20 ม.ค. 2023 เวลา 12:25 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี

Crash Course in Romance วัฒนธรรมการเรียนกวดวิชาในเกาหลีใต้

Crash Course in Romance ซีรีส์เรื่องใหม่ที่พาผู้ชมไปเจาะลึกวงการกวดวิชา และเป็นซีรีส์อีกเรื่องหนึ่งที่เสียดสีวงการการศึกษาเกาหลีใต้ได้อย่างแยบยล ผ่านภาพของแม่ๆ ที่รีบตื่นแต่เช้าเพื่อไปจองคิวสมัครเรียนกวดวิชาชื่อดังให้ลูก
และจอดรถรอรับลูกตอน 4 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาเลิกเรียนของกวดวิชาในเกาหลีใต้พอดี ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อเป้าหมายเดียวคือให้ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ 3 แห่งของเกาหลีใต้ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า SKY ได้
ในบทความนี้ Bnomics ก็เลยจะพาไปเจาะลึกวัฒนธรรมการกวดวิชาอย่างหนักของเกาหลีใต้กัน
📌 การศึกษา คือ รากฐานของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
คุณ Theodore Schultz นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1979 ได้กล่าวไว้ว่า การลงทุนในทุนมนุษย์ผ่านทางโรงเรียนของรัฐจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ และผลตอบแทนของการลงทุนในการศึกษานี้จะยิ่งเป็นได้ชัดในประเทศที่มีรายได้น้อย
แม้ว่าทรัพยากรของโรงเรียนส่วนมากจะถูกทำลายไประหว่างที่เกิดสงครามเกาหลี (1950 - 1953) และครูที่ส่วนใหญ่ที่เป็นชาวญี่ปุ่นได้กลับประเทศไปหลังจากที่เกาหลีได้รับอิสรภาพ แต่นั่นไม่สามารถหยุดยั้งความพยายามของรัฐบาลที่จะสร้างระบบการศึกษาให้ครอบคลุมได้
ประธานาธิบดีอีซึงมัน (1948 - 1960) ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเกาหลีได้ขยายการศึกษาระดับประถมออกไปให้มากขึ้นผ่านการสร้างวิทยาลัยครูเพื่อที่จะเพิ่มปริมาณครูประถมได้อย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมา คือ จำนวนเด็กที่เข้าเรียนชั้นประถมเพิ่มขึ้นเป็น 4.94 ล้านคนในปี 1965 จากที่ในปี 1945 อยู่ที่เพียง 1.37 ล้านคนเท่านั้น
ต่อมา เมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และได้รับการศึกษาระดับประถมมากขึ้น จึงเริ่มมีความต้องการที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะนั้นทั้งโรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชนสามารถมีสิทธิเลือกนักเรียนได้ผ่านการสอบเข้า แล้วก็เริ่มมีการจัดอันดับโรงเรียนเกิดขึ้น
ด้วยความที่พ่อแม่ชาวเกาหลีใต้เชื่อว่าการศึกษาจะนำไปสู่โอกาสในการประสบความสำเร็จที่มากกว่า โดยเฉพาะถ้าได้เรียนโรงเรียนดี ๆ มหาวิทยาลัยชื่อดัง โอกาสที่จะได้ทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่คงไม่ไกลเกินเอื้อม การสอบแข่งขันจึงเริ่มดุเดือดมากยิ่งขึ้นจนมีกวดวิชาผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมากตั้งแต่นั้น
📌 กวดวิชา…ประตูสู่โอกาสที่ดี หรือ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม
เกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมกวดวิชาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลายต่อหลายครั้ง แต่ทว่ายังคงมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดจนทำให้การเรียนกวดวิชาจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากแม้ว่าจะราคาสูงก็ตาม
ในปี 2016 ผู้ปกครองชาวเกาหลีใต้โดยเฉลี่ยใช้จ่ายไปกับเรื่องการศึกษา 11% ของรายได้ซึ่งสูงพอกับค่าใช้จ่ายภายในบ้านเลยทีเดียว และค่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษายิ่งสูงขึ้นในครอบครัวที่มีรายได้มากขึ้น
แน่นอนว่าการที่ผู้ปกครองลงทุนไปกับการส่งลูกเข้าเรียนกวดวิชาก็เนื่องจากคาดว่ากวดวิชาสามารถช่วยให้ลูกได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จบออกมาทำงานในบริษัทใหญ่โต มีหน้าที่การงานมั่นคงดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีลูกคนเดียวยิ่งจ่ายเงินค่ากวดวิชาให้ลูกมากกว่าผู้ปกครองที่มีลูกหลายคน
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือแม้แต่ครอบครัวที่ไม่มีรายได้เลยก็ยังจ่ายค่าเรียนกวดวิชาให้ลูกราว ๆ 92 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และมักจะพบกรณีที่ผู้ปกครองถึงขนาดยอมกู้เงินมาเพื่อจ่ายค่าเรียนกวดวิชาเหล่านี้อีกด้วย
การมีโรงเรียนกวดวิชาอย่างหนาแน่นในเกาหลีใต้ ก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียตามมา ผลดีหลักๆ คือการช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ดี ซึ่งการที่นักเรียนมีผลการเรียนดีก็จะมีประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม
เนื่องจากมีการสะสมทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพของแรงงานเพิ่มขึ้น กระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต อีกทั้งอุตสาหกรรมกวดวิชา ยังเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่สำหรับคนที่จบมาในสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีข้อดี แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็มองว่าโรงเรียนกวดวิชาก่อให้เกิดผลกระทบหลายอย่างเช่นกัน
1) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพเด็กนักเรียนได้ โดยเฉพาะเด็กที่เรียนกวดวิชาซึ่งมักจะมีการเรียนจนถึงดึก และยังเรียนในวันหยุดอีกด้วย
2) การเรียนกวดวิชามากจนเกินไป ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการศึกษาหลักในโรงเรียน เนื่องจากเมื่อนักเรียนรู้ในสิ่งที่โรงเรียนสอนอยู่ล่วงหน้ามาจากที่เรียนกวดวิชาแล้ว ก็ทำให้ทั้งครูและนักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียนการสอน
3) การพึ่งพาโรงเรียนกวดวิชามากไป อาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาการเรียนรู้โดยตรงของนักเรียน และทำให้นักเรียนขาดความสามารถในการแก้ปัญหา
4) โรงเรียนกวดวิชาก่อให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการไปจำกัดการพัฒนาทักษะและความรู้อย่างอื่นนอกเหนือจากในห้องเรียน
นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ยังมองว่าโรงเรียนกวดวิชา ทำให้เกิดประเด็นเรื่องประสิทธิภาพและความไม่เท่าเทียม และเกิดผลกระทบภายนอกเชิงลบ (negative externalities) อีกด้วย
เนื่องจากนักเรียนมักจะมีความต้องการให้มีโรงเรียนกวดวิชามากกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อที่อย่างน้อยตัวเองก็สามารถรักษาระดับผลการเรียนที่ดีเอาไว้ได้ หรือเพราะกังวลว่าเพื่อนเรียน ก็ต้องเรียนบ้าง
กลายเป็นว่านักเรียนต่างเรียนกวดวิชากันเกินกว่าระดับที่เหมาะสมในสังคมโดยรวม ทำให้การลงทุนก็ไปทุ่มอยู่ที่กวดวิชา แทนที่จะไปลงทุนในกิจกรรมอื่นๆ ที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า
และด้วยความที่การเรียนกวดวิชามีราคาแพงมาก นั่นหมายถึงว่านักเรียนที่มาจากครอบครัวร่ำรวยกว่า มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาพของความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาแย่ลงไปอีก
ดังนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีใต้ก็พยายามหามาตรการต่างๆ เพื่อมาควบคุมโรงเรียนกวดวิชา มีการออกกฎเพื่อจำกัดโรงเรียนกวดวิชาอยู่หลายครั้ง และมีการกำหนดเวลาเปิดปิด กำหนดเวลาเคอร์ฟิวที่ 4 ทุ่ม
แต่เนื่องจากยังคงมีความต้องการเรียนกวดวิชาอยู่มาก โรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้จึงหาทางปรับเปลี่ยนรูปแบบ อาทิ สอนออนไลน์ หรือผู้ปกครองบางคนที่ร่ำรวยมาก ก็จ้างติวเตอร์ส่วนตัวมาสอนลูกที่บ้านแทน
เพราะใครๆ ก็อยากมีอนาคตที่ดี จึงมองว่าการลงทุนกับการศึกษาตั้งแต่ตอนต้นของชีวิต จะเป็นการเปิดประตู่สู่โอกาสในอีกทั้งชีวิตที่เหลือ
เช่นนี้แล้ว ความต้องการเรียนกวดวิชาจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ที่ไม่ว่าจะแพงแค่ไหน พ่อแม่หลายคนก็จะหาทางไขว่ขว้ามาให้ลูกได้อยู่ดี...
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
Kim, Sunwoong & Lee, Ju Ho. (2010). Private Tutoring and Demand for Education in South Korea. Economic Development and Cultural Change. 58. 259-296. 10.1086/648186.
Hoon Choi & Álvaro Choi (2016). Regulating private tutoring consumption in Korea: Lessons from another failure, International Journal of Educational Development, Volume 49, Pages 144-156

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา