23 ม.ค. 2023 เวลา 10:29 • ปรัชญา

ในบทความก่อนผู้เขียนได้เขียนถึง คัมภีร์ห้าห่วง

ที่เป็นยอดกลยุทธ์และปรัชญาการบริหารของ MIYAMOTO MUSASHI
คำภีร์ห้าห่วงอันประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และความว่างเปล่า
1
หนึ่งในศาสตร์ที่ผู้เขียนได้อ่านแล้วมีความสนใจเป็นพิเศษนั้นคือ
“ศาสตร์ของความว่างเปล่า”
ที่ได้กล่าวถึงปรัชญาในการดำรงชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง
เมื่อชีวิตของนักรบที่ต้องใช้ดาบต่อสู้ในสงคราม
แต่ในวิถีของนักรบนั้นต้องครอง “สภาวะจิตใจที่เป็นปกติ” อยู่เสมอ
ไม่ว่าจะเดิน จะนั่ง จะกิน หรือแม้กระทั่งต่อสู้
เป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิตที่มีความแยบยลไปกับธรรมชาติ
มีคำกล่าวที่ว่า
“ดวงตานั้นไม่อาจมองเห็นจิตใจ”
ในการสู้รบ เมื่อศัตรูกำลังรุกอยู่ ให้ควรปล่อยใจให้ล่องลอย
ต้องเตรียมใจให้พร้อมเสมอ
ต้องสังเกตุท่วงทำนองเพื่อเรียนรู้อุปนิสัยของคู่ต่อสู้อยู่ตลอดเวลา
แต่ไม่ยึดติดที่จุดหนึ่งและรีรอ
หากเราพลาดในสิ่งที่มองเห็น
เราจะประสบพบเอจกับความพ่ายแพ้อย่างไม่คาดคิด
“ศาสตร์ของความว่างเปล่า” เป็นศาสตร์ของการวางใจให้เป็นปกติ
ไม่ยึดติด หลงใหล หรือลังเลสงสัยในสิ่งใด
สอดคล้องกับคำสอนของท่านพระพุทธทาสภิกขุ
ในหนังสือเรื่อง “จิตว่าง”
ที่พูดถึง การดำรงชีวิต หรือประกอบอาชีพด้วยจิตว่าง
ไม่ได้โลภ หลง โทสะ หรือยึดติดเพื่อเอาชนะเป็นหลัก
ปรัชญาของมูซาชิ อันเป็นการใช้ความว่างเปล่า เพื่อเอาชนะศัตรู
แท้จริงแล้วคือการเอาชนะเมฆหมอกของความลังเลและโง่เขลาในตนเองเสียก่อน จึงจะสามารถชนะหรือบรรลุสิ่งต่างๆไปได้ง่ายดาย
เพื่อนๆอาจสงสัยว่า ในชีวิตที่เป็นอยู่ของเรานั้น
ทำไมจึงมีคนเก่งหรือคนรวยมากมายที่ต้องทุกข์ทรมาน
จนไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกหรือปัญหาของชีวิตได้
หรือในบางทีตัวเราเองพบเจอกับปัญหาที่อาจดูไม่ใหญ่เท่าคนอื่น
แต่กลับทุกข์และสิ้นคิดในการหาทางออกกับบางเรื่อง
อย่าเพิ่งโทษตัวเองเกินไป
เพราะนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เราอาจต้องเรียนรู้
เพื่อก้าวผ่านและทำความเข้าใจกับตนเองอย่างลึกซึ้ง
ว่าอาจมีบางสิ่งที่เราหลงยึดติดอยู่ก็เป็นได้
ในปรัชญาของมูซาชิ กล่าวว่าอาการยึดติดหรือหลงใหลทั้งหลาย
คือ “ความป่วยไข้”
ความคิดที่ลุ่มหลงต่างๆ เราควรละทิ้งเสีย
แม้ว่าจะรู้แล้วก็ควรวางความรู้ทิ้ง
ความหลงใหลในการต่อสู้ เรียกว่า ความป่วยไข้
ความหลงใหลในการโจมตี เรียกว่า ความป่วยไข้
ความหลงใหลในการป้องกันตนเอง เรียกว่า ความป่วยไข้
เมื่อเราฝังใจอยู่กับความหลงใหลใดๆ เมื่อนั้นเราจะพบกับความป่วยไข้
เพื่อนๆคิดว่าหลักการของมูซาชินี้มีความน่าสนใจอย่างไรกันบ้าง
ส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกว่า ศาสตร์นี้สำคัญพอๆกับความขยัน
เพราะเราควรจะเก่งขึ้นไปพร้อมกับการรู้เท่าทันความเก่ง
และระดับความว่องไวของสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ
เพื่อที่เรายังคงรักษาจิตใจที่สงบผ่อนคลายของเราไว้ได้
และหากวันหนึ่งต้องสูยเสียความเชี่ยวชาญนี้ไปก็ไม่ทุกข์
เพราะการยึดติดหลงใหลในสิ่งต่างๆนั้น คือการทำให้จิตใจของเราป่วยไข้
และไม่ใช่ “สภาวะปกติที่จิตใจควรจะเป็น”
แล้วสภาวะปกติของจิตใจควรเป็นเช่นไร?
จิตที่ว่างไม่ใช่จิตที่ล้มเหลวต่อการทำสิ่งต่างๆ แต่เป็นจิตใจที่เป็นอิสระจากความเคร่งเครียด และไม่หละหลวมเกินไป
ยกตัวอย่างเช่น หากเราตั้งใจเขียนตัวหนังสือมากเกินไป มักจะไม่สวย
นั้นก็เพราะเราใช้มือเขียน แต่ใจของเราไม่ได้อยู่ที่มือ
แต่ไปอยู่ที่การเคร่งว่าต้องทำออกมาให้สวยหรือได้ดีแทน
ความจริงแล้ว การจะทำให้สวยต้องใช้เวลาในการฝึกฝน
เราเพียงใส่ใจที่มือและวางใจให้ว่างเปล่า
ลองสังเกตอีกครั้ง เมื่อเราไม่ได้ตั้งใจมาก
เราจะเขียนมันออกมาได้สวยอย่างธรรมชาติและง่ายดายเสียด้วย
เพราะซามูไรก็คืองานศิลปะ
การใช้ดาบคือการฝึกศิลปะ และการใช้ชีวิตก็คือศิลปะ
ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น การพูดเป็นเรื่องง่าย การอ่านตำราก็ไม่เป็นการปฏิบัติ
การจะหาคนที่มีจิตใจในระดับลึกซึ้งเป็นเรื่องที่ฝึกฝนได้ยาก
แต่หากวันหนึ่งที่เราสามารถค้นพบสถานที่ที่จิตใจสามารถ
คงอยู่ในสภาวะปกติในร่างกายของเรา
ปัญหาที่ว่าแสนยาก อาจพบทางออกที่แสนง่ายดายก็เป็นได้
นี้คือ “ศาสตร์ของความว่างเปล่า”
ที่มูซาชิ ได้เขียนขึ้นมาและได้รับการยกย่องระดับโลก
เพื่อนๆมีความคิดเห็นอย่าไรกันบ้าง อย่าลืมแบ่งปันในคอมเม้นต์นะคะ
โฆษณา