25 ม.ค. 2023 เวลา 12:15 • กีฬา

ยอดกุนซือจากสถิติ: นักคณิตศาสตร์เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลได้ดีจริงหรอ? | Main Stand

ในโลกของฟุตบอลยุคปัจจุบัน การวิเคราะห์ข้อมูลและหลักคณิตศาสตร์ประยุกต์ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งเพื่อพัฒนาฟอร์มการเล่นในสนาม ซื้อขายผู้เล่น หรือป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น
ยอดกุนซือแห่งยุคอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอลา, เยอร์เกน คล็อปป์, และ มิเกล อาร์เตตา ต่างมีประสบการณ์ในวงการลูกหนังมาอย่างโชกโชน เช่นเดียวกับการเปิดรับกลยุทธ์ใหม่ ๆ ผ่านการศึกษาหลักเรขาคณิตในสนามขณะที่ลูกทีมของพวกเขากำลังลงเล่นอยู่
1
ในเมื่อคณิตศาสตร์เข้ามามีอิทธิพลต่อฟุตบอลระดับนี้แล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่หาก นักคณิตศาสตร์มือฉมัง จะเปลี่ยนเส้นทางอาชีพมากุมบังเหียนสโมสรฟุตบอล ? มาวิเคราะห์หาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
1
กีฬาแห่งตัวเลข (และรูปแบบ)
ทุกวันนี้ นอกจากค่าเปอร์เซ็นต์การครองบอล โอกาสทำประตู หรือตัวเลขจังหวะตัดฟาวล์แล้ว สถิติที่ถูกเก็บในฟุตบอลลีกต่าง ๆ ยังลงลึกไปถึงค่า xG หรือโอกาสในการทำประตูได้ ค่าความน่าจะเป็นที่จะชนะการแข่งขัน รวมถึงตัวเลขอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นข้อมูลจำนวนมากจากในช่วงเวลา 90 นาทีของการแข่งขัน
1
อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลมีความแตกต่างจากกีฬาชนิดอื่นตรงที่นอกจากสถิติอย่างง่ายแล้ว เรายังสามารถมองเห็นรูปแบบจากจังหวะเข้าทำต่าง ๆ เช่น หลักเรขาคณิตของมุมยิง ทฤษฎีกราฟในการผ่านบอล หรือรูปทรงเทสเซลเลชั่น ระหว่างที่นักเตะกำลังวิ่งหาพื้นที่อยู่
1
ดร. เดวิด ซัมพ์เตอร์ อาจารย์คณิตศาสตร์ประยุกต์ที่มหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน ถูกทาบทามจากสโมสรในพรีเมียร์ลีกหลายแห่งให้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลจากตัวเลข เขาได้เปิดเผยในหนังสือ Soccermatics ที่เขาเขียนไว้ว่า
1
“มีหลายคำถามของฟุตบอลที่สามารถตอบได้โดยใช้หลักคณิตศาสตร์ เช่น อะไรคือความน่าจะเป็นของการยิงประตูได้ 2 ลูกในนาทีสุดท้ายของนัดชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ลีก ? ไม่ว่าแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะพูดอะไรออกมา คำถามนี้เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของการสุ่ม”
“ทำไมการเล่นผ่านบอลแบบติกิ-ตากา ของบาร์เซโลน่า ถึงมีประสิทธิภาพ ? ข้อนี้เกี่ยวข้องกับเรขาคณิตพลวัต หรือเรื่อง เมสซี่ กับ โรนัลโด้ ใครเก่งที่สุด ? ข้อนี้เกี่ยวกับความเบี่ยงเบนจากข้อมูลจำนวนมาก...”
นอกจากข้อมูลตัวเลขและวิดีโอที่ถูกนักวิเคราะห์นำมาส่งต่อให้กับผู้จัดการทีมนำไปใช้ศึกษาหลังจบการแข่งขันแล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลยังมีส่วนช่วยกับฝั่งตลาดซื้อขายได้เช่นกัน
1
กาลครั้งหนึ่งที่ลิเวอร์พูล พวกเขาเคยมีทีมที่ประกอบไปด้วย ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้อำนวยการกีฬาคนแรกของสโมสร และทีมงานนักวิจัยสี่ราย ได้แก่ ดร. เอียน เกรแฮม (จบฟิสิกส์), ดร. วิลเลียม สเปียร์แมน (จบฟิสิกส์, เคยทำงานที่ CERN), ดร. ทิม วาสเก็ตต์ (จบดาราศาสตร์), และ ดาฟีดด์ สตีลล์ มาเป็นยอดทีมวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่เบื้องหลังการซื้อขายให้กับสโมสร
3
ซาดิโอ มาเน่, โมฮาเหม็ด ซาลาห์, เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ก, อลิสซง เบคเกอร์, ฟาบินโญ่, โจเอล มาติป และ แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน คือหนึ่งในผลงานการซื้อตัวจากทีมวิจัยชุดนี้ ที่ทั้งทำกำไรให้กับสโมสร และยกระดับทีมให้เคยขึ้นไปไล่ล่าแชมป์มาแทบทุกรายการแล้ว
1
เบรนท์ฟอร์ด, มิดทิลแลนด์ และ ไบร์ทตัน ก็เป็นสโมสรที่นำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้เช่นกัน โดยมุ่งเป้าไปที่นักเตะที่ไม่ได้มีค่าตัวสูงมากนักแต่มีความสามารถเพียงพอมาเล่นให้กับทีม และพร้อมขายเอากำไรกลับมาเมื่อจำเป็น เพราะสโมสรสามารถคว้าตัวเพชรเม็ดงามดวงใหม่เข้ามาได้อยู่เสมอ
1
ในเมื่อคณิตศาสตร์ ข้อมูล และรูปแบบเข้ามามีส่วนกับฟุตบอลขนาดนี้ งั้นแปลว่าถ้าจับนักคณิตศาสตร์เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลก็คงไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรนัก...
แต่นั่นก็ไม่ใช่การสรุปที่ถูกต้องเสียเท่าไร
ความคล้ายที่แตกต่าง
1
แม้จะมีจุดที่เชื่อมโยงกัน มีหลักการทั้งทฤษฎีและปฏิบัติคล้ายกัน แต่อันที่จริงแล้วฟุตบอลกับคณิตศาสตร์ก็มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วอยู่
1
“คณิตศาสตร์ไม่อาจเทียบกับฟุตบอลได้ สิ่งหลังเป็นอะไรที่สามารถจุดประกายความหวังให้กับคนทั้งชาติ สร้างความตื่นเต้น และมีผู้คนจำนวนมากที่รอรับชม” ดร. ซัมพ์เตอร์ ให้ความเห็นเมื่อนำศาสตร์ทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน “ถ้าทั้งสองอย่างเทียบกันได้ ตอนนี้ต้องมีคนพร้อมจ่ายเดือนละ 40 ปอนด์ (ประมาณ 1,600 บาท) ให้กับ Sky Mathematics แล้ว”
1
“แทนที่เราจะดูฟุตบอล UCL ในเย็นวันพุธ เราคงกดเข้า Khan Academy แล้วปัดฝุ่นความรู้อสมการเชิงเส้นกันแล้วล่ะ”
1
นักคณิตศาสตร์ไม่ใช่ผู้จัดการทีมฟุตบอลระดับโลก นี่คือสิ่งที่ชัดเจนอยู่แล้ว รายหลังมักผ่านประสบการณ์บนผืนหญ้ามาตั้งแต่วัยหนุ่ม มีความโชกโชนในองค์ความรู้ และมีบารมีพอที่จะทำให้นักเตะรุ่นหลังยำเกรง นี่ไม่ใช่สิ่งที่นักคณิตศาสตร์สามารถเข้ามาซึมซับหรือรับการถ่ายทอดได้ในเวลาอันรวดเร็ว
“นักคณิตศาสตร์เริ่มต้นจากข้อมูลแล้วค่อยเริ่มสร้างโมเดลขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจข้อมูล ก่อนจะนำโมเดลที่เหมาะสมกับข้อมูลเหล่านี้ไปทำนายผลอีกที นั่นคือสิ่งที่เราทำกันเป็นกิจวัตรกับงานทุกอย่าง” นี่คือคำนิยามถึงบทบาทในการทำงานของ ดร. ซัมพ์เตอร์
1
แน่นอนว่าอาชีพทั้งสองมีมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน นักคณิตศาสตร์อาจมีโมเดลจากข้อมูลมหาศาลที่แสดงให้เห็นว่าถ้าทีมนี้เปลี่ยนเทคนิคการเตะมุม การทุ่มบอล หรือจังหวะการวิ่งนิดหน่อย พวกเขาจะทำประตูได้อีกเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะประสบความสำเร็จในโลกแห่งความจริงได้เสียทั้งหมด
“เราไม่แสร้งทำเป็นผู้เชี่ยวชาญ” ดร. ซัมพ์เตอร์ ย้ำถึงบทบาทของเขา “ผมแค่ให้มุมมองที่แตกต่างออกไป ผมจะไม่เอาตัวเลขมากางว่าทำไมอังกฤษถึงควรได้แชมป์โลก แต่จะพาไปดูความเชื่อมโยงของฟุตบอลกับตัวเลข วิทยาศาสตร์ และแนวคิดที่ต่างออกไป แบบที่ลืมกฎน่าเบื่อเพื่อหาค่า sin หรือ cosin ไปได้เลย”
1
ผู้ช่วยที่ดี
แม้การดำรงตำแหน่งผู้นำทีมจะเป็นงานที่ไม่สามารถอาศัยบารมีจากการมีทฤษฎีอยู่เต็มหัวได้อย่างเดียว แต่นักคณิตศาสตร์เหล่านี้ก็อาจไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมที่ดีได้เช่นกัน
ดร. ซัมพ์เตอร์ ได้ให้ความเห็นไว้ในเลคเชอร์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดว่า “งานผู้จัดการทีมนั้นยากอยู่นะ ลองนึกถึงความรู้สึกเวลาที่งานวิจัยของคุณหรือนักเรียนของคุณโดนปฏิเสธดูสิ มันแย่ขนาดไหนกัน ทีนี้นึกภาพการเป็นผู้จัดการทีมที่ต้องเข้าไปทำงานหลังจากที่สโมสรเพิ่งแพ้ไป การจะต้องดูแลคนอีก 22 คนให้สภาพจิตใจเขากลับมาสู้ต่อได้มันยากจริง ๆ และผมเคารพพวกเขา (ผู้จัดการทีม) มาก ๆ”
2
แต่การวิเคราะห์ข้อมูลของนักคณิตศาสตร์ เช่น แผนการเล่น 4-3-3 อันเลืองชื่อของยุคนี้ที่สามารถมองได้เป็นเรขาคณิต เพื่อดูความเชื่อมโยงของสามเหลี่ยมนักเตะในสนามกับพื้นที่ที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบ ที่หากมีความเชื่อมโยงเป็นระบบใกล้เคียงกันแล้วก็จะช่วยพลิกเกมและสร้างสรรค์โอกาสให้แนวรุกได้เป็นอย่างดี
1
บาร์เซโลน่าใช้หลักเรขาคณิตขั้นสูง ผ่านการถ่ายทอดโดยกุนซืออย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอลา ที่กาลครั้งหนึ่งเคยทำให้แผงเกมรุกอย่าง ชาบี, อิเนียสต้า และ เมสซี่ เล่นด้วยกันเป็นสามเหลี่ยม Delaunay ที่บีบให้นักเตะคู่แข่งต้องยืนอยู่นอกขอบของแผนภาพ Voronoi คู่อย่างพอดิบพอดี
2
แม้นักเตะทั้งสามจะจบการศึกษาจาก ลา มาเซีย อคาเดมีฟุตบอลระดับโลก แต่การเรียนเรขาคณิตเชิงคำนวณคงไม่ใช่ทักษะที่จำเป็นในโลกลูกหนังระดับนั้น ซึ่งตรงนี้คือสิ่งที่ถูกถ่ายทอดในระหว่างการฝึกซ้อมจากข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ สู่การจับจังหวะกับเพื่อนร่วมทีมว่าพวกเขาจะต้องวิ่งขึ้นลงอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามแบบแผนที่โค้ชวางไว้ โดยที่นักเตะเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเข้าใจหลักของเรขาคณิตที่อยู่เบื้องหลังเลยก็ได้
1
“ผมก็ยังคิดนะว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นนักคณิตศาสตร์อย่าง บ็อบบี การดิเนอร์, ซาราห์ รัดด์, และ ฮาเวียร์ เฟอร์นานเนซ ไปเป็นผู้จัดการทีม หรืออย่างน้อยก็ต้องมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจให้กับสโมสร” โดยบุคลากรทั้งสามคนนี้ต่างเป็นส่วนหนึ่งในทีมวิเคราะห์ข้อมูลให้กับสโมสรใหญ่อย่าง บาร์เซโลน่า และทีมในระดับพรีเมียร์ลีก ที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้จากสัญญารักษาความลับ
1
เราอาจยังไม่ได้เห็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์เปลี่ยนมายืนคุมทีมข้างสนามได้ในเร็ววันนี้ แต่เชื่อได้เลยว่าที่ข้างสนามหรือสักมุมหนึ่งในออฟฟิศของสโมสรระดับโลกทั้งหลาย พวกเขาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเกมลูกหนัง กับการพยายามรีดศักยภาพของสโมสรออกมาให้ได้มากที่สุดในรูปแบบที่เราอาจไม่ทันได้สังเกตมาก่อนเลยก็เป็นได้
4
แหล่งอ้างอิง:
Sumpter D. Soccermatics : Mathematical Adventures in the Beautiful Game. London: Bloomsbury Sigma; 2016.
โฆษณา