1 ก.พ. 2023 เวลา 03:43 • ข่าว

การลงนามกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย – สหภาพยุโรป

การลงนามกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย – สหภาพยุโรป (Thailand – EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA)
ไทยจัดทำความร่วมมือมากมายที่น่าสนใจให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกันค่ะ วันนี้ดิฉันขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย – สหภาพยุโรป (Thailand – EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ซึ่งกรอบความตกลงนี้จะมุ่งกระชับความสัมพันธ์และนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานของไทยให้ทัดเทียมสากลยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๕ นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ และนาย David Daly เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยได้ร่วมแถลงข่าวการลงนามกรอบความตกลง PCA ณ ห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีผู้แทนจากคณะทูตยุโรปและหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงสื่อมวลชน ให้ความสนใจเข้าร่วม
ที่มา: Facebook กระทรวงการต่างประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน – อียู สมัยพิเศษ ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามร่างกรอบความตกลง PCA ร่วมกับฝ่ายอียู ได้แก่
นาย Petr Fiala นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็กในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และนาย Josep Borrell รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นาย Charles Michel ประธานคณะมนตรียุโรป และนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ร่วมเป็นสักขีพยาน
ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ
การลงนามร่างกรอบความตกลง PCA จึงถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย – อียู นับตั้งแต่อียูจัดตั้งคณะผู้แทนที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี ๒๕๒๑ โดยการเจรจากรอบความตกลง PCA ใช้เวลาเจรจายาวนานถึง ๑๘ ปี ความร่วมมือระหว่างไทยและอียูจึงมีความแน่นแฟ้นและครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ในเชิงลึกยิ่งขึ้น และถูกกำหนดทิศทางความร่วมมืออย่างมีแบบแผนและชัดเจนมากขึ้นในทุกด้าน
ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นการเพิ่มกรอบการหารือเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ของกันและกันได้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการเข้าร่วมการสัมมนา ฝึกอบรม และแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน กรอบความตกลงดังกล่าวเปิดโอกาสให้ไทยนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ดี ความเชี่ยวชาญและแนวคิดด้านต่าง ๆ ของไทย อาทิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) และแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Economy Model) เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน
ซึ่งไทยหวังว่าความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลง PCA จะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านต่าง ๆ ของไทยให้ทัดเทียมสากล เพื่อจะนำไปสู่การส่งเสริมการเจรจาจัดทำการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) กับอียูต่อไป
ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ
นางสาวพิมพ์ภัทรา ณ กาฬสินธุ์
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา