20 ม.ค. 2023 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ

แต๊ะเอียอย่างแบด อาจทำให้เด็กๆ แซดกันหน่อย

“红包多多来 (อั่งเปา ตั่วๆ ไก๊)”
“新正如意, 新年发财 (ซิงเจียหยู่อี่ ซิงนี้ฟาไฉ)”
1
เมื่อได้ยินคำเหล่านี้ ทุกคนคงจะทราบกันดีว่าเป็นคำพูดยอดฮิตที่เด็ก ๆ หลายคนมักจะพูดกับผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่ออวยพรให้มีแต่ความสุขและร่ำรวย มีเงินทองไหลเข้ามาตลอดปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินทองไหลมาเทมาจริงหรือไม่ Bnomics มีคำตอบมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน
1
จากการสำรวจข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนในกรุงเทพมหานคร พบว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนคนไทยเชื้อสายจีนมักจับจ่ายใช้สอยไปกับการซื้อของไหว้บรรพบุรุษ จำพวกเนื้อสัตว์หลากหลายชนิด การแจกเงินแต๊ะเอียให้ลูกหลาน
1
รวมถึงการใช้เงินไปเที่ยวหรือทำบุญตามวัดจีนต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านรุ่นในครอบครัว ล้วนส่งผลให้สัดส่วนการใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนแตกต่างกันไปในแต่ละปี
📌 กำลังซื้อผันผวนตามสภาพเศรษฐกิจ
ภาพรวมการใช้จ่ายช่วงตรุษจีนในปี 2564 เงินใช้จ่ายลดลงสูงสุดถึง 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค หลายคนเลือกที่จะเก็บเงินเพื่อสำรองไว้ใช้ในอนาคต
  • จึงส่งผลให้เงินแต๊ะเอียน้อยลง (-8.1%)
  • หลีกเลี่ยงการพบปะญาติหรือทานอาหารร่วมกันนอกบ้าน (-20.8%)
  • รวมถึงซื้อของไหว้ในปริมาณที่ลดลง (-5.1%)
ในปี 2565 เริ่มมีการสะพัดของเงินอีกครั้ง โดยมีการใช้จ่ายประมาณ 11,700 ล้านบาท ขยายตัว 0.8% แต่ยังกลับมาไม่เท่ากับช่วงปี 2562 ที่มีการใช้จ่ายสูงถึง 13,560 ล้านบาท
แต่การเปิดประเทศในปีนี้ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว การทำบุญเจอหน้ากันกลับมาสูงขึ้นถึง 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าที่เป็นที่นิยมในช่วงเทศกาล จำพวกหมู เป็ด ไก่ ไข่ ผัก ผลไม้ มีการปรับราคาสูงขึ้นตามความต้องการที่มากขึ้น (ขยายตัว 7.1%) ซึ่งทำให้คนบางกลุ่มต้องลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นอย่างเงินแต๊ะเอียลงไป
📌 เงินแต๊ะเอียลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563
จากพฤติกรรมที่คนระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้สัดส่วนเงินที่สำรองไว้สำหรับกิจกรรมแต๊ะเอียลดลงไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบัน
โดยในปี 2565 เห็นได้ชัดว่า พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แม้ว่ายอดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นจะเริ่มกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ในส่วนของเงินแต๊ะเอียยังคงลดลงมากถึง 14.8%
ทั้งนี้ คนไทยเชื้อสายจีนบางกลุ่มที่ยังคงให้ความสำคัญกับกิจกรรมนี้ ก็เลือกที่จะให้แตีะเอียในปริมาณที่ลดลงทั้งจำนวนเงินและจำนวนคนให้ และหลายคนมองว่าการให้แต๊ะเอียเป็นเพียง Gimmick ให้ลูกหลานที่ได้มาเจอกันในช่วงเทศกาลเท่านั้น
📌 ตรุษจีนจะกลับมาคึกคักเหมือนก่อนหรือไม่
1
มีการคาดการณ์จากหอการค้าไทยและศูนย์วิจัยกสิกรว่า ในปี 2566 นี้ เงินใช้จ่ายช่วงตรุษจีนจะสูงราว 12,330 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวถึง 5% เมื่อเทียบกับปี 2565
โดยมีแนวโน้มการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งในด้านซื้อของจำพวกเครื่องเซ่นไหว้ การใช้เงินท่องเที่ยว ทำบุญ รวมถึงทานอาหารนอกบ้าน แต่คาดการณ์ว่าเงินแต๊ะเอียยังคงลดลงต่อเนื่องดังเช่นปีที่ผ่าน ๆ มา
คงต้องมารอดูกันว่า หลังจากผ่านพ้นช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ไป
ตัวเลขค่าใช้จ่ายในปี 2566 นี้จะสะพัดมากน้อยขนาดไหน และมีโอกาสที่เงินแต๊ะเอียจะกลับมามีปริมาณสูงขึ้นแล้วทำให้ลูกหลานหายแซดได้หรือไม่ เหล่านี้ล้วนสะท้อนมาจากพฤติกรรมคนที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจนั่นเอง
ผู้เขียน : ธนัชญา ปิยวรไพบูลย์, Economics Data Analytics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา