20 ม.ค. 2023 เวลา 07:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดศึกดวล ผู้ท้าชิง Virtual Bank โบรกฯ คาด “กลุ่มซีพี” ขึ้นสังเวียนสู้

Virtual Bank หรือ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ที่ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียว กำลังเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองจากนักลงทุน ภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศเกณฑ์การจัดตั้ง และคาดว่าช่วงแรกจะเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาให้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งต่อรัฐมนตรีว่าการการกระทรวงการคลังจำนวนไม่เกิน 3 ราย
ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมามี 2 บริษัทใหญ่ประกาศจะเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาด นั่นคือ KTB หรือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ JMART หรือ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ทำให้ตำแหน่งผู้เล่นรายสุดท้ายที่ยังว่างอยู่ถูกจับตาว่าจะเป็นบริษัทใดที่เข้ามาท้าชิง
โดย Wealthy Thai ได้ต่อสายไปยัง นายตฤณ สิทธิสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ซึ่งให้มุมมองในประเด็นนี้ว่า นอกเหนือจาก KTB และ JAMT แล้ว เราคาดการณ์ว่า กลุ่มซีพี จะเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่ออกมาประกาศจัดตั้ง Virtual Bank เพราะภายในเครือมีการ Synergy ที่น่าสนใจ ระหว่าง TRUE และ DTAC ซึ่งจะทำให้ฐานลูกค้าที่ใช้บริการเครือข่ายขยับขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ ADVANC
อีกทั้งยังมี TrueMoney Wallet ที่ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล (E-Wallet) ซึ่งอยู่ภายใต้ บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แอนท์ กรุ๊ป โดย แอนท์ กรุ๊ป นับเป็นพันธมิตรที่น่าสนใจ เพราะมีความองค์ความรู้ทั้งในส่วนของการเงินและ AI
นอกจากนี้ สาขาร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทยน่าจะเป็นจุดให้บริการเครือข่ายที่ดี เพราะสังคมการใช้ระบบออนไลน์ล้วน ยังต้องมีออฟไลน์เข้ามาช่วยให้บริการบางส่วน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการจัดตั้ง Virtual Bank ของกลุ่มซีพีจะเป็นการใช้ Synergy ภายในเครือมากกว่าการจับมือกับสถาบันการเงิน
ในส่วนของผลบวกที่ผู้เล่นทั้ง 3 รายจะได้รับหากเข้ามาแข่งขันตลาด Virtual Bank คือ จะช่วยต่อยอดการเติบโตระยะยาว เพราะธุรกิจการเงินเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูง และเป็นการกระจายธุรกิจออกมาจากธุรกิจเดิมที่เริ่มมีการแข่งขันสูง เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม ที่มีการแข่งขันด้านราคา ทำให้ผู้ประกอบการต้องมองหาธุรกิจใหม่ ซึ่งธุรกิจการเงินก็เป็นธุรกิจที่สร้างกำไรดี นับเป็นการกระจายธุรกิจมายังแหล่งรายได้ใหม่ๆ ที่ให้กำไรสูง
นอกจากนี้อาจนำฐานข้อมูลของลูกค้ามาต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เช่น การขายหน่วยลงทุน หรือ ประกัน เป็นต้น ทั้งนี้ ประเมินว่าต้องใช้เงินลงทุนในการจัดตั้งราว 1-2 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบไอทีต่างๆ
สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของ Virtual Bank จะเป็นลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินแบบเดิม เช่น กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องมีประวัติดี มีแนวโน้มจะเป็นหนี้เสียน้อย โดยอาศัยข้อมูลทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากข้อมูลรายได้และภาระหนี้แบบที่ธนาคารดั้งเดิมใช้ในการพิจารณา
ด้านผลิตภัณฑ์มองว่าจะเป็นสินเชื่อดิจิทัลเหมือนที่ธนาคารพาณิชย์ให้บริการอยู่ เน้นความสะดวก ปริมาณ และความรวดเร็วในการพิจารณา หรือเป็นการให้วงเงินก้อน ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกวงเงินที่ต้องการใช้ได้ โดยระยะแรกคาดว่าจะเห็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เข้าใจง่าย เข้าถึงลูกค้ารายย่อยได้ดี มากกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินแปลกใหม่ที่ยังไม่เคยเห็นในตลาด
โฆษณา