24 ม.ค. 2023 เวลา 12:26 • ความคิดเห็น

เหตุผลที่บริษัทไม่ควรบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศทุกวัน

- ตอนนี้ชีวิตเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว บางคนเลิกใส่หน้ากากในที่สาธารณะ และบางบริษัทก็เริ่มออกนโยบายให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ
- หัวหน้าผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทที่บังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศ อาจจะมี CEO จะค่อนข้างมีอายุหน่อย เป็นคนรุ่น Baby boomers / Gen X ไม่น้อย
6
- บริษัทที่ผมอยู่ยังไม่ได้มีนโยบายบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศ ให้เป็นสิทธิ์ของแต่ละทีมว่าอยากจะเข้ามาเจอกันบ่อยแค่ไหน
1
- รู้มั้ยครับว่าทำไมเราต้องพักเที่ยงกันตอน 12.00? - เรื่องนี้มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่พนักงานเกือบทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสายพานการผลิต จึงต้องเข้างานเวลาเดียวกัน พักเวลาเดียวกัน เลิกงานเวลาเดียวกัน เพื่อจะได้เปิดและปิดเครื่องจักรตามเวลาได้
12
- การพักเที่ยงจึงเป็นมรดกตกทอดนับร้อยปี มาเดี๋ยวนี้พนักงานกินเงินเดือนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในโรงงาน แต่ทำงานออฟฟิศ จึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่ต้องพักเที่ยงตอนเที่ยงตรง หรือเริ่มงานตอนแปดโมงพร้อมๆ กันหมด
7
- การเข้าออฟฟิศก็เป็นมรดกตกทอดนับร้อยปีเหมือนกัน เพราะแต่ก่อนจะทำงานได้ เราต้องอยู่ที่ออฟฟิศเท่านั้น เพราะเครื่องพิมพ์ดีดก็อยู่ที่ออฟฟิศ ห้องประชุมก็อยู่ที่ออฟฟิศ จดหมายเวียนหรือเซ็นเอกสารก็ต้องทำกันที่ออฟฟิศ
3
- Yuval Noah Harrari ผู้เขียน Sapiens เคยกล่าวไว้ว่า "เราไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อจะทำนายอนาคต เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อจะเป็นอิสระจากมัน" เมื่อเรารู้ที่มาที่ไป status quo เราก็ไม่จำเป็นต้องถูกกักขังจากอดีตอีกต่อไป
11
- เคยมีนิทานคลาสสิคเรื่องหนึ่งที่ผมเคยนำมาเล่าไว้ในบล็อกนี้ ชื่อว่านิทานหมูแฮม
วันหนึ่งเด็กสาวมองดูแม่กำลังเตรียมหมูแฮมสำหรับทำอาหาร
1
“แม่คะ ทำไมแม่ต้องหั่นด้านข้างๆ ของหมูแฮมออกด้วยล่ะคะ?”
“เพราะว่าแม่ของแม่ทำอย่างนั้นมาตลอดน่ะสิ”
“แต่ทำไมต้องทำอย่างนั้นด้วยล่ะคะ?”
“แม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เราไปถามคุณยายกันดูดีกว่า”
ลูกและแม่จึงไปหาคุณยาย
“คุณยายคะ ตอนคุณยายเตรียมอาหาร ทำไมคุณยายต้องหั่นด้านข้างๆ ของหมูแฮมออกด้วยล่ะคะ?”
1
“เพราะว่าแม่ของยายทำอย่างนั้นน่ะสิ”
4
“แต่ทำไมต้องหั่นด้วยล่ะคะ”
“ยายก็ไม่รู้เหมือนกัน ลองไปถามยายทวดกันดีกว่า”
3
ลูก แม่ และยายเลยไปหายายทวด
“ยายทวดคะ ตอนยายทวดเตรียมอาหาร ทำไมยายทวดต้องหั่นด้านข้างๆ ของหมูแฮมออกด้วยล่ะคะ?”
“อ๋อ สมัยนั้นถาดที่ยายทวดมีมันเล็กไปน่ะ”
4
- การเข้าออฟฟิศก็เหมือนกับการหั่นหมูแฮมที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยยายทวดโดยไม่เคยหยุดตั้งคำถามว่ามันยังจำเป็นต้องหั่นอยู่มั้ย
3
- แน่นอนว่าการเข้าออฟฟิศนั้นมีประโยชน์ เพราะสร้างความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ง่ายกว่า คนที่เพิ่งมาเริ่มงานใหม่ๆ จึงควรเข้าออฟฟิศทุกวัน และเพื่อนร่วมงานที่อยู่มาก่อนก็ควรเข้าไปเจอหน้าเด็กใหม่ด้วยเช่นกัน
1
- อีกประโยชน์หนึ่งของการเข้าออฟฟิศก็คือ เรื่องบางเรื่องมันสอนด้วยคำพูดไม่ได้ เป็นสิ่งที่ “พี่ด้วง” ดวงฤทธิ์ บุนนาค เรียกว่า silent knowledge เพราะเวลาเราเรียนรู้จากคนเก่งๆ หลายครั้งเขาไม่ได้เอ่ยปากด้วยซ้ำ แต่เราเรียนรู้ได้เองจากการสังเกตสีหน้า ท่าทาง การควบคุมอารมณ์ ความตั้งใจ ความเข้มข้นในการทำงาน เราจึงควรมีเวลา face to face กับคนเก๋าๆ ที่เขาสอนเราด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
6
- ตอนอยู่ที่ทำงานเก่า เคยมีหัวหน้าบางคนห้ามไม่ให้ลูกน้องเข้าเฟซบุ๊คเวลางาน ส่วนหัวหน้าผมไม่ห้าม เขาบอกผมว่า "คนจะอู้ ยังไงมันก็หาทางอู้ได้อยู่แล้ว"
12
- ฉันใดฉันนั้น การบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศก็ไม่ได้แปลว่าจะได้งานมากกว่าเดิม คนที่ตั้งใจทำงานจะอยู่ที่ไหนก็ตั้งใจทำงาน คนขี้เกียจจะอยู่บ้านหรือที่ทำงานก็ยังขี้เกียจ แต่พวกนี้เป็นคนส่วนน้อย เราไม่ควรเขียนกฎขึ้นมากำกับคนส่วนน้อยที่ทำให้คนส่วนใหญ่ลำบากไปด้วย
16
- ในทศวรรษ 1960's Douglas McGregor ได้พูดถึง Theory X / Theory Y. ถ้าคุณเชื่อใน Theory X คุณจะรู้สึกว่ามนุษย์นั้นขี้เกียจ ต้องใช้รางวัลหรือการทำโทษเท่านั้นคนถึงจะยอมทำงาน ถ้าเราไม่คอยสำรวจตรวจสอบ เขาก็จะเอาเปรียบเราทันที
3
- แต่ถ้าคุณเชื่อใน Theory Y คุณจะเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีศักดิ์ศรี อยากทำอะไรให้ตัวเองภาคภูมิใจ ดังนั้นเขาจึงเป็นคนมีความรับผิดชอบและอยากทำให้งานออกมาดี แม้จะไม่มีใครมาคอยเฝ้าดูอยู่ก็ตาม
10
- ผู้บริหารที่บังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศ และห้ามไม่ให้พนักงานเล่น Facebook อาจเป็นเพราะเขาเชื่อใน Theory X ซึ่งเมื่อคุณ treat คนแบบไหน ก็จะได้แรงสะท้อนในแบบเดียวกัน
2
- กรุงเทพไม่ใช่เมืองที่เหมาะแก่การเดินทางเข้าเมืองทุกวัน คนที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงานไม่ได้มีบ้านอยู่ในเมือง เมื่อต้องหมดพลังก้อนใหญ่ไปกับการเดินทาง ความ productive ย่อมลดลง
10
- อีกหนึ่งเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดของความ productive คือการได้นอนหลับมาอย่างเพียงพอ เมื่อเรานอนมาพอ เราจะอารมณ์ดีและเห็นทุกปัญหาเป็นเรื่องที่รับมือได้ แต่ถ้าเรานอนมาไม่พอ เจออะไรนิดหน่อยเราก็ถอยหรืองอแงแล้ว
7
- หากต้องตื่นแต่เช้าเพื่อหนีรถติดมาเข้าออฟฟิศให้ทันเวลา นั่นยอมหมายความว่าเราจะนอนมาไม่พอ ซึ่งประสิทธิภาพการทำงานย่อมลดลงไปอย่างฮวบฮาบ
2
- การให้พนักงานได้ทำงานที่บ้าน หรือเข้าออฟฟิศแบบ flexible นั้นมีความหมายต่อคนเป็นพ่อเป็นแม่มาก เพราะจะไปรับส่งลูกได้ทุกวัน ลูกที่มีพ่อแม่ WFH ได้ก็น่าจะรู้สึกอบอุ่นกว่าลูกที่วันๆ แทบไม่ได้เจอหน้าพ่อแม่เพราะออกจากบ้านแต่เช้าและกลับถึงบ้านดึกดื่น การบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศจึงเป็นการบ่อนเซาะสถาบันครอบครัวได้เช่นกัน
5
- การได้ใช้เวลากับคนในครอบครัวคือการชาร์จแบตอย่างหนึ่ง เมื่อสบายใจเรื่องที่บ้าน ย่อมมีสมาธิในการทำงาน เมื่อทำงานได้ดี เรื่องที่บ้านก็ดีตามเช่นกัน
5
- อยากมีสมาธิให้ทำงานที่บ้าน อยากมีความคิดสร้างสรรค์ให้เข้าออฟฟิศ งานที่เราทำก็ต้องการทั้งสองแบบ
6
- ส่วนความคิดที่ว่าถ้าพนักงานไม่ได้เข้าออฟฟิศจะไม่สนิทกัน ก็อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป น้องใหม่ๆ ในทีมผมอาจจะเข้าออฟฟิศแค่สัปดาห์ละ 1 หรือ 2 วัน แต่ก็เห็นไปกินไปเที่ยวด้วยกันตลอด ที่รู้เพราะเขาลงใน IG Story
2
(- สำหรับพี่ๆ ที่ยังเล่นแต่ Facebook อยู่ หัดเล่น IG บ้างก็ดีเพราะเด็กรุ่นใหม่เค้าไม่ค่อยโพสต์อะไรลงเฟซแล้ว)
3
- มีน้องหลายคนที่ต้องเข้าออฟฟิศก่อนเวลานั้นเวลานี้ หลายครั้งก็โพสต์ IG Story เป็นภาพรถติดยาวเหยียด
- วันไหนที่ผมจะเข้าออฟฟิศ ผมจะทำงานที่บ้านช่วง 9-11 โมง จากนั้นก็เข้าออฟฟิศไปกินข้าวเที่ยงกับทีม และออกจากออฟฟิศก่อนห้าโมง กลับมามีเวลาสอนการบ้านลูก พอตอนเย็นๆ ค่ำๆ ก็ค่อยทำงานต่ออีกนิดหน่อย
3
- สังคมยุคนี้มีความลื่นไหลทางเพศฉันใด มนุษย์เงินเดือนก็ควรมีความลื่นไหลในการเป็นคนทำงานฉันนั้น คุณค่าของคนวัดกันที่ผลของงาน ไม่ใช่เวลาเริ่ม/เลิกงาน จำนวนชั่วโมงทำงาน หรือจำนวนวันที่อยู่ในออฟฟิศ (แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ)
10
- หากบริษัทยอมให้คนเข้าออฟฟิศแค่สัปดาห์ละ 1-2 วันได้ กรุงเทพจะไม่ได้น่าอยู่แค่ช่วงสงกรานต์กับปีใหม่อีกต่อไป
10
- แน่นอนว่างานบางอย่างก็ทำที่บ้านไม่ได้ และงานบางอย่างเจอหน้ากันก็ดีกว่า นี่จึงไม่ใช่การหลับหูหลับตาจะทำงานที่บ้านท่าเดียว แต่คือการพิจารณาให้ดีว่าเราจะดำเนินนโยบายอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจมากที่สุด - ซึ่งการทำให้คนทำงานมีความสุขและ productive ย่อมสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจได้แน่นอน
โฆษณา