21 ม.ค. 2023 เวลา 00:00 • ไลฟ์สไตล์

ชีวิตต่างแดน (2) วิถีมนุษย์เงินเดือนที่สิงคโปร์

Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
1
เงินเดือนเดือนแรกของผมออกเป็นเช็คของธนาคาร Post Office Saving Bank (POSB) เป็นความรู้สึกประหลาดอย่างหนึ่งที่มาทำงานในต่างประเทศและรับเงินสกุลอื่น ผมส่งเงินไปให้แม่เป็นระยะๆ
1
ผมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีกสองคนไปเช่าบ้านอยู่ที่ถนน Dafne Street ชุมชน Siglap อยู่ฝั่งอีสต์ โคสต์ ซึ่งเป็นชายทะเลฝั่งตะวันออกของเกาะ ไกลจากตัวเมืองพอสมควร นั่งรถเมล์ไปทำงานราว 45 นาที เป็นบ้านแถวชั้นเดียว สามห้องนอน เจ้าของบ้านเป็นแขกชื่อ ยูซุป
1
หลังจากที่ผมไปทำงานได้สองปี เพื่อนๆ 'ถาปัด จุฬาฯ รุ่นเดียวกันจากกรุงเทพฯก็ทยอยมาสมทบอีกหลายคน บ้านเช่าของเราก็แออัดขึ้น ความเป็นส่วนตัวหายไป
1
การไปใช้ชีวิตต่างแดนกับเพื่อนหลายคนเป็นการเรียนรู้ชีวิตอย่างหนึ่ง เหมือนการมีครอบครัวใหม่ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา จะทำบ้านรกตามใจก็ไม่ได้ กินข้าวแล้วก็ต้องล้างจาน ปล่อยทิ้งให้เขรอะไม่ได้
ไม่นานหลังจากนั้นเราก็แยกย้ายไปหารังใหม่กัน แต่สายสัมพันธ์ของเพื่อนแน่นแฟ้น ผูกพันด้วยกีฬาและรัมมี ไปตีเทนนิส สควอช และแบดมินตันด้วยกัน ทุกเสาร์มักนัดเล่นไพ่รัมมี สถานที่เล่นไพ่ก็แล้วแต่นัด ดื่มกินที่นั่น ค้างคืนวันเสาร์ เป็น Saturday Night Fever ของสถาปนิกไทยที่สิงคโปร์ยุค 1980
3
วิถีชีวิตของมนุษย์เงินเดือนที่สิงคโปร์คือทำงานจริงจังมาก ไม่มีเล่น ไม่ค่อยมีใครพูดคุยเล่น ทุกคนตรงต่อเวลา พักเที่ยงตรงเวลา เลิกงานตรงเวลา ตลอดหลายปีที่นั่นผมไม่เห็นมีใครเสนอหน้าให้เจ้านายเห็นหลังเลิกงาน เพราะทำงานหนักมาทั้งวันแล้ว หมดเวลางานก็กลับบ้าน เจ้านายไม่ได้รู้สึกยินดีที่ลูกน้องอยู่ดึกโดยไม่มีเหตุผลสำคัญ มันสะท้อนว่าวางแผนเวลาได้แย่ จึงต้องอยู่ดึก
5
ผมทำงานในบริษัทสถาปนิกที่มีเจ้านายสี่คน เจ้านายคนหนึ่งชอบงานของอาจารย์สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา (คนออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพ อาคารเนชั่นธนาคารเอเชีย หรือตึกหุ่นยนต์ ฯลฯ) เขาเข้าใจการออกแบบอย่างลึกซึ้ง ผมเรียนรู้จากเจ้านายคนนี้มากทีเดียว
2
ผมทำงานที่สำนักงานเดิมได้ปีกว่า เพื่อนสนิทก็ชวนไปทำงานที่บริษัทของเขา เจ้านายของเขาต้องการสถาปนิกเพิ่ม แต่ผมไม่คิดเปลี่ยนงาน ผมเคยไปขลุกในบริษัทนั้นบ่อยๆ จึงยอมไปสัมภาษณ์เล่นๆ โดยเรียกเงินเดือนสูงกว่าเดิมมาก เพราะไม่เชื่อว่าเขาจะยอมจ่ายขนาดนั้น ปรากฏว่าเขาตกลง จึงเปลี่ยนงาน
4
ผมเรียนรู้วิธีการปกครองคนจากเจ้านายใหม่คนนี้มากทีเดียว เขาไม่ใช่สถาปนิก ไม่พูดมาก ไม่ด่าลูกน้อง ไม่เรื่องมาก มองภาพรวม ชอบเสนอโครงการใหญ่ๆ เราจึงมีงานระดับเมกะโปรเจ็คท์ให้ทำตลอด ผมเรียนรู้วิธีมองโลกแบบมุมกว้างจากเจ้านายไม่มากก็น้อย
6
ผมกับเพื่อนมักจับคู่ทำงานใหญ่ ผลงานเข้าตาเจ้านายมาตลอด บางครั้งลูกค้าก็เขียนมาชม วันหนึ่งอยู่ดีๆ เจ้านายก็เรียกตัวไปพบ บอกว่า "คุณสองคนไปอยู่ที่บ้านผมก็แล้วกัน"
1
ไม่เพียงให้อยู่ฟรี แม้แต่ค่าน้ำค่าไฟก็ออกให้หมด เจ้านายคนนี้รวยมาก มีรถเบนท์ลีย์หลายคัน เวลาลูกน้องคนไหนแต่งงาน ก็มักยืมรถเบนท์ลีย์เจ้านายไปรับส่งเจ้าสาว (ทำให้ในกาลต่อมาผมมักเปรียบความรวยกับรถยนต์ยี่ห้อนี้)
6
ชีวิตการทำงานในสิงคโปร์ค่อนข้าง 'เซมเซม' ตื่นเช้าขึ้นมา ต่างคนต่างไปทำงาน กลับบ้านก็มาซุกหัวนอน หลังเลิกงานก็มักไปหย่อนใจ ดูหนังบ่อยมาก ถ้าไม่มีหนังดู ก็ไปดูกล้องถ่ายรูปกับเครื่องเสียง
เราลงขันซื้อเครื่องซักผ้าแบบไม่ค่อยอัตโนมัติมาใช้ ต้องเฝ้าเครื่องซักผ้า เนื่องจากต้องหยิบมาแขวนราวตากผ้า พอแห้งก็นำมารีด เสาร์อาทิตย์ก็เป็นวันซักผ้ารีดผ้า
1
ไม่ทุกคนรีดผ้า บ่อยครั้งเราก็สวมเสื้อยับๆ ไปทำงาน
เพื่อนคนหนึ่งรีดเสื้อเฉพาะท่อนบน โดยให้เหตุผลว่า "ไม่ต้องรีดท่อนล่าง พอยัดเสื้อเข้าไปในกางเกง ก็ไม่มีใครเห็นแล้ว"
12
ตรรกะนี้ใช้การได้จริง!
ในวันอาทิตย์ เราชอบไปเดินที่ชายทะเลฝั่งตะวันออก ขี่จักรยานบ้าง ออกกำลังกายบ้าง นอนริมหาดทรายที่ไม่ค่อยสวยบ้าง East Coast เป็นชายหาดยาวหลายกิโลเมตร มีที่จอดรถ สวน ร้านขายอาหาร แผงอาหาร หาดทรายที่นั่นเป็นทรายหยาบเหมือนทรายก่อสร้าง คนละโลกกับทรายที่หาดภูเก็ตหรือพังงา แต่เป็นหาดแบบเดียวที่มี ก็ดีกว่าไม่มีหาด ทะเลก็เห็นแต่เรือสินค้า
2
เวลานั้นคนไทยเราชอบไปช็อปปิ้งที่สิงคโปร์ เพราะเป็นเมืองปลอดภาษี คนไทยส่วนมากไปเดินที่ห้าง Lucky Plaza ถนน Orchard ประมาณห้างมาบุญครองของเรา ตอนนั้นทันสมัยมาก มีลิฟท์แก้วใส มีร้านค้ามากมาย ร้านเสื้อผ้า ร้านอาหาร ร้านไอศกรีม เครื่องเสียง อุปกรณ์ไฟฟ้ากล้องถ่ายรูป
Lucky Plaza เป็นร้านดังที่คนไทยทุกคนรู้จักและไปแวะซื้อ เพราะราคาเครื่องไฟฟ้าถูกกว่าบ้านเรามาก คนไทยไปที่นั่นมากจนคนขายหลายร้านพูดไทยได้
ไม่เพียงเป็นที่นิยมของคนไทย ในวันอาทิตย์ Lucky Plaza เป็นแหล่งชุมนุมของชาวฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานเป็นแม่บ้านและคนงานก่อสร้างที่นั่น
ส่วนแรงงานไทยมักไปชุมชุมที่ Golden Mile Complex ถนน Beach Road มีร้านอาหารไทย จะกินข้าวเหนียวไก่ย่าง ส้มตำ ก็ต้องไปที่นั่น นอกจากนี้ก็มีร้านขายของชำของไทย วัตถุดิบอาหารไทย หนังสือพิมพ์และนิตยสารไทย
ผมกับเพื่อนคู่หูทำงานที่สิงคโปร์จนถึงกลางปี 2526 ก็ลาออกไปเรียนต่อที่นิวยอร์กพร้อมกัน ขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ขุดทองต่อไป
แต่สัจธรรมของโลกคือ ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนตลอดกาล ในที่สุดก็มาถึงจุดสิ้นสุดของยุคทองที่สิงคโปร์ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก คนจำนวนมากตกงาน
2
เพราะไม่มีการลงทุนในโครงการใหม่ๆ บริษัทสถาปนิกหลายแห่งไม่ขึ้นเงินเดือนบ้าง ลดเงินเดือนบ้าง ไม่ต่ออายุ Employment Pass ให้สถาปนิกไทยบ้าง จนในที่สุดก็เหลือสถาปนิกและแรงงานไทยเพียงหยิบมือเดียว ค่อยๆ กลับบ้านไปเกือบหมด บางคนก็ไปบ่ายหน้าไปหางานทำที่มาเลเซีย ฮ่องกง
ผมใช้เงินที่หาได้จากสิงคโปร์ไปเรียนต่อที่อเมริกาจนหมดเกลี้ยง ผ่านไปอีกหลายปี ผมกลับเมืองไทยอีกครั้งโดยไม่มีเงินเหลือในมือ มีแต่ประสบการณ์ที่เงินซื้อไม่ได้
6
ประสบการณ์ขุดทองที่สิงคโปร์เป็นฉากหนึ่งของชีวิตที่ดี มันไม่เพียงให้เงินทอง แต่เปิดโลกใหม่ให้เรา ทำให้เราเห็นโลกกว้าง ระบบการทำงานและชีวิตที่แตกต่างจากบ้านเรา ผมจึงมักแนะนำคนที่มีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศให้ลองไปทำงานสักพัก เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตที่เงินซื้อไม่ได้
7
(สัปดาห์หน้าอ่านประสบการณ์ชีวิตในอเมริกา)
โฆษณา