28 ม.ค. 2023 เวลา 16:13 • ธุรกิจ

เตรียมทำความรู้จัก..“ภาษีพลาสติก” ​ที่จะเข้ามามีบทบาททั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

นับเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการสิ่งแวดล้อมทั่วโลกและในไทยเลยก็ว่าได้นะคะ กับคำว่า “ภาษีพลาสติก” และล่าสุด มีข่าวว่า ประเทศไทยเราเอง ก็กำลังศึกษา จัดเตรียม และแสวงหาโอกาสจากการเรียกเก็บภาษีพลาสติก ที่กำลังทยอยใช้ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก
ว่าแต่ ภาษีพลาสติก เป็นยังไง
ภาษีพลาสติก หรือ ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกโดยสั้น ๆ แล้วคือภาษีที่เรียกเก็บเงินหรือค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือประเทศสมาชิกที่ผลิต นำเข้า หรือใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและย่อยสลายยาก แต่ไม่รวมถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มาจากการรีไซเคิลนะคะ ฉะนั้น ชาวรีไซเคิลทั้งหลาย ไม่ต้องเป็นกังวลไป
สำหรับประเทศที่เริ่มใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีส่วนนี้แล้ว ก็อย่างเช่น สหภาพยุโรป ที่เริ่มจัดเก็บภาษีพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องจ่ายภาษีให้กับสหภาพยุโรป โดยคำนวณจากปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.8 ยูโรต่อกิโลกรัม
ที่น่าสนใจคือ เริ่มมีประเทศหลาย ๆ ประเทศ ปรับใช้มาตรการนี้เป็นการภายในแล้ว เช่น อิตาลี และสเปน ที่แทนที่จะชาร์จจากเฉพาะผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า แต่ยังขยายการเรียกเก็บนี้มาจนถึงผู้ซื้อ และซัพพลายเออร์ด้วย ในอัตรา 0.45 ยูโรต่อกิโลกรัม ขณะที่ โปรตุเกสจะเริ่มเก็บภาษีพลาสติกในอัตรา 0.30 ยูโรต่อกิโลกรัม
แต่ที่จะกระทบกับไทยเรามากที่สุด และจะกลายเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีให้ภาครัฐของไทยเราปรับตัวตาม คือการพิจารณาและบังคับใช้กฏหมายส่วนนี้ในสหรัฐอเมริกา ที่มีสถานะเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกอันดับ 1 ของไทย
แล้วโลกจะได้อะไรจากการเรียกเก็บภาษีส่วนนี้ ?
แน่นอนว่า ภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มนี้จะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และนั่นก็จะส่งผลไปถึงราคาจำหน่ายและยอดขาย ทีนี้ ถ้าไม่อยากรับมือกับมาตรการทั้งหลายเหล่านี้ ทางเลือกของผู้ผลิตก็คงหนีไม่พ้นการ save cost ตลอดกระบวนการผลิต หรือเปลี่ยนไปใช้วัสดุทดแทนอย่างอื่น ที่จะไม่ถูกเรียกเก็บจากภาษีพลาสติก ซึ่งก็แน่นอนว่า คือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ วัสดุที่มาจากการกระบวนการรีไซเคิลนั่นเอง ตรงนี้แหละ ที่โลกเราได้ประโยชน์แบบเต็ม ๆ
นอกจากการบังคับใช้มาตรการเดียวกันภายในประเทศแล้ว ภาษีตัวนี้ยังมีข้อดีที่จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้ไทยเราเพิ่มระดับและความทุ่มเทต่อ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับและมาตรฐานบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล การส่งเสริมการส่งออกพลาสติกชีวภาพ และการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable business) ซึ่งจะเป็นทางรอดชั้นดี ต่อภาคธุรกิจและส่งออกของไทยเรา
คือถ้าไม่อยากถูกชาร์จภาษีอะนะ ก็คงจำเป็นมากแล้วแหละที่จะต้องผลักดันย่อหน้าก่อนหน้านี้ ให้เป็นจริงเป็นจังและสัมฤทธิ์ผล แต่แหม... ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีภาษีตัวนี้ พวกเราทุกคนที่ได้ชื่อว่าชาวโลก ก็ควรได้ชื่อว่ามีจิตสำนึกในการใช้ชีวิตแบบที่เป็นมิตรกับโลกและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดอยู่แล้วมั้ย
เพราะถ้าไม่อย่างนั้น นอกจากภาษีพลาสติกแล้ว วันนึง เราอาจจะต้องจ่ายภาษีอ๊อกซิเจน กันในท้ายที่สุดนะนั่น
โฆษณา