Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Ikigai
•
ติดตาม
22 ม.ค. 2023 เวลา 11:37 • ธุรกิจ
SHOE DOG
เพิ่งอ่านหนังสือ Shoe Dog ที่เขียนโดย Phil Knight เจ้าของรองเท้าไนกี้จบ แบรนด์รองเท้าและอุปกรณ์กีฬาที่เรารู้จักกันดี และน่าจะมีแทบทุกบ้านอย่างน้อยก็ 1 คู่ แต่คิดว่าน้อยคนนักที่จะรู้จักเจ้าของ ผู้ก่อตั้ง ทีมงานและประวัติล้มลุกคลุกคลาน กว่าจะก่อเกิดเป็นไนกี้ขึ้นมาได้
ฟิล ไนท์เริ่มปูเรื่องชีวิตเขาตั้งแต่ช่วงเรียนจบมหาวิทยาลัยออเรกอน แล้วไปต่อโทที่สแตนฟอร์ด ซึ่งเขามีไอเดียในการทำธุรกิจเกี่ยวกับรองเท้าวิ่งมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เขาเคยทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับรองเท้าวิ่ง และเสนอเป็นงานโปรเจคต์ที่สแตนฟอร์ด ซึ่งทำให้เขาหมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องรองเท้าวิ่งมาตั้งแต่นั้น ประกอบกับเคยเป็นนักวิ่งของมหาวิทยาลัยตอนอยู่ม.ออเรกอนด้วย ทำให้เขารู้เรื่องรองเท้าวิ่งไม่เบา เขาตั้งใจที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับรองเท้าวิ่ง โดยมีแผนนำเข้ารองเท้าวิ่งจากญี่ปุ่น
แต่เขาคิดว่าก่อนที่จะเริ่มการเดินทางของชีวิตตัวเอง เขาควรต้องเข้าใจการเดินทางอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติก่อน เขาอยากเปิดโลก เรียนรู้ผู้คนและวัฒนธรรมอื่นๆ เพื่อสัมผัสถึงการมีอยู่ของสิ่งที่ยิ่งใหญ่บางอย่างก่อน ….
เขาวางแผนเดินทางทั่วโลกพร้อมกับเพื่อนชื่อคาร์เตอร์ไปยังจุดหมายแรกคือฮาวาย แต่เมื่อไปถึง ทั้งคู่หลงไหลชีวิตริมทะเลที่เต็มไปด้วยสีสัน จนทำให้เด็กหนุ่ม 2 คนที่มาจากเมืองที่เรียบง่าย ไม่มีอะไรน่าสนใจนัก ถึงกับหางานทำเพื่ออยู่ต่อที่ฮาวายไปอีกหลายเดือนเลยทีเดียว จนถึงจุดที่ฟิลรู้สึกว่าชีวิตต้องไปต่อแล้ว แต่คาร์เตอร์กำลังมีความรักกับสาวฮาวายคนหนึ่ง จึงปฏิเสธการเดินทางต่อ ทำให้ฟิลต้องเดินทางต่อไปคนเดียว
เขาบินจากฮาวายไปญี่ปุ่น ซึ่งที่นั่นเขาได้พบกับกลุ่มชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในโตเกียว และได้ให้คำแนะนำต่างๆในการทำธุรกิจกับคนญี่ปุ่น จนกระทั่งเขาได้นัดพบกับผู้บริหารของโอนิซึกะ ไทเกอร์ และได้เริ่มทำการสั่งซื้อรองเท้าวิ่งล็อตเล็กๆล็อตแรกจากไทเกอร์ จากนั้นจึงเดินทางต่อตามแผนที่ได้วางไว้ไปยังฮ่องกง ฟิลิปปินส์ กรุงเทพฯ เวียตนาม บอมเบย์ ไคโร เยรูซาเร็ม อิสตันบุล โรม ฟลอเรนซ์ มิลาน เวนิส ปารีส เบอร์ลิน มิวนิก เวียนนาและจบลงที่กรีซ
เป้าหมายที่เขาอยากไปมากที่สุดตั้งแต่แรกเลยก็คือ อะโครโพลิสที่มีวิหารพาร์เธนอน แหล่งก่อกำเนิดอารยธรรมตะวันตกของมนุษยชาติ ความยิ่งใหญ่ที่เขาจำเป็นต้องมาสัมผัส รับรู้ ด้วยการยืนอยู่ที่ตรงนั้น
ฟิลกลับไปตั้งบริษัทจำหน่ายรองเท้าวิ่งที่บ้านเกิด กิจการไปได้ดี แต่การทำธุรกิจกับโอนิซึกะ ไทเกอร์มีปัญหาไม่ราบรื่นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการส่งรองเท้ามาให้ช้า การเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ของทางญี่ปุ่น ความไม่ไว้วางใจกันในที รวมไปถึงการมีคู่แข่งในอเมริกาที่พยายามจะช่วงชิงการเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวของแบรนด์ไทเกอร์ แม้ว่าบริษัทของเขาจะเปิดหน้าร้านและขยายสาขาแล้วก็ตาม
ในหนังสือฟิลจะพูดถึงและให้ความสำคัญกับคุณพ่อของเขา,เพนนี ภรรยาของเขา, โค้ชและเพื่อนๆ คนรู้จักที่กลายเป็นผู้บริหารของบริษัทเขาค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่แทบจะทั้งหมดเป็นชาวออเรกอน ที่เขาภูมิใจนักหนา เขาภูมิใจในความเป็นชาวออเรกอน และลึกๆแล้ว เขาต้องการสร้างบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่แก่เมืองของเขา
แน่นอนว่าโค้ชและเพื่อนๆที่เขาเลือกมาร่วมงานด้วย ล้วนเป็นนักวิ่งกันทุกคน และทุกคนมาด้วยใจรักในรองเท้าวิ่ง และต่างมองเห็นอนาคตของสิ่งนี้ เช่นเดียวกับฟิล โค้ชบิล บาวเวอร์แมน ผู้หลงไหลในกีฬาวิ่ง และเคยเป็นโค้ชของเขา คือคนแรกที่บิลวิ่งเอารองเท้าโอนิสึกะ ไทเกอร์ไปให้ดูด้วยความตื่นเต้น โค้ชบาวเวอร์แมนเคยปรับประยุกต์รองเท้าวิ่งให้นักกีฬาหลายต่อหลายคน เขาสร้างนักวิ่งจำนวนมหาศาล และมีถึง 31 คนที่ได้เข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกเกม
โค้ชบาวเวอร์แมนกลายเป็นหุ้นส่วนคนแรกของฟิล ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทที่ขายรองเท้าโอนิสึกะ ไทเกอร์ มาจนถึงไนกี้ในปัจจุบัน และรองเท้าไนกี้หลายรุ่นก็เกิดจากความคิดและฝีมือของบาวเวอร์แมนล้วนๆ เช่น รุ่นคอร์เตซอันโด่งดัง หรือรุ่นวาฟเฟิลที่เขาทดลองใช้เตาอบวาฟเฟิลมาเป็นแม่พิมพ์ยางพื้นรองเท้าเพื่อทำต้นแบบ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีจอห์นสัน, วู้ดเดลล์ ซึ่งเป็นตัวหลักตั้งแต่ยุคแรกก่อนที่จะเกิดไนกี้ขึ้นมา ทั้งคู่มีบทบาทสำคัญต่อบริษัทของฟิลในการช่วยแก้ปัญหาต่างๆเป็นอย่างมาก และจอห์นสันยังเป็นคนตั้งชื่อแบรนด์ไนกี้อีกด้วย
ส่วนหญิงสาวที่ออกแบบโลโก้เครื่องหมายสวู้ชที่เราคุ้นตาก็เป็นนักศึกษาศิลปะ ที่ฟิลเสนอตำแหน่งงานในบริษัทให้ ตั้งแต่เขาพบเธอวาดรูปอยู่ในมหาวิทยาลัยที่เขาเคยสอน เธอกำลังวาดรูปอยู่กับเพื่อนๆ และเขาเดินผ่านไปได้ยินที่เธอพูดกับเพื่อนเรื่องไม่มีเงินไปซื้ออุปกรณ์วาดสีน้ำมันพอดี เขาจึงหยุดดูรูปที่เธอวาดและเสนองานให้เธอทันที
แคโรลิน เดวิดสันคือชื่อของนศ.คนนั้น และภายหลังเธอก็คือคนออกแบบโลโก้ “สวู้ช”ที่ดูเหมือนปีก, เหมือนเครื่องหมายถูก หรือร่องรอยของการวิ่งผ่านอย่างรวดเร็ว หรือเหมือนอะไรอีกหลายอย่างนั่นเอง เธอได้รับเช็ค 35 เหรียญจากฟิล สำหรับการออกแบบโลโก้ชิ้นนั้น (เธอเป็นพนักงานบริษัทอยู่แล้ว) แต่หลังจากที่ไนกี้เริ่มโด่งดังและวางขายไปทั่วโลก ฟิลก็ได้ให้ของขวัญพิเศษแก่เธอ เป็นแหวนเพชรที่มีทองสลักเป็นรูปสวู้ช และมอบหุ้นให้อีก 500 หุ้น ซึ่งมีค่าประมาณ $1,000,000 ในปี 2015 และหุ้นได้แตกพาร์ออกเป็น 32,000 หุ้นในปี 2016
ไม่มีคำว่าราบเรียบ ง่ายดายหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบเลยสำหรับฟิล ตั้งแต่บริษัทบลูริบบอนที่เขาก่อตั้งขึ้นมา เพื่อขายรองเท้าวิ่งจากญี่ปุ่น การบินเทียวไปเทียวมาที่ญี่ปุ่นเพื่อเจรจาต่อรอง แก้ปัญหา ไปจนถึงการหมุนเงิน วิ่งกู้หนี้ยืมสิน จนแบรนด์ไนกี้เกือบไม่ได้เกิดแล้ว ฟิลเขียนบรรยายเห็นภาพ จนเราต้องลุ้นไปด้วย สนุก ตื่นเต้น เศร้า เต็มไปด้วยมิตรภาพ ความรัก ทีมเวิร์ค และความรักในเกมกีฬา
อ่านแล้วรู้สึกว่าเขาเป็นคนธรรมดาทั่วไปคนหนึ่ง เหมือนเพื่อนสักคนของเราหรือคนที่เคยรู้จัก เขามีบุคลิกขี้อายออกจะเปิ่นหน่อยๆ แต่มีสายตาและความคิดที่เฉียบคม ความมุ่งมั่นแบบทะลุปรอท แถมยังอ่อนไหวสุดๆ เขาตั้งชื่อแบรนด์ในวันสุดท้ายว่า Dimension 6 ซึ่งทีมงานต่างโห่ไม่เอากัน และบอกว่ามันไม่เข้าท่าเลย ชื่ออื่นๆที่ทีมคิดกันเช่น Falcon, Bengal ก็ทำให้ทุกคนเครียดเช่นกัน จนกระทั่งจอห์นสันส่งชื่อมาในนาทีสุดท้ายก่อนที่รองเท้าล็อตแรกจะออกจากโรงงานว่า Nike ที่เป็นภาษากรีก แปลว่าเทพีแห่งชัยชนะ
หนังสือหนาสี่ร้อยกว่าหน้า แต่ฟิลเขียนได้สนุก อ่านง่าย ใช้เวลาอ่านไม่นานอย่างที่คิด ทำให้ได้รู้จักผู้ก่อตั้งและบริษัทไนกี้มากขึ้น รู้ว่าฟิลคนเดียวไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่มีเพื่อนฝูงที่เป็นทีมงานคอยช่วยเหลือ ได้รู้ว่ากว่าจะเป็นไนกี้นั้นไม่ง่ายเลย และพวกเขาเก่งมาก
ที่สำคัญ ทำให้การมองรองเท้าไนกี้ของเราเปลี่ยนไป เราจะสังเกตพื้นรองเท้า, ชั้นต่างๆในรองเท้า รวมไปถึงชื่อรุ่นมากกว่าเดิม ทำให้เราอยากไปเห็นสำนักงานใหญ่ของไนกี้ในออเรกอน ที่มีร้านไนกี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่ ที่มีถนนชื่อบาวเวอร์แมน และสวนญี่ปุ่นนิชโชอิวาย
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย