17 ม.ค. 2023 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อหนี้สาธารณะสหรัฐฯ อาจทะลุเพดานภายในวันพฤหัสบดีนี้

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศสูงที่สุดในโลก เพราะใครๆ ต่างยอมให้สหรัฐกู้เงินเนื่องจากความเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่จะไม่มีวันผิดนัดชำระหนี้ แต่ความคิดเหล่านั้นจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เมื่อตอนนี้หนี้สหรัฐฯ ใกล้จะทะลุเพดานแล้ว..
นักเศรษฐศาสตร์ และนักการเมือง ก็ได้ออกมาเตือนถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายหากสหรัฐฯ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ อันประกอบไปด้วย การที่กลไกพื้นฐานของรัฐบาลไม่สามารถทำงานได้ ระบบสาธารณสุขที่สั่นคลอน และวิกฤติทางการเงินที่ฝังรากลึก
ทำให้ความคิดที่จะขยายเพดานหนี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอีกครั้ง…
📌 เพดานหนี้ คืออะไร?
เพดานหนี้ (Debt Ceiling) คือ จำนวนสูงสุดที่รัฐบาลสามารถกู้เงินเพื่อใช้จ่ายตามที่ตั้งงบประมาณไว้ได้ และเนื่องจากสหรัฐฯ ตั้งงบประมาณแบบขาดดุล นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลจะใช้จ่ายมากกว่าภาษีและรายได้อื่นๆ ที่รัฐเก็บได้ รัฐบาลจึงต้องกู้เงินมหาศาลเพื่อมาชำระหนี้ต่างๆ เช่น เงินสำหรับโครงการช่วยเหลือทางสังคม และสวัสดิการสาธารณสุข, ดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะ และเงินเดือนสำหรับกองกำลังต่างๆ
ซึ่งในครั้งล่าสุดที่มีการปรับเพดานหนี้ หลังจากที่มีการถกเถียงกันอย่างยาวนานในช่วงปลายปี 2021 ในที่สุดสภาคองเกรสก็ได้ตกลงที่จะขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
📌 หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ จะทะลุเพดานเมื่อไหร่?
1
คุณเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนสภาคองเกรสเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า หนี้สหรัฐฯ กำลังจะทะลุเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (19 ม.ค.)
และเรียกร้องให้มีการขยายเพดานหนี้ ในขณะเดียวกันกระทรวงการคลังก็จะพยายามใช้มาตรการบริหารเงินพิเศษหากยังไม่มีการขยายเพดานหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งคาดว่าจะยื้อไปได้จนถึงต้นเดือนมิถุนายน เท่ากับว่าสหรัฐฯ เหลือเวลาอีกไม่นานเท่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนักเคยคาดการณ์เอาไว้ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นก่อนช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2023
📌 หากหนี้สาธารณะทะลุเพดาน จะเกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐฯ ?
ยิ่งประเทศเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้มากเท่าไหร่ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจก็มากขึ้นเท่านั้น
ถ้าย้อนกลับไปในปี 2011 อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ขับเคี่ยวกับพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรส เรื่องของการใช้จ่ายและหนี้สาธารณะจนสร้างปัญหายืดเยื้อ กว่าที่จะมีการขยายเพดานหนี้ให้ทันเวลาเพื่อไม่ให้ทะลุเพดาน ก็ก่อให้เกิดความสั่นคลอนทั้งกับนักลงทุน ผู้บริโภค และเจ้าของธุรกิจ จากผลกระทบที่ตามมาหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น
หุ้นตก และเกิดความผันผวนในตลาดในช่วงที่หนี้ใกล้ทะลุเพดานเป็นเวลากว่าครึ่งปี
ต้นทุนการกู้ยืมเงิน ซึ่งผันผวนไปตามระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับรู้ ถูกปรับสูงขึ้นอย่างมาก นั่นหมายถึงว่าภาคธุรกิจที่ต้องการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนอะไรใหม่ๆ ก็จะเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ดอกเบี้ยกู้บ้านก็สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ที่จะซื้อบ้านเช่นกัน
ทางด้านบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ถึงขนาดปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก
ทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และมุมมองเชิงบวกของธุรกิจขนาดเล็กในเวลานั้น ก็ตกต่ำเช่นกัน
สถานการณ์เลวร้ายเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เพิ่มปัญหาให้กับรัฐในการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งทำเนียบขาวได้ประมาณว่าจะคิดเป็นกว่า 2.6% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลอดทั้งทศวรรษ และจะยิ่งบีบงบประมาณของรัฐบาลกลางเข้าไปอีก นอกจากนี้ยังทำให้ตลาดตราสารหนี้สั่นคลอนทั่วโลก เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุดในโลก
ยิ่งไปกว่านั้น อาจจะไปทำลายการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแออยู่แล้ว และรัฐบาลอาจจำเป็นต้องดึงการใช้จ่ายจำนวนมากออกจากระบบเศรษฐกิจในชั่วข้ามคืนหากหนี้ทะลุเพดาน เช่น เลือกที่จะไม่จ่ายเงินช่วยเหลือสวัสดิการสังคม เงินเดือนพนักงานรัฐ ผู้ถือพันธบัตร และอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสียหายไปกว่า 1 ใน 10 เลยทีเดียว
และจากที่ทาง Democratic think tank ได้ประมาณไว้เมื่อเดือนธันวาคม ว่าการที่หนี้ทะลุเพดาน อาจทำให้คนตกงานกว่า 3 ล้านคน ต้นทุนการกู้บ้านระยะ 30 ปี เพิ่มขึ้นมากว่า 130,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉลี่ย และทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นกว่า 850 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
คุณเยลเลน จึงได้แนะนำให้รัฐบาลชะลอการลงทุนใหม่ๆ ในโครงการ Civil Service Retirement and Disability Fund และ Postal Service Retiree Health Benefits Fund ไปก่อน และชะลอการลงทุนซ้ำใน Treasury securities และเตรียมพร้อมสำหรับในกรณีที่ต้องสำรองเงินสดเอาไว้
นอกจากนี้ เธอยังเรียกร้องให้มีการขยายเพดานหนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะปกป้องความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ เอาไว้ เพราะการละเมิดเพดานหนี้ หรือการผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ชีวิตของคนอเมริกัน และเสถียรภาพทางการเงินของโลกอย่างไม่อาจแก้ไขได้…
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา