27 ม.ค. 2023 เวลา 09:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไมบริษัทต้อง “ลดทุน”

นักลงทุน หรือผู้ถือหุ้นที่ได้ยินว่าบริษัทที่เราลงทุนอยู่กำลังจะเกิด “การลดทุน” หรือ “Capital Reduction” มักจะมีความหวั่นใจไม่น้อยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัท? จะส่งผลกระทบอะไรกับผู้ถือหุ้นไหม? มูลค่าหุ้นจะเป็นอย่างไร?
แต่หากเราได้รู้ว่ามันมีที่มาที่ไป และอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่คิด ก็จะทำให้เราวางแผนการลงทุนได้เหมาะสม ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้มากขึ้น
เรามาเริ่มต้นกันที่ “การลดทุน” นั้น สามารถที่จะทำได้ 2 วิธี ได้แก่ “การลดจำนวนหุ้น” และ “การลดมูลค่าที่ตราไว้”
## กรณี “ลดจำนวนหุ้น” ##
บริษัทจะลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดจำนวนหุ้น ส่วนใหญ่มักเกิดจากโครงการ “ซื้อหุ้นคืน” ของบริษัท (Share Repurchase)
ซึ่งบริษัทที่เดินตามแนวทางนี้ อาจจะเพราะมีเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินงานมากเกินความจำเป็น จึงต้องการบริหารเงินทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยวิธีการนี้
Image Credit: Pixabay
โดยฝั่งบริษัทก็จะมีอัตราส่วนทางการเงิน เช่น ROE ROA และ Total Asset Turnover ที่ดีขึ้นด้วย
ส่วนฝั่งของผู้ถือหุ้นก็ถือเป็น “การคืนเงินทุนให้กับผู้ถือหุ้นรายเก่า” เพื่อ “ปรับโครงสร้างทุน” และรองรับการเพิ่มทุนของผู้ลงทุนรายใหม่ที่สามารถสะท้อนมูลค่ากิจการได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นที่ได้รับเงินลดทุนคืน อาจจะต้องโน้ตไว้ตอนยื่นภาษีประจำปีว่า “เงินส่วนนี้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่เป็นภาระภาษีเงินได้ ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย”
## กรณี “ลดมูลค่าที่ตราไว้” (Par) ##
วิธีนี้บริษัทจะประกาศการลดราคา Par ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่บริษัทมีการขาดทุนสะสมมาก และจำเป็นต้องตัดการขาดทุนด้วยการลดทุน เพื่อรองรับการจ่ายเงินปันผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เพราะตามกฎหมายกำหนดนั้น "ถ้าบริษัทมีผลขาดทุนสะสมอยู่จะไม่สามารถทำการจ่ายเงินปันผลได้" การลดทุนจึงเป็นการลบล้างผลการขาดทุนสะสมได้ ทำให้บริษัทสามารถดำเนินการจ่ายเงินปันผลได้เร็วขึ้น
Image Credit: Pixabay
## ตัวอย่าง ##
บริษัทมีหุ้น 10 ล้านหุ้น (ราคาหุ้นละ 10 บาท) = 100,000,000 บาท
กำไรสะสม = (10,000,000 บาท)
บริษัทต้องการล้างขาดทุนสะสมจำนวน 10 ล้านบาทนี้
จึง “ลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par) ลงจากราคาหุ้นละ 10 บาท เหลือ 9 บาท
บริษัทมีหุ้น 10 ล้านหุ้น (เท่าเดิม) แต่ราคาเหลือหุ้น (Par) ละ 9 บาท = 90,000,000 บาท
กำไรสะสม = (ขาดทุนสะสม 10,000,000 บาท) – (ส่วนที่เกิดจากการลดทุน +10,000,000 บาท)
ทำให้บริษัทสามารถล้างการขาดทุนสะสมออกไป และดำเนินการจ่ายปันผลได้ (ถ้ามี) ตามกฎหมาย
## “การลดทุน” ส่งผลกระทบอย่างไรต่องบการเงินของบริษัท? ##
- กรณี “ลดจำนวนหุ้น”
หุ้นที่ถูกซื้อคืนมานั้นจะกลายเป็น “Treasury Stock” ไปหักลบออกจากส่วนของผู้ถือหุ้น ผลกระทบทางบวกจะทำให้ “กำไรต่อหุ้น” (Earnings Per Share: EPS) และปันผลต่อหุ้น (Dividend Per Share: DPS) สูงขึ้น เพราะด้านส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง ตัวหารจึงลดลงทำให้ EPS และ DPS รวมถึง ROE ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
Image Credit: Pixabay
นอกจากนี้ รายการซื้อหุ้นคืนดังกล่าว (อาจ) จะสนับสนุนให้หุ้นดีดตัวขยับขึ้นไปซื้อขายกันในราคาที่สูงขึ้นด้วย เราจึงมักได้เห็นหุ้นมีราคาพุ่งสูงขึ้นได้ด้วยเหตุนี้
ส่วนผลกระทบทางลบก็คือ จะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Raio) เพิ่มขึ้น และอัตราส่วนที่สูงขึ้นนี้ อาจจะส่งส่งผลทางลบต่อมุมมองการลงทุนของผู้ถือหุ้น รวมถึงเจ้าหนี้ที่อาจจะไม่อนุมัติเงินกู้ก้อนใหม่ให้กับบริษัท
- กรณี “ลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้” (Par)
ข้อดีของวิธีการนี้คือ จะไม่กระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท เนื่องจากเป็นการล้างขาดทุนสะสมที่รายการภายในส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด ทำให้ไม่กระทบต่อยอดรวม
ส่วนผลกระทบทางลบก็คือ วิธีนี้จะกระทบกับผู้ถือหุ้นทั้งหมด เพราะการลดทุนด้วยการลดมูลค่าที่ตราไว้ เป็นรายการภายในส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งแน่นอนว่ากระทบกับผู้ถือหุ้นโดยตรงทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทจดทะเบียนจะทำการลดทุนนั้น ไม่ใช่ว่าจะสามารถดำเนินการเองได้เลยทันที ต้องมีการแจ้งมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือก็คือต้องได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของคะแนนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง
รวมถึงบริษัทจะมีการแจ้งวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date “RD”) หรือวันปิดสมุดทะเบียน (Book Closing Date “BC”) เพื่อกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะถูกลดทุนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 14 วัน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นทราบจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่หลังลดทุนแล้ว
Image Credit: Pixabay
และเพื่อป้องกันความสับสนในการซื้อขายในระหว่างที่ยังจดทะเบียนไม่เสร็จ บริษัทจะขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งพักการซื้อขายหลักทรัพย์ (SP) ในระหว่างที่บริษัทดำเนินการลดทุน โดยให้ SP ตั้งแต่ 2 วันทำการก่อน Record Date หรือ Book Closing
เพื่อกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะถูกลดทุน จนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการลดทุน รวมทั้งเพื่อให้ทราบจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่หลังลดทุนแล้ว
มาทางด้านฝั่งเจ้าหนี้ของบริษัท จะได้รับหนังสือแจ้งมติลดทุนจากบริษัทภายใน 14 วัน และสามารถคัดค้านได้ภายใน 2 เดือน นับจากวันที่ได้รับหนังสือฯ
และบริษัทก็จะมีการโฆษณามตินั้นทางหนังสือพิมพ์ภายใน 14 วันด้วย ถ้าไม่เกิดการคัดค้านการลดทุน พอครบ 2 เดือน บริษัทก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้
ได้ทราบเหตุผลและที่มาที่ไปของ “การลดทุน” กันไปแล้ว
เชื่อว่าผู้ถือหุ้นและนักลงทุนหลายๆ ท่านคงจะเบาใจไปได้บ้างหากเกิดการลดทุนกับหุ้นที่เราถืออยู่
อย่างน้อยๆ ก็หวังว่าทุกท่านจะสามารถวางแผนการลงทุน และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น
Reference:
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- คอลัมน์ KTAM Focus: Buyback : ซื้อเองซะงั้น โดย ณัฏฐะ มหัทธนา
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา