยจะใช้วิธีส่งลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซด์ที่ปลอมแปลงขึ้นเพื่อล่อลวงให้กรอกข้อมูลส่วนตัว (phishing link) การส่งข้อความส่วนตัว การตอบกลับ หรือแสดงความคิดเห็นในโพสต์หรือรูปภาพในลักษณะการคุกคาม ด่าทอด้วยคำหยาบคาย หรือการใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง (Hate Speech) รวมถึงการใช้ปฏิบัติการสารสนเทศจากฝ่ายรัฐ (Information Operation – IO)
ปี 2561 รัฐบาลได้เตรียมการรับมือสงครามไซเบอร์โดยการผลักดันนโยบาย ‘ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก’ แต่กลับถูกตรวจสอบและค้นพบว่าเป็นการใช้สอดส่องดูแลช่องทางออนไลน์และการสื่อสารของประชาชนที่เป็นนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือผู้ที่แสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาล อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลยังใช้ปฏิบัติการสารสนเทศในการปล่อยข่าวปลอม (Fake News) เพื่อโจมตีนักกิจกรรมหรือผู้ต่อต้านฝ่ายรัฐบาลไปพร้อมกับการดำเนินคดีกับผู้ที่พยายามแสดงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
Social Tracking: เมื่อมีผู้มีต่อต้านและเห็นต่าง รัฐจึงต้องเฝ้าติดตาม
นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประทำงานภาคประชาสังคมและแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลล้วนถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและถูกเฝ้าติดตาม โดยรัฐก็มีกฎหมายหลายฉบับที่สามารถใช้อำนาจในการสอดส่องข้อมูลประชาชนทางดิจิทัลได้มากมาย ได้แก่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2560 พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ และพ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ
ช่วงการชุมนุมทางการเมืองในปี 2563 – 2564 นักกิจกรรมอย่างน้อย 4 คน ได้แก่ ปิยรัฐ จงเทพ, ศรีไพร นนทรีย์, พรรณิการ์ วานิช, และรถของสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า พบถูกติดเครื่องติดตามระบบ GPS ในรถยนต์ส่วนตัว เดือนสิงหาคม 2564 มีการเปิดเผยเอกสารของราชการซึ่งเป็นรายชื่อของบุคคล 183 คน ที่รัฐบาลเฝ้าติดตาม ในรายชื่อดังกล่าวปรากฎรายชื่อของนักกิจกรรม นักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน และคนทำงานในภาคประชาสังคม เช่น ทนายอานนท์ นำภา, รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และปิยรัฐ จงเทพ
ในเดือนมิถุนายน 2565 มีการเปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติติดตามสอดส่องและรวบรวมข้อมูลความเคลื่อนไหวของ รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย เจ้าของเพจ ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador โดยระบุว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลเชิงลบโจมตีรัฐบาล และการตรวจสอบจับตาดังกล่าวจะนำไปใช้ทำ IO ต่อไป
ปิดกั้นเสรีภาพและละเมิดสิทธิมนุษยชน: ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ?
สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ถือเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยทุกคนพึงมี แต่กลับกันนั้น สิ่งที่รัฐไทยกำลังพยายามกระทำคือการลิดรอนสิทธิ์เหล่านั้นและใช้ทั้งกฎหมาย เทคโนโลยี และอำนาจที่มีอยู่ในการปิดกั้นเสรีภาพทุกอย่างไป อีกทั้งยังคุกคาม รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้เห็นต่างจากฝ่ายรัฐ การกระทำเหล่านี้ของรัฐก็อาจไม่ต่างไปจากระบบของ ‘เผด็จการ’ เท่าไรนัก
รัฐไทยปฏิบัติเสมือนว่าประชาชนผู้เห็นต่างนั้นเป็น ‘อาชญากรรมทางความคิด’ (Thoughtcrime) อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องมีการจำกัด สอดส่องดูแล ติดตาม หรือดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงจุดยืนต่อต้าน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการกระบวนการปราบปรามทางการเมือง (Political Repression) ที่รัฐนำมาใช้กับผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว จึงเห็นความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้นไปอีกว่า “รัฐไทยไม่ได้ฟังความเห็นประชาชนเพื่อปรับปรุงแต่ฟังเพื่อปราบปราม…”
รายการอ้างอิง
Amnesty Thailand. (n.d.). สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์. Amnesty International. Retrieved December 27, 2022, from https://www.amnesty.or.th/our-work/onlinefreedom/
Amnesty Thailand. (n.d.). เสรีภาพการแสดงออกออนไลน์ : สังคมเดินหน้าต่อไม่ได้หากรัฐผูกขาด 'ความจริง'. Amnesty International. Retrieved December 27, 2022, from https://www.amnesty.or.th/latest/news/790/
Ilaw-freedom. (2565). รัฐบาลไทย เจาะมือถือด้วย Pegasus จริงเหรอ??. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก https://freedom.ilaw.or.th/node/1092
WISESIGHT. (2565). Social Listening คืออะไร ใช้ประโยชน์อย่างไร รู้ครบจบในที่เดียว. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก https://wisesight.com/news/blog/what-is-social-listening/
วิชญาดา อำพนกิจวิวัฒน์. (2564). การปิดกั้นของรัฐ: กระทรวงความจริงแห่งประเทศไทยในศตวรรษที่ 21. [ออนไลน์]. The Momentum. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2565. เข้าถึงได้จาก https://themomentum.co/ruleoflaw-minitrue/
โฆษณา