Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandAge Online
•
ติดตาม
22 ม.ค. 2023 เวลา 10:38 • การตลาด
อ่านเกม ! โออิชิ ทำอย่างไร
ในวันที่ธุรกิจเต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆ
หากมองเข้ามาที่ผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565) ของบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แล้ว พบว่า สามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เนื่องจากการวางแผนงานและปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
โดยมีรายได้จากการขายทั้งสิ้นจำนวน 12,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,878 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตสูงถึงร้อยละ 29.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มจำนวน 7,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,042 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และรายได้จากธุรกิจอาหารจำนวน 5,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,836 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 51.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ขณะที่กำไรสุทธิรวม คิดเป็นจำนวน 1,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 654 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตที่ระดับร้อยละ 120 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นมาก เป็นหลัก และจากการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารที่ทำให้มีผู้บริโภคกลับมาใช้บริการที่ร้านมากขึ้น ประกอบกับมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่น่าสนใจใน การทำตลาดในปี 2566 ของโออิชิ นั้น โออิชิ จะทำอย่างไร เพื่อเดินหน้าสร้างการเติบโตทั้งในส่วนของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ในวันที่ตลาดเต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
โดยจะทำอย่างไร เพื่อให้สามารถผลักดันตัวเองให้ยังคงเติบโตในฐานะผู้นำตลาด พร้อมสร้างโอกาสในการบริโภคผ่านนวัตรกรรมทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ และการตลาด รวมถึงการสร้าง Business Model ใหม่ๆ เพื่อเจาะเข้าไปหาดีมานด์หรือผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่ใช้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจากปี 2565 ที่ผ่านมา
ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือ การเปิดตัวชาเขียว น้ำตาล 0% ฮันนี่ เลม่อน ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนสามารถผลักดันให้เซ็กเม้นต์นี้มีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเป็นการเติบโตจากการดึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาดื่มชาเขียว โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยดื่มและออกจากตลาด เนื่องจากลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลง อย่างกลุ่มผู้หญิงวัยทำงาน
โออิชิ เปิดตัว ชาน้ำตาล 0% ตัวใหม่คือ รสดั้งเดิม เพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิมคือฮันนี่ เลม่อน โดยเริ่มวางขายผ่านโลตัส ก่อนที่จะขยายออกไปวางในช่องทางอื่นๆ ในเร็วๆ นี้ โดยชารสหวานแต่น้ำตาล 0% ปัจจุบัน มีสัดส่วนประมาณ 3% ของตลาดขาโดยรวมที่มีมูลค่าประมาณ 13,228 ล้านบาท แน่นอนว่า โออิชิ ย่อมได้ประโยชน์จากเติบโตของเซ็กเม้นต์นี้ ในฐานะผู้เข้ามาเปิดตลาดเป็นแบรนด์แรก
ส่วน ชาอีกตัวที่มีการเติบโตค่อนข้างดี คือ ชาคูลซ่า ที่เป็นสปาร์คกิ้ง ชา หรือขาที่อัดคาร์บอเนต โดยส่วนหนึ่ง เป็นการเติบโตตามเทรนด์ของเครื่องดื่มอัดก๊าซหรือคาร์บอเนต ดริ๊งก์ ที่ไม่ใช่น้ำอัดลม ขณะที่อีกส่วนหนึ่งของการเติบโตจะมาจากการขยายช่องทางขายใหม่ๆ ที่สามารถผลักดันชาตัวนี้เข้าไปขายในโรงเรียน แทนที่น้ำอัดลม ที่ถูกห้ามขายในหลายโรงเรียน
ทำให้ โออิชิ สามารถสร้างการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดได้จาก 43% มาอยู่ที่ 48% ในปีที่ผ่านมา
นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “โออิชิ มีความมุ่งมั่นตั้งใจส่งต่อผลิตภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่มที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าเสมอมา โดยให้ความสำคัญด้าน คุณภาพ มาเป็นอันดับหนึ่ง พิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่วัตถุดิบที่ถูกคัดสรรทุกองค์ประกอบตั้งแต่แหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานสู่โรงงานที่ทันสมัย เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่มชั้นเลิศที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์ และความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพ
เธอบอกว่า โออิชิ กรีนที ยังคงครองแชมป์เจ้าตลาดชาพร้อมดื่มหลังกวาดส่วนแบ่งตลาด 48% (ที่มา : NielsenIQ (ประเทศไทย) ตั้งแต่เดือนตุลาคม – กันยายน 2565) ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่ขับเคลื่อนโออิชิ กรีนที คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ โดยเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และขยายฐานผู้ดื่มอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะกลุ่มคนที่รักสุขภาพ ล่าสุดได้สร้างเซกเมนต์ใหม่ ชาเขียวน้ำตาล 0% ตอบรับเทรนด์สุขภาพที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเล็งเห็นโอกาสต่อยอดธุรกิจ เตรียมแผนลุยตลาดผ่านการสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดใหม่ ๆ ปลุกกระแสการดูแลสุขภาพ พร้อมตอกย้ำคุณค่าชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชิน
ในปี 2566 ธุรกิจเครื่องดื่มเดินหน้าขับเคลื่อน 4 กลยุทธ์หลักดังนี้ 1. สื่อสารประโยชน์ของชาเขียว สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของคาเทชินที่มีในชาเขียวโออิชิทุกขวด เนื่องด้วยใบชานั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง มีสารคาเทชิน โดยเฉพาะยอดอ่อนใบชา 3 ใบ
จากข้อมูลในหลาย ๆ งานวิจัยพบว่า คาเทชินทำหน้าที่ป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งสารอนุมูลอิสระนี้เป็นสาเหตุของการเสื่อมเสียต่าง ๆ และเป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามอายุที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสดชื่น
2.ขยายฐานกลุ่มวัยรุ่น เพิ่มมูลค่าให้กับบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความผูกพันกับกลุ่มวัยรุ่น และ
3. ขยายเซ็กเมนต์น้ำตาล 0% สร้างการเติบโตให้กับสินค้ากลุ่มน้ำตาล 0% เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ เช่น โออชิ ฮันนี่ เลมอน น้ำตาล 0% ที่ได้รับการตอบรับดีมากจากผู้บริโภคหลังจากเปิดตัวไปในปีก่อน รวมถึง โออิชิ โกลด์ ก็ยังคงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่รักสุขภาพ ผลิตจากใบชานำเข้าจากไร่ชามัตสึดะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รางวัล The Emperor’s Cup ชารางวัลจักรพรรดิญี่ปุ่นปี 2015 และรางวัล ต่าง ๆ มากมาย
4.ขยายตลาดส่งออก โดยเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดหลัก คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ตลอดจนสร้างโอกาสการเติบโตในตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน โออิชิ ส่งออกไป 33 ประเทศ มีสัดส่วนส่งออกประมาณ 20 – 30% เป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่มกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา โดยในปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกมีการเติบโต 3 – 4% เนื่องจากหลายประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด – 19
บาลานซ์พอร์ตธุรกิจอาหาร
ขยายสู่ “Non Buffet” มากขึ้น
การสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจอาหารของโออิชิ ในปีนี้ นอกจาก ยังคงให้ความสำคัญกับการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 20 สาขา จากที่มีตัวเลขสาขารวมอยู่ที่ 266 สาขา แล้ว ในปีนี้ โออิชิ ยังคงให้ความสำคัญกับการทำตลาดในช่องทาง “ออฟพรีมิส” ทั้งเดลิเวอรี่ และเทคโฮม ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้เป็นอย่างดี
โดยในช่วงที่ผ่านมา แม้คนจะเริ่มกลับเข้ามานั่งทานในร้านมากขึ้น แต่ช่องทางนี้ ยังคงมีตัวเลขเติบโตสูงถึง 46% โดยเฉพาะกับการใช้เครื่องมืออย่างแอพพลิเคชั่น “Bevfood” ซึ่งเป็นแอพที่โออิชิพัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อทำตลาดโดยตรงถึงลูกค้า โดยเฉพาะกับการทำ CRM ที่สามารถช่วยในเรื่องของการใช้บริการต่อเนื่องได้ โดยมีคนติดตามประมาณ 1.2 ล้านราย
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นอกจากการให้ความสำคัญกับการเติมแบรนด์ใหม่ๆ เพื่อทำให้แบรนด์ พอร์ตฟอลิโอ มีความแข็งแกร่งมากขึ้นแล้ว โออิชิ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการบาลานซ์พอร์ต ด้วยการขยายร้านอาหารใหม่ๆ ที่เป็น Non Buffet มากขึ้น โดยเน้นในเรื่องของการเป็นร้านที่มีความคุ้มค่า คุ้มราคา และเข้าถึงได้ง่าน
เป็นการปรับกลยุทธ์เพื่อรับกับภาพรวมไลฟ์สไตล์การใช้บริการร้านอาหารญี่ปุ่นของคนไทย ที่วันนี้ ร้านอาหารญี่ปุ่นแทบไม่แตกต่างจากร้าน QSR ที่เป็น Every day Occasion สามารถบริโภคได้ทุกวัน ซึ่งจะแตกต่างจากในอดีตที่การทานอาหารญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาพิเศษ หรือการเฉลิมฉลอง
สำหรับแบรนด์ใหม่ๆ ที่ถูกเติมเข้าไปและจะถูกให้น้ำหนักมากขึ้นนั้น จะมีแบรนด์อย่าง โฮว ยู” (HOU YUU) ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์แคชช่วล ไดนิ่ง ที่ปัจจุบันมี 5 สาขา จากเดิมที่มีเพียง 1 สาขาที่ตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
ส่วนอีก 2 แบรนด์ ที่เปิดตัวคือร้าน โออิชิ บิซโทโระ และชาบู บายโออิชิ ซึ่งแบรนด์แรก จะเป็นเรือธงในการขยายฐานแบรนด์ออกจากการเป็นแค่บุฟเฟต์เหมือนในอดีต โดยนอกจากจะมีการขยายสาขานอกห้างที่จะเข้าไปในย่านชุมชนและสถานีบริการน้ำมันแล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการขายแฟรนไชส์ให้กับผู้สนใจอีกด้วย
โออิชิ บิซโทโระ เป็นร้านอาหารจานเดียว ที่มีราคาเข้าถึงได้ง่าย คือไม่เกิน 200 บาท ปัจจุบัน มีการขยายสาขาไปแล้ว 10 สาขา ร้านอาหารแบรนด์นี้ เปรียบไปก็คล้ายๆ กับร้านอาหารประเภท QSR ที่เน้นขายความสะดวกในการบริโภคมีทั้งเมนูข้าวหน้า เมนูเส้น และขนมหวาน ใช้เงินลงทุนในการขยายสาขาไม่มาก ทำให้สามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี สามารถขยายสาขาไปได้แล้ว 10 สาขา โดยโออิชิ จะใช้เงินลงทุนประมาณกว่า 600 ล้านบาท มากกว่าครึ่งจะเป็นการใช้เพื่อการขยายสาขาใหม่ๆ
ขณะเดียวกัน โออิชิ บิซโทโระ ถือเป็นการเปลี่ยนภาพของโออิชิ ที่ไม่เพียงจะขยายออกจากกรอบของการเป็นบุฟเฟต์เท่านั้น แต่ยังทำให้โออิชิ กลายเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ ที่จะทำให้สามารถขยายสาขาได้รวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น
การขยับตัวเองออกจากภาพของการเป็นบุฟเฟต์ ที่ติดตัวมานานนั้น ยังรวมถึง การเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ผ่านกลยุทธ์ “บุฟเฟต์ + อะลาคาร์ท” ที่ลูกค้าสามารถเลือกจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อได้เมนูที่เป็นพรีเมียมมากขึ้น อย่างการเปิดโออิชิแกรนด์ โฉมใหม่ และการปรับการนำเสนอของชาบูชิ ที่เดิมทำบุฟเฟต์ ราคาเดียวคือ 399 บาท ก็จะมีการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าสามารถเข้าถึงเมนูพรีเมียม ในราคา 599 บาท เป็นต้น
ตาม Passion 2025 ที่เชื่อมโยงกับบริษัทคือ ไทยเบฟ นั้น โออิชิ มองถึงการขยายสาขาได้ครบกว่า 400 สาขา โดยนงนุช บอกว่า โออิชิ กรุ๊ป มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจตามเป้าหมาย PASSION 2025 โดยสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมมาพัฒนาอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการออกสินค้าใหม่ ๆ ที่สอดรับกับแนวคิดเรื่อง Health & Wellness ที่เป็นเทรนด์สำคัญในปัจจุบันและอนาคต
ประกอบกับขยายฐานลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดที่โดนใจผู้บริโภคต่อเนื่อง ตลอดจนผลักดันการเข้าถึงลูกค้าด้วยการขยายสาขา
“หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของโออิชิ คือ ยึดมั่น “คุณภาพ” พร้อมมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน”
อ่านเพิ่มเติม
https://brandage.com/article/34067
#BrandAgeOnline #Oishi #โออิชิ
กลยุทธ์การตลาด
ธุรกิจ
แนวคิด
3 บันทึก
6
2
3
6
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย