Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Shocked Lobster
•
ติดตาม
5 มี.ค. 2023 เวลา 01:44 • ความคิดเห็น
Our eyes make us see แต่บางที...ก็มองไม่เห็น
บรรยากาศยามเช้า แสงแดดที่ส่องกระทบหน้า ท้องฟ้าแจ่มใส ต้นไม้ในสวนไหวตามแรงลม หรือนกที่บินผ่านตาไปนอกหน้าต่าง ภาพแรกของชีวิตในวันใหม่ แล้วเราจึงเริ่มกิจวัตร แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว ทานอาหาร ก่อนออกเดินทางไปทำงาน กิจกรรมที่กล่าวมาเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในชีวิตประจำวัน จนเรามีภาพจำในหัว แล้วทำสิ่งเหล่านี้แทบเป็นอัตโนมัติ แต่ไม่เพียงกิจกรรมดังกล่าวเท่านั้น หากเป็นเหตุการณ์อื่นที่น่าประทับใจหรือน่าจดจำ เราก็อยากเก็บภาพแห่งความสุขเหล่านั้น เอาไว้ในความทรงจำเช่นกัน ซึ่งเราสามารถหยิบอัลบั้มนี้มาชมได้ทุกเมื่อ
การมองเห็นจึงมีบทบาทและมีอิทธิพลต่อเรามาก เพราะภาพที่เราเห็นประกอบด้วยข้อมูลที่หลากหลาย ส่วนสมองของเราเองก็สามารถวิเคราะห์ หรือจดจำภาพต่าง ๆ ได้ดีอีกด้วย สิ่งต่าง ๆ ที่เรามองเห็น ผู้คนรอบข้าง สัตว์เลี้ยง ตึกรามบ้านช่อง ตลอดจนรูปร่าง รูปทรง หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในสื่ออื่น ๆ หลายประเภท เช่น ภาพยนตร์ โฆษณาต่าง ๆ ภาพวาดและงานศิลปะต่าง ๆ เห็นได้ว่า เราใช้การมองเห็นเป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักสำหรับการรับรู้
จึงเป็นเรื่องธรรมดา หากว่าเราจะให้น้ำหนักกับสิ่งที่ปรากฎตรงหน้า เพราะเราสนใจในสื่งที่เรามองเห็น และเชื่อว่าสิ่งที่รับรู้นั้นคือความจริง สามารถเข้าถึงและสัมผัสได้ ภาพที่มองเห็นจึงเปรียบเสมือนฐานข้อมูล ที่ช่วยให้เราเรียนรู้หรือสื่อสารกันเองได้ รวมถึงการตัดสินใจ ตลอดจนชี้นำเราให้ทำหรือปักเชื่อในบางสิ่ง ทำให้เกิดสำนวนอย่าง"สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น" แต่โดยปกติเราคงไม่ได้ตั้งคำถามต่อว่า "สิ่งที่ตาเห็นคือความจริงเสมอ"
ที่มา: https://www.publicdomainpictures.net/pictures/280000/velka/illusion-pattern.jpg
อย่างภาพด้านบน เมื่อเรามองดูจะเกิดความรู้สึกว่า ศูนย์กลางของวงกลมที่เรียงซ้อนกันกะพริบได้ หรือวงกลมรอบนอกกำลังหมุน ทั้งที่เป็นแค่ภาพสองมิติธรรมดา แต่ความรู้สึกที่เกิดจากกลไกการรับรู้ ทำให้เข้าใจภาพตรงหน้าผิดไป แสดงว่าภาพที่เรารับรู้อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป แล้วภาพลวงตามีอะไรอีกบ้าง วันที่อากาศร้อน เรากลับพบหนองน้ำบนถนนที่แห้งสนิท กระจกเงาภายในสวนสนุกที่สะท้อนภาพของเราบิดเบี้ยวไปจากความจริง หรือภาพศิลปะตามนิทรรศการที่ดูเหมือนจะพุ่งออกมาหาเรา ราวกับว่าภาพลวงตามีอยู่แทบทุกที่ก็ว่าได้
ที่มา: https://i0.hippopx.com/photos/939/928/1019/street-performers-magic-magician-prague-f078e2781547441d8694f01087f70ea2.jpg
แต่ที่ว่ามานั้นคือ ภาพลวงตาที่เราบอกได้ว่ามันคือ"ภาพลวงตา" ทว่าบางครั้งภาพลวงตาก็ไม่ได้มาให้เห็นแบบจะ ๆ แต่ซุกซ่อนอยู่รอบตัวเรา บางครั้งอาจเป็นประสบการณ์ของคนรอบข้าง ข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ ทั้งข่าวสารบ้านเมือง ภาพยนตร์หรือละคร ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลกับการรับรู้และความรู้สึก เมื่อเรามองเห็นภาพเดิมซ้ำ ๆ หรือรับรู้เหตุการณ์บางอย่างบ่อย ๆ ความเคยชินที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้เราเชื่อหรือคล้อยตามในสิ่งที่เห็น
"จำนวน" อีกหนึ่งข้อมูลเชิงปริมาณที่เราเห็นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนของผู้คนในเมือง เงินที่อยู่ในกระเป๋า ราคาของสินค้าในร้าน ปริมาณอาหารตรงหน้า มีจำนวนของหลายสิ่งหลายอย่างผ่านตาเข้ามา และการตอบสนองของเรา ก็ต่างกันไปตามบริบทของจำนวนด้วยเช่นกัน ขึ้นกับว่าเรากำลังนับหรือมุ่งความสนใจอะไรอยู่
"เงิน" ตาของเราจะปิ๊งปั๊งทันที เมื่อเห็นมันในจำนวนที่เยอะมาก ๆ ทั้งในแง่ของตัวเงิน เช่น เหรียญ ธนบัตร หรือว่าในแง่ของมูลค่า เช่น ตัวเลขที่ถูกพิมพ์บนแผ่นกระดาษ เป็นเหตุให้เราพยายามมองหาเงินอยู่เสมอ รางวัลสูงลิ่วล่อตา ข่าวที่ประโคมกันล่อใจ เราจึงสร้างภาพข้อมูลเชิงสถิติแบบแปลก ๆ ในทำนองว่า มีคนถูกรางวัลใหญ่ออกบ่อย โอกาสของเราก็คงอยู่เพียงเอื้อม
ลองเสี่ยงโชคสักหน่อย จ่ายน้อย ๆ ได้มาก ๆ หากเลือกไม่ถูก เราก็ผันตัวไปเป็นนักธรรมชาติวิทยาจำเป็น ศึกษาและวิจัยต้นไม้ พืชพรรณ หรือสัตว์แปลก แล้วนำผลวิจัยมาแปลงเป็นตัวเลข ภาพลักษณะนี้เรามักเห็นจนชินตา จนดูแล้วไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร
Lottery by Shocked Lobster
สิ่งของจำพวก"ลอตเตอรี่" ตั๋วสู่ความร่ำรวยในเวลาอันสั้น กระดาษที่ดูบางก็อาจบดบังโอกาสต่าง ๆ ที่เราสามารถสร้างเงิน หรือสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเรา ซึ่งไม่แน่ว่า ผลตอบแทนอาจจะมากกว่ารางวัลที่ใหญ่ที่สุดก็ได้ ดังนั้นเราควรมองลอตเตอรี่เป็นแค่เกมวัดดวง ไม่ใช่ช่องทางสู่ความร่ำรวย เพราะถ้าเราชะเง้อหาเงินที่มองไม่เห็นมากไป อาจทำให้ไม่ทันเหลือบมองตังค์ในกระเป๋า ;-)
เอาล่ะ ลองสมมติว่าเราถูกรางวัลที่หนึ่ง ได้เงินมาเพียบในบัญชี กำลังซื้อที่มีมากขึ้นก็จะกระตุ้นเราต่ออีกทอด ให้เฟ้นหาสินค้าที่ราคาสมกับเงินนั้น กวาดตาไปบนชั้นวางในร้าน สินค้าหลากระดับหลายราคาวางอยู่ เราเพลิดเพลินและสนุกสนานไปกับการเลือกซื้อเลือกชม ทว่าไม่ใช่ทุกครั้ง ที่มูลค่าสินค้าถูกจำกัดด้วยป้ายราคาแผ่นเล็ก เพราะนอกจากเงินที่ต้องจ่าย อาจรวมถึงทรัพย์สินล่องหนอย่างเวลา ความรู้สึก รวมถึงจิตใจของเราด้วยเช่นกัน
ที่มา: https://i0.hippopx.com/photos/729/761/266/sheep-black-sheep-grass-mountains-bce6143ad5b8674b97bee340cf31e958.jpg
"ยี่ห้อ"เป็นทั้งเครื่องหมายทางการค้า หรือสัญลักษณ์การันตีคุณภาพ ที่ทำให้ผู้ซื้อรู้สึกมั่นใจ และพอใจกับความคุ้มค่าที่จ่ายไป ชื่อเสียงของยี่ห้อมีผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นโอกาสสร้างกำไรแก่ผู้ประกอบการ แต่ความสามารถของ"ยี่ห้อ"ไปไกลเกินกว่าเรื่องของธุรกิจ เพราะมันอยู่เหนือกาลเวลาและจิตใจของเรา
สินค้าตัวใหม่ของยี่ห้อชั้นนำ เปิดตัวและถูกจัดวางบนชั้นในวันแรกของการขาย เรายอมแลกเวลาเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าที่ต้องการ เหตุผลอาจเป็นเรื่องประโยชน์ใช้สอย ความคุ้มค่า อายุของสินค้าที่ยาวนาน หรือรสนิยม แต่บางครั้งอาจต้องยอมรับว่า เราซื้อมันเพราะ เราไม่ต้องการรู้สึกแปลกแยก หรือแตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ ที่เพียงการมองยี่ห้อเป็นเครื่องมือชี้วัด ตัดสินในฐานะ ชี้ชัดความน่าเชื่อถือ หรือเพื่อบอกรสนิยม
หากลองนั่งคิดเล่น ๆ จะตอนนี้หรือในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกล โลกคงจะเต็มไปด้วยผู้คน ที่ใช้สินค้ายี่ห้อเหมือน ๆ กัน คล้ายกับเป็นยูนิฟอร์มบริษัท ที่พนักงานทุกคนต้องสวมใส่ เป็นเหมือนจุดร่วมที่โยงทุกคนไว้ด้วยกัน
Connected by Shocked Lobster
นอกจากยี่ห้อแล้ว อีกสิ่งที่โยงใยคนแทบทั้งโลก แถมช่วยให้ผู้คนเข้าถึงกันได้ง่าย และรวดเร็วแค่พริบตา ทำให้โลกใบใหญ่ถูกบีบให้เล็กลง "โซเชียลมีเดีย" สื่อที่มีลักษณะของสังคม ทุกคนต่างใช้พื้นที่เพื่อบอกเล่าเรื่องราว ให้อีกหลายคนรับรู้เพียงเสี้ยววินาที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือสารพัดข่าวสาร การสื่อสารที่ทำได้อย่างง่ายดาย แม้คนแปลกหน้าสองคน ครู่เดียวก็กลายเป็นเพื่อนที่คุยกันถูกคอ
เพราะความง่าย เพียงเราคิดแล้วมือพิมพ์ ก็สามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกไปได้ จึงทำให้พื้นที่นั้น มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องโกหก ข้อมูลที่มีประโยชน์ก็มี ข่าวปลอมที่หวังสร้างชื่อเสียให้คนอื่นก็มี หากเราดูผ่าน ๆ ก็อาจติดกับเข้าได้ แต่ทว่าบางเรื่องก็อาจซับซ้อนกว่าที่เห็น เหรียญที่มีสองด้านอาจมีอะไรซ่อนอยู่ เพราะขนาดภาพสองมิติธรรมดา ๆ ก็ยังหลอกตาเราได้เลย
ภาพชีวิตผู้คนบนโลกออนไลน์ช่างเจริญตา อาหารมื้อแพง รถนอกราคาสูง มักกระตุ้นความอยากและโหยหา บางทีก็ดูเหมือนฝัน พอเรายึดติดกับมันมากเข้า เราจึงเริ่มลากเอาชีวิตของเราเข้าสู่ความฝันนั้น และหลายครั้งที่เกิดเรื่องตามมา อย่างเหยื่อเสน่ห์ของเหล่านักรักสแกมเมอร์ หนี้สินนักชอปฯ ที่เกิดจากการไล่ตามกระแสนิยม ข่าวสารที่อาศัยความคลั่งไคล้ตัวบุคคลขั้นสุด เป็นตัวอย่างของความพยายามเติมเต็มภาพฝันเพื่อสร้างชีวิตบนนั้น
วิถีชีวิตไหลที่ไปตามความนิยมบนสื่อฯ บางทีก็ดูเหมือนว่านั่นคือโลกจริง ๆ ของเราอีกใบ แม้ว่าเราไม่สามารถจับต้องอะไรได้เลยก็ตาม แต่กลับมีอิทธิพลกับชีวิตจริง ๆ ของเรา ดังนั้น นอกจากหน้าที่ในสถานะสังคมออนไลน์แล้ว โซเชียลมีเดียจึงเป็นเหมือนเครื่องกำหนดบรรทัดฐาน หรือค่านิยมในสังคมจริงอย่างกลาย ๆ
Social Media by Shocked Lobster
ร้อยแปดภาพที่ผ่านตาเข้ามาในทุกวัน ความเป็นไปต่าง ๆ ของสิ่งรอบข้าง ที่เรามักปักเชื่อใจ บ่อยครั้งที่เรามองมันอย่างผิวเผิน หรือเลือกชมเพียงด้านเดียว ซึ่งอีกด้านอาจมีแก่นสารที่สำคัญ หรือบางสิ่งถูกซุกซ่อนอยู่ หากเราลองมองให้ถี่ถ้วนขึ้น อาจจะพบความจริงหรือเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน จากนั้นพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจกับมันมากขึ้น ภาพที่เราเห็นจะยิ่งปรากฎชัดเจน ช่วยลดโอกาสที่เราจะถูก"ภาพ"หลอกตาลงได้ "ว่าแต่ว่า ตอนนี้คุณกำลังตกอยู่ในภาพลวงตาอยู่หรือเปล่าครับ"
ข้อคิด
ความคิดเห็น
เรื่องเล่า
บันทึก
1
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย