Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
27 ม.ค. 2023 เวลา 04:00 • ไลฟ์สไตล์
จาก ‘มวยไทย’ ถึง ‘กุนแขมร์’ ‘กีฬาพื้นบ้าน’ ส่งเสริมหรือสร้างดราม่าในกีฬาซีเกมส์?
‘มวยไทย’ กับ ‘กุนแขมร์’ กลายเป็นดราม่าหนึ่งในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา เพราะเจ้าภาพออกมาประกาศว่าจะไม่มีการใช้ชื่อ “มวย” ในการแข่งขันครั้งนี้ แต่จะจัดแข่งกีฬา "กุน ขแมร์" (Kun Khmer) หรือ “มวยเขมร” ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติกัมพูชาแทน
1
สิ่งที่เกิดขึ้นจากนั้น คือการที่สมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ ได้ตอบโต้ด้วยการไม่จัดกีฬามวยไทยเพื่อแข่งขันในกีฬาซีเกมส์กลางปีนี้ เพราะมองว่า กุน ขแมร์ ไม่ได้เป็นกีฬาที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) รวมทั้งสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) และประกาศพร้อมแบนทุกชาติที่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันจากเวทีมวยไทยระดับนานาชาติในอนาคต ขณะที่ฝั่งกัมพูชา ยืนยันยืนกรานใช้ชื่อนี้และหากถูกแบนไม่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันก็พร้อมจะทำแบบเดียวกันกับซีเกมส์ที่ประเทศไทยที่จะมีขึ้นในครั้งถัดไป
“กัมพูชามีสิทธิ์จะทำได้ และถ้ามีชาติที่ส่งนักกีฬาแข่งขันกุน ขแมร์ ครบ 4 ชาติ ก็สามารถแข่งขันในซีเกมส์ได้ตามกฎ และในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทย ในอีก 2 ปีข้างหน้า กัมพูชาจะไม่ส่งทีมแข่งคิกบ๊อกซิ่งหรือมวยด้วยเช่นกัน" วัธ จำเริญ เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกกัมพูชา กล่าวกับ "พนมเปญ โพสต์" เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 66
เรื่องมวยไทยกับกุนแขมร์ อาจยุติเพียงเท่านี้ อย่างไรก็ตามหากพิจารณากันลึกๆ เรื่องดราม่าประเภทกีฬาชื่อแปลก การมีกติกาที่มีลักษณะเฉพาะในมหกรรมกีฬาซีเกมส์มักเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะแต่ละประเทศมักนำกีฬาพื้นบ้านมาแข่งขันและให้น้ำหนักมากจนเกินไป
ไม่ว่าจะจัดขึ้นที่ประเทศใด ในการแข่งขันแต่ละครั้ง เรามักได้ยินข่าวว่าประเทศเจ้าภาพ จะนำกีฬาพื้นบ้านมาแข่งขันซึ่งมีจำนวนที่ส่งผลถึงการเป็นผู้ชนะอยู่เสมอ เช่น การนำเอา อาร์นิส ศิลปะการต่อสู้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งถูกบรรจุในกีฬาซีเกมส์ 2019 ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ , ชินลง กีฬาประจำชาติของเมียนมา คล้ายๆ ตะกร้อวง ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ปี2013 ที่ประเทศเมียนมาร์เป็นเจ้าภาพ
เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ผ่านมา ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2021 เวียดนามก็มีแนวคิดจะเพิ่มกีฬาอีก 3 ชนิดเข้าไปในรายการแข่งขัน คือ เตะลูกขนไก่ (Shuttlecock Kicking) กระโดดน้ำ (Diving) และศิลปะการต่อสู้แบบเวียดนาม (Vovinam) แต่ท้ายที่สุดแล้ว ได้ถอนกีฬาเตะลูกขนไก่ออกไปในช่วงท้าย
ส่วนกีฬามวยไทยเข้าในการแข่งขันเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2548 ที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ โดยใช้ชื่อกีฬาว่า "มวย" (Muay) เท่านั้น แต่ในปี 2550 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพที่ จ.นครราชสีมา กีฬามวย ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "มวยไทย
ถึงตรงนี้ ไม่ได้จะอธิบายว่าใครถูกหรือผิด และสิ่งหนึ่งคือการทำความเข้าใจว่า การนำเอากีฬาพื้นบ้านเข้าไปบรรจุเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
เมื่อวัตถุประสงค์ของมหกรรมซีเกมส์คือความเป็นหนึ่งเดียว เป็นมหกรรมกีฬาแห่งมิตรภาพของชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การชิงชัยกีฬาพื้นบ้านจึงเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรม เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเป็นสิทธิที่เจ้าภาพแต่ละชาติพึงกระทำ
แต่ที่กลายเป็นดราม่าทั้งในวันนี้และในอดีต เห็นจะเป็นเพราะการที่เจ้าภาพจงใจที่จะบรรจุกีฬาที่ตัวเองถนัดเพื่ออยากชนะเป็นเจ้าเหรียญทอง ที่มากเกินไป โดยละทอนความเป็นกีฬาสากล ทำให้ประเทศในภูมิภาคประสบความสำเร็จระยะสั้น มากกว่าจะสร้างความเข้มแข็งด้านกีฬาเพื่อต่อยอดในระดับเอเชียนเกมส์ และโอลิมปิก
ผู้สันทัดกรณีในวงการกีฬาต่างมองกันว่า ความก้าวหน้าในเรื่องกีฬาของประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังตามหลังประเทศในภูมิภาคอื่นมากนัก และจุดประสงค์หลักของการบรรจุกีฬาที่ตัวเองได้เปรียบนี้อธิบายเป็นอื่นไม่ได้นอกจาก ใช้เป็นบันไดที่มั่นคงเพื่อครองเจ้าเหรียญทอง เป็นการสร้างความภาคภูมิใจในซีเกมส์ครั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าการเป็นเจ้าภาพคือการลงทุน ผลของการแข่งขันก็ต้องสร้างความสุขให้กับคนในประเทศได้
มหกรรมกีฬาซีเกมส์ที่มีกีฬาพื้นบ้านประกอบด้วย จึงมีแนวโน้มที่จะมีดราม่า ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก อยู่ตลอดไป ไม่ว่าจะในวันนี้หรืออนาคต
อ้างอิง : Phnompenhpost
2 บันทึก
5
2
2
5
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย