Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
จิตวิทยาแมวส้ม
•
ติดตาม
19 ม.ค. 2023 เวลา 01:30 • ปรัชญา
มอง “ศาสนา” ด้วยจิตวิทยา
🔸 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ศาสนา” หมายถึง ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์ อันมีหลัก คือ แสดงกำเนิดและความสิ้นสุดของโลก เป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทำตามความเห็นหรือตามคำสั่งสอนในความเชื่อถือนั้น ๆ
🔸 ถ้าท่านยังงงในความหมายข้างต้น แมวส้มขอสรุปความหมายตามความเข้าใจว่า “ศาสนา” หมายถึง ลัทธิความเชื่อของมนุษย์ เกี่ยวกับการกำเนิดของโลก การสิ้นสุดของโลก หลักศีลธรรมต่าง ๆ และลัทธิพิธีที่กระทำตามความเชื่อ
🔸 ในบทความนี้จะไม่ได้กล่าวถึงศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่จะกล่าวถึงกลุ่มความเชื่อตามนิยามของคำว่าศาสนาโดยรวม และบทความนี้ไม่ได้เขียนเพื่อลบหลู่ความเชื่อของท่านแต่อย่างใด แต่เขียนขึ้นมาเพื่อเสนอมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นความเชื่อกระแสหลักในปัจจุบัน ว่าศาสนาส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมความคิด และความรู้สึก ของมนุษย์อย่างไรบ้าง
++++++++ศาสนาส่งผลต่อพฤติกรรมอย่างไร++++++++
🔸 ศาสนาหลักของโลกทุกศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับพฤติกรรมทางศีลธรรม ถึงแม้พฤติกรรมที่พึงประสงค์ของแต่ละศาสนาจะแตกต่างกัน ผู้คนจึงติดภาพจำว่าการนับถือศาสนาจะทำให้คนเรามีศิลธรรม ใจบุญสุนทาน แต่ผลการศึกษาของ ฌอง ดิซิที (Jean Decety) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) และทีมวิจัย กลับขัดแย้งกับความเชื่อของคนทั่วไป
ฌอง ดิซิที (Jean Decety)
🔸 ทำการศึกษากับเด็กอายุระหว่าง 5 ถึง 12 ปี จำนวน 1170 คน ที่เติบโตมาจากครอบครัวที่เคร่งศาสนาและไม่นับถือศาสนาจากภูมิลำเนาที่แตกต่างกัน ทั้งแคนาดา สหรัฐฯ จีน อินเดีย จอร์แดน ตุรกี เซาท์แอฟริกา โดยเด็กที่ถูกศึกษาจะได้เลือกสติ๊กเกอร์ที่ตัวเองชอบ 10 ใบ และเปิดโอกาสให้เด็กสามารถแบ่งให้เด็กคนอื่นที่ไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมการทดลองได้ ผลการศึกษาพบว่าเด็กจากครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนาแบ่งสติ๊กเกอร์ให้เด็กคนอื่นปริมาณเฉลี่ยถึง 4.1 ใบ ขณะที่เด็กจะครอบครัวที่เคร่งศาสนาแบ่งติ๊กเกอร์ให้คนอื่นเพียง 3.3 ใบ
🔸 การทดลองนี้ทำให้ทราบว่าการทำดีในลักษณะของการใจบุญสุนทาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเด็กกลุ่มที่เติบโตในครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนามีมากกว่าเด็กเติบโตมาจากครอบครัวที่เคร่งศาสนา แต่ทั้งนี้ประเทศที่เกิดก็ถือเป็นตัวแปรแทรกซ้อนที่ทำให้เด็กๆมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แตกต่างกัน
🔸 การศึกษาที่โด่งดังครั้งหนึ่งคือ การศึกษาชาวสะมาเรียใจดี (Good Samaritan Study) ในปี ค.ศ. 1973 โดย จอห์น ดาร์เลย์ และ ดาเนียล แบทสัน (John Darley and Daniel Batson) จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ได้ทำการทดลองกับนักเรียนศาสนา 67 คน ผู้เข้าร่วมได้รับแจ้งว่าต้องเตรียมคำบรรยายสั้น ๆ เกี่ยวกับชาวสะมาเรียผู้ใจดีจากพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนแปลกหน้า
Good Samaritan Study
🔸 ดำเนินการทดลองโดยสร้างสถานการณ์ให้มีคนแปลกหน้าที่ดูเจ็บป่วยล้มในตรอก ซึ่งดูจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ และสังเกตว่ากลุ่มตัวอย่างที่แตกต่างกันมีผลต่อการยื่นมือเข้าช่วยเหลือหรือไม่ ผลการศึกษาพบว่า การนับถือศาสนาไม่ว่าจะเป็นการนับถือโดยเข้าถึงแก่นของศาสนาอย่างแท้จริง หรือการนับถือและปฏิบัติตามคำสอนเพราะมีเหตุผลภายนอก เช่นอยากขึ้นสวรรค์ นั้นไม่ได้ส่งผลให้บุคคลช่วยเหลือผู้อื่นมากไปกว่าคนที่ไม่นับถือศาสนา
1
🔸 การทดลองของศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง ที่นำโดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ เพื่อหาว่ามีปัจจัยใดที่ทำให้คนไทยโกงบ้าง โดยให้ผู้ถูกทดลองทำการโยนลูกเต๋าและให้รายงานว่าได้หน้าลูกเต๋าตรงกับเลขที่กำหนดในกระดาษหรือไม่ ถ้าหากตรงก็จะได้ค่าตอบแทนตามสัดส่วนที่ตอบโยนถูก โดยให้ผู้ถูกทดลองโยนลูกเต๋าตามลำพังไม่มีผู้สังเกตเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกทดลองสามารถโกงได้เต็มที่ ในทางสถิติควรจะมีผู้ได้รับรางวัลเพียง 1 ใน 6 ของผู้ถูกทดลอง แต่กลับมีผู้ถูกรางวัลมากกว่าที่ควรจะเป็นเกินเท่าตัว
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์
🔸 จากการทดลองพบว่า ถ้าในสถานที่ทำการทดลองเป็นที่ที่คนพลุกพล่านหรือมีเสียงรอบข้างดัง เช่นริมถนนที่มีเสียงดังจอแจ หรือตอนฝนตกหนัก ผู้ถูกทดลองจะโกงมากกว่าผู้ที่ถูกทดลองในสถานที่เงียบ ๆ และที่น่าประหลาดใจมากกว่าคือกลุ่มผู้ถูกทดลองที่ทำการโกงมากที่สุดคือ ผู้ที่เพิ่งทำบุญใหญ่ที่วัด โดยพวกเขามักอ้างว่า "เพิ่งทำบุญมา จึงโชคดีได้คะแนนเยอะ"
🔸 การเพิ่งทำบุญมาทำให้คนเราอนุญาติให้ตนเองทำชั่ว (Moral Licensing) เพื่อช่วยลบล้างความรู้สึกผิดบาปที่ผู้ถูกทดลองจะโกงคะแนนเพื่อเอาเงินรางวัล ทำให้สะดวกใจที่จะโกงและมีพฤติกรรมการโกงได้ง่ายขึ้น
🔸 ผลการศึกษาของ ธานี ชัยวัฒน์ ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาของ ฟิล ซักเกอร์มัน (Phil Zuckerman) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาและการศึกษาจากวิทยาลัยพิทเซอร์ (Pitzer College) ที่พบว่าคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้ามีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมน้อยกว่าคนทั่วไป
Phil Zuckerman
🔸 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศสวีเดน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเนเธอร์แลนด์ มีสัดส่วนประชากรที่ไม่เชื่อในพระเจ้าและไม่นับถือศาสนาสูง แต่กลับเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงเป็นอันดับต้น ๆ และมีมนุษยธรรมมากที่สุดในโลก ตรงกันข้ามกับประเทศที่เคร่งศาสนา เช่นประเทศจาไมก้า เอลซาวาดอ และโคลัมเบีย ที่มีประชากรที่เคร่งศาสนาจำนวนมาก แต่เป็นประเทศที่มีอัตราการทุจริต และอัตราการก่ออาชญากรรมที่สูงมาก ในสหรัฐอเมริกา
รัฐที่มีความเชื่อในพระเจ้าในระดับสูงสุด เช่น ลุยเซียนา อาร์คันซอ และแอละแบมา มีอัตราการเกิดอาชญากรรมรุนแรงและปัญหาทางสังคมสูงกว่ารัฐที่มีระดับความเชื่อในพระเจ้าต่ำที่สุด เช่น เวอร์มอนต์ แมสซาชูเซตส์ และโอเรกอน
++ ศาสนาส่งผลต่อการคิดและความรู้สึกอย่างไร++
🔸 แม้ผลการศึกษาจากทีมวิจัยของ ฌอง ดิซิที (Jean Decety) ที่เปิดโอกาสให้เด็กแบ่งสติ๊กเกอร์ที่ตนเองชอบให้กับเด็กคนอื่นที่ไม่เข้าร่วมโครงการนั้น ถึงแม้ผลการศึกษาจะพบว่าเด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวที่เคร่งศาสนา มีพฤติกรรมการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่น้อยกว่าเด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนา แต่เมื่อทีมวิจัยให้ผู้ปกครองของเด็กที่เข้าร่วมการทดลองทำการประเมินความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของบุตรหลาน กลับพบผลการประเมินที่สวนทางกับผลการทดลองในขั้นต้น
🔸 ผู้ปกครองของเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่เคร่งศาสนา กลับประเมินว่าบุตรหลานของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สูงมาก ส่วนเผู้ปกครองของเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนากลับประเมินว่าบุตรหลานของตนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด
🔸 แล้วเมื่อทีมวิจัยให้เด็กที่เข้าร่วมการทดลองดูคลิปวีดีโอ รอให้คะแนนว่าตัวละครในคลิปนั้น เลวแค่ไหน และควรถูกลงโทษอย่างไร พบว่าเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่เคร่งศาสนา มองว่าการทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องผิดร้ายแรงและควรถูกลงโทษมากกว่า ตัดสินพฤติกรรมว่าถูกหรือผิด แบบขาวหรือดำ ตามหลักของศาสนาที่นับถือ ส่วนเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่นับถือศาสนานั้นให้คะแนนน้อยกว่าและมักตัดสินถูกผิดแบบเป็นสีเทา
🔸 การศึกษาของ วิล เจอร์เวส์ (Will Gervais) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเคนตักกี้ (University of Kentucky) พบว่าคนส่วนใหญ่ยังมีอคติต่อผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้าเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากการหาเสียงของนักการเมือง วิธีการหาเสียงในโบสถ์หรือศาสนสถานเป็นวิธีการหาเสียงที่มีประสิทธิภาพที่สุด
ในทางตรงข้ามกันถ้าหากว่านักการเมืองแสดงตนว่าไม่เชื่อในพระเจ้า นั้นเปรียบเสมือนการฆ่าตัวตายทางการเมืองเลยทีเดียว เพราะคนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าคนที่นับถือศาสนาจะมีศีลธรรมมากกว่าคนที่ไม่นับถือศาสนา ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
🔸 แดน วิสเนสกี (Dan Wisneski) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์ (Saint Peter's University) และคณะ ได้ศึกษากับผู้ใหญ่ 1,252 คน ที่มาภูมิหลังทางศาสนาและการเมืองต่างกันในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยให้พวกเขาบันทึกการทำที่ดีและไม่ดีที่พวกเขาได้ทำ ได้เห็น ได้เรียนรู้ และที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ตลอดทั้งวัน ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่นับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนามีพฤติกรรมทางศีลธรรมไม่แตกต่างกัน แต่มีการตอบสนองต่อ “ปรากฏการณ์ทางศีลธรรม” แตกต่างกัน
🔸 แม้คนที่เคร่งศาสนาและคนที่ไม่นับถือศาสนาจะมีการทำผิดศีลธรรมในจำนวนและความรุนแรงไม่แตกต่างกัน คนที่เคร่งศาสนามักรู้สึกผิดและอับอายเมื่อตนทำผิดศีลธรรมมากกว่าคนที่นับถือศาสนา มองว่าการกระทำที่ผิดศีลธรรมนั้นสิ่งที่น่ารังเกียจ และถึงแม้คนที่เคร่งศาสนาและไม่นับถือศาสนาจะมีการทำดีในจำนวนและความรุนแรงไม่แตกต่างกัน แต่คนที่เคร่งศาสนาจะรู้สึกภูมิใจในตนเองมากกว่าผู้ที่นับถือศาสนา
🔸 นอกจากนี้คนกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มักเคร่งศาสนา มักบันทึกปรากฏการณ์ทางศีลธรรมที่เกี่ยวกับความภักดีและความไม่จงรักภักดี หรือความศักดิ์สิทธิ์และความเสื่อมโทรม ส่วนคนกลุ่มเสรีนิยมที่มีแนวโน้มไม่นับถือศาสนาสูง มักบันทึกปรากฏการณ์ทางศีลธรรมที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมและความซื่อสัตย์
🔸 ถึงอย่างนั้น มีคนจำนวนมากเชื่อว่าผู้นับถือศาสนาจะรู้สึกดีกับตัวเอง เห็นคุณค่าในตนเองสูงขึ้นและมีการปรับตัวทางจิตใจได้ดีกว่าผู้ที่ไม่นับถือศาสนา แต่การศึกษาของ โจเคน กีบาวเออร์ (Jochen Gebauer) จาก มหาวิทยาลัยฟรีดรีช-วิลเฮล์ม (Humboldt-Universität zu Berlin) คอนสแตนติน เซดิคิดส์ (Constantine Sedikides) จากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน (University of Southampton) และ วีบเก้ เนเบอริช (Wiebke Neberich) จากองค์กรเอฟินิทัส จีเอ็มบีเอช (Affinitas GmbH) พบว่าเรื่องนี้ไม่เป็นจริงเสมอไป
🔸 มหาวิทยาลัยและองค์กรข้างต้นได้ร่าวมมือกันศึกษากลุ่มตัวอย่างมากถึง 187,957 คน จาก 11 ประเทศในยุโรป พบว่าคนที่เคร่งศาสนาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ผู้คนให้คุณค่ากับการนับถือศาสนาจะมีการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) สูง ในทางตรงกันข้ามกันคนที่เคร่งศาสนาที่อยู่ในพื้นที่ที่ผู้คนไม่ได้ให้คุณค่ากับการนับถือศาสนาจะมีการเห็นคุณค่าในตัวเองไม่ต่างจากคนทั่วไป การศึกษานี้ทำให้เราทราบว่าการเห็นคุณค่าในตัวเองของบุคคลไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่านับถือศาสนาหรือไม่ แต่ได้รับอิทธิพลจากการเห็นคุณค่าจากคนในสังคมต่างหาก
🔸 ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีคนที่ไม่นับถือศาสนาในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนถ้านับว่าการไม่นับถือศาสนาเป็นศาสนาหนึ่ง ตอนนี้ศาสนาแห่งการไม่นับถือศาสนาถือเป็นศาสนาที่คนนับถือมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และยังมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี ซึ่งอาจเกิดจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เจริญก้าวหน้าจนการนับถือศาสนากลายเป็นทางเลือก ต่างจากอดีตที่การนับถือศาสนาถือเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว ไม่มีทางเลือกอื่นในพื้นที่นั้น ๆ
🔸 แต่แมวส้มมองว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่คน ๆ หนึ่งจะนับถือศาสนาใด ศาสนาหนึ่ง หรือไม่นับถือศาสนา ตราบใดที่คน ๆ นั้นไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น เคารพในสิทธิ์สาธารณะ และไม่ดูถูกดูแคลนหรือยัดเยียดความเชื่อของตนให้ผู้อื่น
ข่าวรอบโลก
จิตวิทยา
ปรัชญา
5 บันทึก
2
2
5
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย