30 ม.ค. 2023 เวลา 03:50 • ธุรกิจ

กรณีศึกษา สูตรตัดเกรดทำเล หาพื้นที่เปิดร้านใหม่ ของ MUJI

รู้หรือไม่ MUJI จะตัดเกรดทำเลเป็น S, A, B, C, D เพื่อเอาไปตัดสินใจ ว่าจะเปิดสาขาใหม่ตรงไหนดี..
และก็มีอินไซต์ที่น่าสนใจเรื่องการเลือกทำเล
ของแบรนด์สไลต์มินิมัลอย่าง MUJI
ที่ถูกเล่าเอาไว้ในหนังสือชื่อ “เพราะไม่มีอะไร จึงมีอะไร”
เขียนโดย ทาดามิตสึ มัตสึอิ ซึ่งเขาเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของ MUJI
แล้ว MUJI มีแนวทางในการ “ตัดเกรดทำเล”
เลือกที่ตั้งร้านอย่างไร ให้ขายได้ขายดี ?
BrandCase จะอธิบายให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
1
ต้องบอกว่า กลยุทธ์ในการขยายสาขาของ MUJI
ถูกเขียนเป็นองค์ความรู้ ในคู่มือพื้นฐานในการทำงานของ MUJI เลยทีเดียว
ซึ่งคู่มือพื้นฐาน และหลักการในการทำงานของ MUJI ที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า “มูจิแกรม (Mujigram)”
ในปัจจุบัน หาก MUJI อยากจะเปิดสาขาใหม่ ก็สามารถตัดสินใจได้
โดยใช้หลักเกณฑ์ในการตั้งร้าน ตาม Mujigram
ซึ่งหลักเกณฑ์ในการตั้งร้านใหม่ จะแบ่งเป็น 4 หัวข้อใหญ่ คือ
- สภาพความจำเพาะของตลาด
- สภาพแวดล้อมโดยรอบพื้นที่
- สิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์
- สภาพแวดล้อม ณ ที่ตั้งสาขานั้น
1
ซึ่ง 4 หัวข้อสำคัญนี้ จะถูกนำมาออกแบบเป็นคำถาม เพื่อพิจารณาตัดเกรดทำเลที่ต่าง ๆ
โดยในหนังสือก็ได้หยิบยก เคสการใช้หลักเกณฑ์ตาม Mujigram ที่ใช้ในการเปิดสาขาใหม่ในประเทศจีนมาเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ
- ระยะทางจากสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุด : แบ่งเป็น 5 ระดับ ในรัศมี 1 กิโลเมตร
- จำนวนลูกค้า : ตั้งแต่น้อยกว่า 50,000 คน ไปจนถึงมากกว่า 300,000 คน
- ขนาดพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ต : หากมากกว่า 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะได้ 2 คะแนน หากน้อยกว่านั้นจะได้ 1 คะแนน
- มีคาราโอเกะหรือไม่ ? : หากมี จะบวกเพิ่ม 2 คะแนน (เพราะคนจีนชอบร้องคาราโอเกะ)
- มีโรงหนังหรือไม่ ? : หากมี จะบวกเพิ่ม 2 คะแนน
- จำนวนร้านเช่าของศูนย์การค้า : ก็จะแบ่งเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่มากกว่า 200 ร้าน ไปจนถึงน้อยกว่า 50 ร้าน
1
- มีร้านที่มีชื่อเสียงในบริเวณนั้นหรือไม่ ? : แบ่งเป็น 3 ระดับ
- ยอดขายของร้านค้าอื่น ๆ โดยรอบ : แบ่งเป็น 5 ระดับ
โดยเมื่อรวมคะแนนแล้ว จะเต็ม 100 คะแนน
และจะแบ่งเกรดออกเป็น 5 ระดับคือ “S, A, B, C, D” ตามคะแนนรวม
1
ถ้าพื้นที่ไหนได้ระดับ S ก็จะถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีในการเปิดสาขาเพิ่ม แล้ว MUJI ก็จะนำไปพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของค่าเช่า ต่ออีกที
นอกจากนี้ ผลการประเมินดังกล่าว ยังเป็นตัวคาดการณ์ยอดขายต่อปีได้ด้วย
1
โดยร้านไหนที่มียอดขายผิดไปจากที่คาดการณ์ MUJI ก็จะปรับปรุงหัวข้อ และทบทวนหลักเกณฑ์ในการเปิดร้านอยู่เสมอ
ที่น่าสนใจก็คือ ร้านสาขาไหน ที่มียอดขายดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทางร้าน MUJI ก็จะประเมินเป็น “X” นั่นคือ “ไม่สำเร็จ”
ซึ่งไม่สำเร็จตรงนี้ หมายความว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ตาม Mujigram ยังไม่แม่นยำพอ เพราะให้คะแนนทำเลนั้นต่ำเกินไป
เพราะสำหรับ MUJI แล้ว หากไม่วิเคราะห์ว่า มีอะไรที่ตกหล่นตรงไหนในขั้นตอนการคาดการณ์ ก็ควรปรับปรุงให้เหมาะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ
หมายความว่า หลักเกณฑ์ใน Mujigram ก็จะถูกอัปเดตอยู่เรื่อย ๆ ตามความเหมาะสมนั่นเอง
1
แล้วถ้าเรานำโมเดลการขยายสาขาของ MUJI แบบที่ประเทศจีน มาลองวิเคราะห์กับสาขาในประเทศไทยบ้าง
โดยจะเลือกนำบางเกณฑ์ ที่คิดว่าน่าจะเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนไทยมากที่สุด เช่น
2
- มีร้านที่มีชื่อเสียง เช่น Uniqlo, ZARA, H&M อยู่บริเวณนั้นหรือไม่ ?
- มีซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ อย่าง Tops Food Hall และ Gourmet Market หรือไม่ ?
- จำนวนร้านเช่าของศูนย์การค้าจำนวนมากน้อยแค่ไหน ?
- มีโรงหนังหรือไม่ ?
- ตัวศูนย์การค้า ติดกับรถไฟฟ้ามากแค่ไหน ?
ซึ่ง BrandCase ก็ได้ลองนับศูนย์การค้าที่มีครบทุกอย่างตามเกณฑ์ข้างต้น
ที่ MUJI สามารถไปเปิดสาขา และสามารถการันตียอดขายได้สูงที่สุด ก็จะมีทั้งหมด 5 แห่ง ดังนี้
- Central Ladprao
- CentralWorld
- ICONSIAM
- Siam Paragon
- The EmQuartier
1
ซึ่งถ้าให้ลองเช็กดู ก็จะพบว่า MUJI ได้ไปเปิดสาขาในศูนย์การค้าทุกแห่งแล้ว ยกเว้น Siam Paragon (MUJI เลือกไปเปิดตรง Siam Discovery ที่ใกล้ ๆ Siam Paragon แทน)
แต่ก็ไม่ใช่ว่า การขยายสาขาของ MUJI จะยึดตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแบบเป๊ะ ๆ 100% เสมอไป
เพราะก็ต้องบอกว่า ในการเลือกทำเลที่จะเปิดร้านที่ไหนสักแห่ง ก็น่าจะมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างนอกตำรา ที่ต้องดูเพิ่มเติมด้วย
แต่เรื่องนี้ของ MUJI ก็น่าสนใจไม่น้อย
น่าสนใจตรงที่ได้เห็นว่า MUJI มีการออกแบบ “สูตรเกือบสำเร็จ” ที่เอาไว้ใช้ในการขยายธุรกิจไปเรื่อย ๆ
โดยคอยเก็บข้อมูล และเก็บฟีดแบ็กมาพัฒนาสูตรของตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
1
อย่างในเรื่องนี้ เราก็ได้เห็นสูตรการ “ตัดเกรดทำเล” ที่บันทึกไว้เป็นคู่มือ และหลักการทำงาน ที่ชื่อว่า Mujigram
ซึ่งหลายคนน่าจะนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้ ไม่มากก็น้อย..
ขอขอบคุณทาง Amarinbooks ที่แนะนำและส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ทาง BrandCase
และหากใครสนใจหนังสือเล่มนี้ หรือหนังสือแนว ๆ นี้ เข้าไปชม สั่งซื้อ กันได้เลย https://amarinbooks.com/brand/amarin-how-to/
References
-หนังสือเรื่อง เพราะไม่มีอะไร จึง “มีอะไร” MUJI เขียนโดย ทาดามิตสึ มัตสึอิ
โฆษณา