27 ม.ค. 2023 เวลา 14:10 • ท่องเที่ยว

วัดราชคฤห์วรวิหาร

มาสู่วัดที่ 4 กันล่ะ เกือบครึ่งทางล่ะสำหรับทริปนี้ เป็นวัดที่เงียบๆ ทำบุญก็ดี ทำทานก้อได้ เพราะมีวังมัจฉาอยู่ด้านหลังวัด วัดนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มหานิกาย อยู่ใกล้กับตลาดพลู แค่ราว 400 เมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 17 ไร่ ยังเคยเป็นที่ตั้งทัพของพระยาพิชัยดาบหัก ที่พระเจ้าตากสินให้มาดักซุ่มยิงโจมตีทัพพม่า พระปรางค์ด้านหน้าพระวิหารใหญ่ เป็นที่บรรจุอัฎฐิของ พระยาพิชัย มีพระบรมรูปของพระเจ้าตากสินอยู่ในวัด
สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในอดีตเรียกว่า “วัดวังน้ำวน” เพราะตั้งอยู่ติดกับคลองน้ำ 3 สาย ได้แก่ คลองบางกอกใหญ่ คลองบางน้ำชน และคลองท่าพระ ไหลมาบรรจบกันเหมือนสี่แยก ทำให้บริเวณนั้นเกิดน้ำหมุนเป็นวงเวียน เรียกว่า "วังน้ำวน" บางครั้ง เรียกกันว่า "วัดมอญ" เพราะเป็นวัดที่ชาวไทยเชื้อสายมอญร่วมกันสร้างขึ้น
มีชาวมอญอพยพโดยทางเรือจากกาญจนบุรีมาอาศัยอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ มีนายกองชาติรามัญ (มอญ) เป็นประธานสร้างวัดอยู่ใกล้กัน 3 วัด ตามตำบล วัดนี้ตั้งอยู่ทางเหนือน้ำไหลจึงเรียกว่า วัดบางยี่เรือเหนือ (วัดราชคฤห์) วัดบางยี่เรือกลาง (วัดจันทารามวรวิหาร) วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการโปรดเกล้าฯ สถาปนาวัดบางยี่เรือมอญขึ้นเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดราชคฤห์’ พ.ศ. 2334 สร้างสถูปไว้บนยอดเขามอ
มีไฮไลท์ที่น่าสนใจ จะเป็นพระวิหารเล็ก (พระนอนหงาย)
สร้างวิหารเล็กเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง (พระบรรทมหงาย) พระยาพิชัยดาบหักได้สร้างพระปางนอนนี้ขึ้น เพื่อเป็นการบำเพ็ญบุญอุทิศกุศลให้ผู้ที่ตนไปฆ่าทหารชาวบ้านล้มตายไปเป็นจำนวนมาก (เป็นเหมือนชดใช้กรรมที่ฆ่าคนตายไป มีแห่งเดียวในประเทศไทย
ต่อมาไฮไลท์ที่ 2 คือ พระวิหารใหญ่ สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี ในอดีตมีสถานะเป็นพระอุโบสถ แต่เมื่อมีการสร้างพระอุโบสถขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงเรียกกันภายหลังว่า พระวิหารใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญคือ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยอายุประมาณ 300 - 400 ปี เล่าลือกันว่า หากใครได้มากราบไหว้ ขออะไรมักจะสำเร็จเสมอ ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า "หลวงพ่อโตสมปรารถนา"
ตามประวัติของวัดยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่า เดิมพระอุโบสถหลังเก่าเล็กกว่านี้ แต่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยพระยาพิชัยดาบหัก จนมีขนาดใหญ่โตขึ้น ก่อนจะได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ ดังนั้น จึงมีการผสมผสานกันระหว่างของเก่าสมัยอยุธยาตอนปลาย กับของใหม่สมัยรัตนโกสินทร์
พระอุโบสถ มีความพิเศษตรงหากดูจากข้างนอก ที่ริมกำแพงแก้วที่ล้อมรอบมีเจดีย์ทรงเครื่องและเจดีย์ทรงระฆังอยู่ ถ้านับจำนวนแล้วจะมีเจดีย์ทรงระฆังอยู่ 2 องค์ และเจดีย์ทรงเครื่องอยู่ 28 องค์ เพราะ 28 เป็นตัวเลขของพระอดีตพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ นับจากพระตัณหังกรพุทธเจ้ามาจนถึงพระสมณโคดม ดังนั้น เจดีย์เหล่านี้จึงเป็นสิ่งแทนองค์พระอดีตพุทธเจ้าในอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากการสร้างเป็นพระพุทธรูปและเป็นเพียงวัดเดียวที่ทำแบบนี้ นี่คือไฮไลท์ที่ 3
ส่วนไฮไลท์สุดท้าย จะเป็นเขามอของวัด เขามอนี้บูรณปฏิสังขรณ์โดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน) คนเดียวกับที่เป็นแม่กองแปล สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นั่นละครับ การปฏิสังขรณ์ครั้งนั้นได้เปลี่ยนเขามอธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นเขาพระพุทธบาท และหยิบเอาลักษณะสำคัญอันเป็นจุดเด่นของวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มาใส่เอาไว้ครบถ้วน
เราค่อนข้างชอบน่ะสำหรับวัดนี้ เงียบ สงบดี ไม่พลุกพ่าน แถมมีคลองให้อาหารปลาได้อีก มีคนของวัดให้บริการในส่วนตรงนี้ด้วย แต่เผอิญเราซื้ออาหารปลามาจากวัดขุนจันทร์แล้ว ก็เลยไม่ได้ซื้อ มีนักท่องเที่ยงชาวต่างชาติล่องเรือเยอะมากเท่าที่เราสังเกต เสียดายตรงที่เขามอด้านบนไม่เปิด ก็เลยอดไปตามระเบียบ ทุกครั้งที่มาไม่เคยได้ขึ้นเลยในส่วนตรงนี้ ที่เข้าไปทุกครั้งที่มาจะเป็นหลวงพ่อโต พระประธานในพระวิหารใหญ่เท่านั้น กับพระยาพิชัยดาบหัก และพระเจ้าตากสินที่อยู่ด้านนอก
พระยาพิชัยดาบหัก
ทางเข้าวัด
วังมัจฉา
หลวงพ่อโต พระประธานในพระวิหารใหญ่
พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง (พระบรรทมหงาย)
เขาคิฌชกูฏจำลอง หรือเขามอ
ก็จบไปล่ะสำหรับวัดนี้ คราวหน้าจะพาไปวัดที่ 5 วัดจันทารามวรวิหาร วัดนี้บอกเลย รูปจะน้อยนิดหนึ่ง แต่สาระเรายังให้ครบเหมือนเดิม
อ้างอิง
โฆษณา