18 ม.ค. 2023 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จีนเปิดเมืองเร็วกว่าคาด ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน ?

การเปลี่ยนแปลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่นับได้ว่าเป็น game changer หรือจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ การประกาศยกเลิกการใช้นโยบาย “Zero COVID” ของทางการจีน ที่เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาด
1
โดยจีนได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโควิดทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการเดินทางระหว่างประเทศ ในระยะสั้นจีนจะยังเจอความท้าทายจากการระบาดของเชื้อโควิดที่จะเกิดขึ้นอย่างหนักและรวดเร็ว เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีนประสิทธิภาพสูงประเภท mRNA ซึ่งการแพร่ระบาดในวงกว้างที่จะเกิดขึ้นจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ
2
ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจีนอย่างน้อยในช่วงไตรมาสแรกอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ แต่ถ้าการระบาดเกิดขึ้นเร็วและจบเร็วตามคาด อาจนำไปสู่การฟื้นตัวที่เร่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไทยจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดเมืองของจีนทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้น แต่การฟื้นตัวของไทยในปีนี้ยังเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง มีความไม่แน่นอนและมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังอีกหลายด้าน
3
ไทยฟื้นเร็วขึ้นจากการเปิดเมืองของจีน แต่ภาคการส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
การเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาดของจีนจะส่งผลบวกค่อนข้างมากต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2023 จากภาคการท่องเที่ยวที่จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมายังอยู่ห่างไกลจากระดับปกติก่อนโควิด เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในไทยเพียงประมาณ 11 ล้านคนในปี 2022 เทียบกับระดับ 40 ล้านคนในปี 2019 ซึ่งส่วนสำคัญเป็นเพราะนักท่องเที่ยวจีนที่มีสัดส่วนถึงประมาณ 25% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในช่วงก่อนโควิด ยังไม่กลับมาจากการที่จีนยังคงปิดประเทศในปีที่ผ่านมา
การเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยตรงผ่านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนโควิด ทำให้แม้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศหลักของโลกไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว และกระทบกับการส่งออกไทย แต่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะยังสามารถขยายตัวได้ค่อนข้างดีในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
1
KKP Research ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2023 จากการเติบโตที่ 2.8% เป็นเติบโต 3.6% โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะสามารถเข้ามาได้ 25.1 ล้านคนจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 19.2 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลบวกเพิ่มเติมต่อการบริโภคในประเทศ
4
อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังเติบโตอย่างแตกต่างกันมากในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากภาคการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาไปเป็นภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ
ในขณะที่ภาคการผลิตและการส่งออกอาจหดตัวจากอุปสงค์ของโลกที่อ่อนแอลง และฐานที่สูงจากปีก่อน นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวจะกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่จังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะแรกยังคงเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง
ในภาพรวมการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจทำให้ KKP Research ยังคงประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับเกินกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยจนถึงเดือนกันยายน และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังต้องปรับขึ้นอีก 100 bps ในปีนี้
นักท่องเที่ยวจีนกลับมาไทยเร็วแค่ไหน ?
จากประสบการณ์ในประเทศฮ่องกงในช่วงต้นปี 2022 การระบาดของโควิดในรอบล่าสุดใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ในขณะที่สถานการณ์ในจีนอาจใช้เวลานานกว่านั้นเล็กน้อย จากจำนวนคนฉีดวัคซีนที่อยู่ในระดับต่ำทำให้โอกาสในการแพร่ระบาดมีได้มากกว่า
KKP Research ประเมินว่าการเปิดเมืองของจีนจะเริ่มเห็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และเริ่มเห็นผลเต็มที่ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยผลบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจทั้งโลกและไทย คือ
9
การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนต่อนักท่องเที่ยวทั้งหมดของโลกคิดเป็นประมาณ 7-10% ซึ่งจะมีผลสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในยามที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกด้านอื่นเริ่มอ่อนกำลังลงจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลก โดยภาคการท่องเที่ยวคิดเป็นรายได้ประมาณ 4% ของ GDP โลก
สำหรับเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงสร้างการท่องเที่ยวที่พึ่งพาจีนสูง โดยหากดูสัดส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศเอเชีย ไทยถือเป็นประเทศที่จีนเข้ามาเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
จากตัวเลขจำนวนเที่ยวบินที่เดินทางมาจากจีนล่าสุดในเดือนมกราคมหลังจากจีนเริ่มเปิดประเทศ พบว่าเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยมีเที่ยวบินจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังไทยประมาณ 50 เที่ยวบินต่อวัน หรือ 1,500 เที่ยวบินต่อเดือน คิดเป็นจำนวนคนเดินทางประมาณ 230,000 คนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 50,000 คนต่อเดือนในช่วงเดือนธันวาคมปี 2022
KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสได้รับผลบวกมากกว่าที่เราคาด ในกรณีที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับเข้ามาในไทยมากกว่าคาดตั้งแต่ในไตรมาส 1 โดยเฉพาะการเข้ามาเพื่อวัคซีนและยารักษาโควิด -19 ซึ่งจากข้อมูลสำรวจการท่องเที่ยวพบว่าคนจีนประมาณ 20% พร้อมเที่ยวทันทีหลังเปิดประเทศและไทยยังคงเป็นประเทศที่จีนสนใจเดินทางมาเป็นลำดับต้น ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่ต้องติดตามต่อไป
1
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะได้ประโยชน์
ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นจะส่งผลบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เมื่อย้อนดูตัวเลขการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในปี 2019 จะพบว่าธุรกิจที่มีแนวโน้มได้ประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้า อาหารและเครื่องดื่ม การเดินทาง สันทนาการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในภาพรวมจะพบว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะยังคงค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในบางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และบางพื้นที่ท่องเที่ยวเท่านั้น
ซึ่งจะพบว่าจังหวัดใหญ่เพียง 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา มีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวไปมากถึง 90% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด
1
ซึ่งยังเป็นประเด็นที่น่ากังวลว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังคงมีความกระจุกตัวค่อนข้างมาก และตัวเลข GDP ที่ปรับดีขึ้นในปี 2023 จะเป็นตัวเลขที่อาจไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ดีนัก
การส่งออกไทยในระยะสั้นยังน่ากังวล
1
แม้การเปิดประเทศของจีนจะส่งผลบวกบ้างต่อภาคการส่งออกไทย จากโครงสร้างการส่งออกไทยที่ส่งออกไปจีนประมาณ 15% ของการส่งออกทั้งหมด แต่จากสัญญาณการส่งออกในหลายประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น (รวมประมาณ 30% ของการส่งออกไทย) ที่เริ่มชะลอตัวลงชัดเจน
ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอาจยังไม่เพียงพอชดเชยการชะลอตัวของภาคการผลิตในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี KKP Research ยังคงประเมินว่าปริมาณการส่งออกของไทยจะยังคงหดตัว 1.8% ในปี 2023 และการส่งออกในรูปสกุลเงิน US dollar มีโอกาสหดตัวรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี จากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ก่อนที่อาจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
อย่างไรก็ตาม ค่อนข้างชัดเจนว่าการเปิดประเทศของจีนจะส่งผลเป็นบวกอย่างมากกับบางกลุ่มสินค้าที่การนำเข้าจากจีนยังไม่กลับมาปกติ ซึ่งจีนเป็นผู้นำเข้าหลักของโลกในหลายกลุ่มสินค้า ตัวอย่างเช่น สินค้าโภคภัณฑ์ ไม้ ฝ้าย พลาสติก และสินค้าในกลุ่มอาหาร ซึ่งยังมีหลายกลุ่มสินค้าที่ปริมาณการนำเข้ายังไม่กลับไประดับปกติและมีโอกาสจะขยายตัวได้สูงหลังจีนเปิดเมือง
ความไม่แน่นอน 3 ประการในปี 2023
แม้ว่าในภาพรวมการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นของจีนจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งก็เพิ่มความไม่แน่นอนในหลายประเด็นที่เป็นความเสี่ยงต่อทั้งภาพการฟื้นตัวและการดำเนินนโยบายของเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป คือ
1) ค่าเงินบาทที่มีความผันผวนสูงจะกระทบผู้ส่งออกและนำเข้า ในปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปมาก ซึ่งเกิดจาก 3 เหตุผลหลัก คือ การปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้นจากนโยบายการเงินไทยที่ปรับดอกเบี้ยช้ากว่า และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลมากที่สุดในรอบหลายปีจากรายได้ท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมาปกติและต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่อยู่ในระดับสูง
ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็วตามแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และการคาดการณ์เกี่ยวกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว แต่สถานการณ์ค่าเงินบาทยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีโอกาสกลับไปอ่อนค่าได้เช่นกัน ซึ่งความเสี่ยงหลักจะมาจากดุลการค้าที่ยังมีความเสี่ยงขาดดุลในปีหน้า
โดยตัวเลขดุลการค้าในไตรมาส 3 ปี 2022 พลิกเป็นขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี ซึ่งเกิดจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวขึ้นเร็วกว่าการส่งออกตามราคาสินค้าโลกที่ปรับสูงขึ้น สะท้อนผ่าน Terms of Trade หรือสัดส่วนระหว่างราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าที่ปรับตัวลดลงมาก สะท้อนให้เห็นความผันผวนที่สูงขึ้นมากของค่าเงินบาทและความยากของผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้าในการจัดการความเสี่ยงด้านค่าเงิน
KKP Research ประเมินว่าแม้รายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติจะปรับดีขึ้น แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะปรับตัวแย่ลงในช่วงไตรมาส 2 และอาจติดลบในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
จากการส่งออกสินค้าที่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลง ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าอาจยังขยายตัวต่อไปได้อย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ราคาสินค้านำเข้าจากโลกอาจไม่สามารถปรับลดลงได้มากหากอุปสงค์ของจีนฟื้นตัวเต็มที่ในช่วงปลายปี ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่จะยังไม่กลับเป็นบวกได้อย่างแข็งแกร่งเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจสร้างความผันผวนต่อค่าเงินบาทโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้
โดยเงินบาทอาจกลับมาอ่อนค่าอย่างรวดเร็วได้อีกครั้งหากปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหากมีแรงกดดันเพิ่มเติมด้านเงินทุนไหลออกโดยนักลงทุนที่เข้ามาถือเงินบาทเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น
2) หากนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเร็วอาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในภาคบริการ แม้ว่าการท่องเที่ยวจะส่งผลบวกต่อรายได้ของคนในประเทศ แต่ก็มีผลข้างเคียงต่อแรงกดดันราคาสินค้าในประเทศซึ่งสามารถเกิดได้จากสองส่วน คือ
1) ราคาสินค้าในภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ราคาที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร การเดินทางในประเทศ ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณปรับตัวขึ้นบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา
2) ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเศรษฐกิจหลักจากภาคบริการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมาซึ่งทำให้แรงงานจำนวนมากย้ายออกจากภาคบริการไปยังภาคการผลิต และเมื่อภาคบริการกลับมาฟื้นตัวกลับเจอปัญหาไม่สามารถดึงแรงงานกลับมาได้ ซึ่งยังคงต้องติดตามว่าสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในภาคบริการจะเกิดขึ้นในไทยเช่นเดียวกับในต่างประเทศจนสร้างแรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานและค่าบริการหรือไม่
3) อัตราเงินเฟ้อโลกยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้มากกว่าคาด และทำให้อัตราดอกเบี้ยยังเป็นทิศทางขาขึ้น ในปี 2023 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปัญหาเงินเฟ้อจะเริ่มคลี่คลายลงและทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ฯ (FED) ไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วและมากเหมือนปีที่ผ่านมารวมทั้งมีโอกาสปรับดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปี
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งคล้ายกับเหตุการณ์ช่วงปี 1972 – 1983 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะทางการเงินที่ยังไม่ตึงตัวมากพอที่จะชะลอเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง จีนที่กลับมาเปิดประเทศในปีนี้ และการคาดการณ์เงินเฟ้อของคนที่อาจทำให้เงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงได้นาน
ในขณะเดียวกันปัญหาด้านอุปทานในภาคบริการที่อาจขาดแคลนหากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นเร็วจะทำให้เงินเฟ้อในภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นความท้าทายต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจถูกกดดันให้ขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นในภาวะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในการประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 เป็นต้นมา การคาดการณ์การเติบโตของ GDP โลกในปี 2023 มีความแตกต่างกันมากกว่าปกติถึง 2 เท่าสะท้อนว่านักลงทุนมีมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่แตกต่างกันมากกว่าปกติ
ทำให้สำหรับเศรษฐกิจไทยที่มีการพึ่งพาเศรษฐกิจโลกสูงทั้งจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวจำเป็นต้องติดตามและประเมินผลกระทบทื่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด และต้องทบทวนกรอบการคิดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินอยู่เสมอ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างเหมาะสมภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
#KKPResearch
#จีน
#จีนเปิดประเทศ
#เศรษฐกิจไทย
#KIATNAKINPHATRA
#KKP
ติดตามบทความดีๆ จากเกียรตินาคินภัทร ได้ที่นี่
โฆษณา