31 ม.ค. 2023 เวลา 12:00 • สุขภาพ

ผลวิจัยล่าสุดชี้ว่า อาการหน้าแดงหลังดื่มแอลกอฮอล์ อาจเป็นสัญญาณอันตราย

อาการ “หน้าแดง” หลังดื่มแอลกอฮอล์ไม่กี่แก้ว แม้พบเห็นได้บ่อยในวงสังสรรค์ โดยเฉพาะในเอเชีย แต่ผลวิจัยล่าสุดชี้ว่า อาจเป็นสัญญาณอันตรายมากกว่าแค่ “แพ้แอลกอฮอล์”
5
เดิมนั้น ชาวเอเชียคุ้นเคยกับอาการตอบสนองแอลกอฮอล์ของร่างกายที่ทำให้ใบหน้าและตัวแดงอย่างรวดเร็ว หลังดื่มไปเพียง 1-2 แก้ว แม้จะยังไม่เมาและมีสติครบก็ตาม ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับคนเชื้อสายเอเชียตะวันออกหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนทั่วโลกเรียกว่า “Asian Glow” หรือ “Asian Flush”
1
อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์เรียกปฏิกิริยาตอบสนองลักษณะนี้ว่า “Alcohol flush reaction” เป็นผลจากความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งทำให้ตับไม่สามารถเผาผลาญแอลกอฮอล์ได้อย่างเหมาะสม
3
หรืออธิบายอย่างเฉพาะเจาะจงได้ว่า คนที่มีเอนไซม์ aldehyde dehydrogenase 2 หรือ ALDH2 บกพร่อง ทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองต่อสารอะซีทอลดีไฮด์ (acetaldehyde) ที่ได้จากการกระบวนการเผาผลาญเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้สารนี้ตกค้างอยู่ในร่างกาย โดยปัจจุบันกลุ่มที่ประสบภาวะนี้อยู่ที่ราว 8% ของประชากรโลก
1
แม้ว่าอาการหน้าแดงหลังดื่มแอลกอฮอล์มักเป็นเพียงเรื่องน่าอายหรือชวนขำขันที่เกิดขึ้นได้เมื่อออกไปปาร์ตี้ยามค่ำคืน แต่ก็มีบรรดานักวิจัยจำนวนมากขึ้นที่พบว่า จริง ๆ แล้ว อาการนี้เป็นสัญญาณเตือนของร่างกายมนุษย์ซึ่งมาจากผลกระทบที่อันตรายถึงชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Science Translational Medicine ซึ่งพบว่า กลุ่มคนที่มีอาการหน้าแดงเพราะมีเอนไซม์ ALDH2 บกพร่องนี้ อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจสูงกว่าคนทั่วไป พร้อมแนะนำให้คนกลุ่มนี้ทบทวนพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของตน
1
ยิ่งไปกว่านั้น ปฏิกิริยาตอบสนองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนกลุ่มนี้ยังทำให้เกิดการอักเสบในหลอดเลือด ซึ่งส่งผลให้กระแสโลหิตทั่วร่างกายไหลเวียนได้จำกัด และอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจได้
“จากการทดลอง เราพบว่าหนูที่มีเอนไซม์ ALDH2 บกพร่อง มีอาการหลอดเลือดขยายตัวลดน้อยลง” โจเซฟ วู ผู้อำนวยการสถาบันโรคหัวใจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและผู้ร่วมเขียนงานวิจัยนี้ เปิดเผยกับเว็บไซต์ Daily Beast ผ่านอีเมล “เมื่อให้แอลกอฮอล์กับหนูตัวเดิม พบว่าขนาดหลอดเลือดใหญ่ขึ้นและหนาขึ้น และมีการหดตัวและคลายตัวผิดปกติ”
2
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังพบว่า อาสาสมัครที่ร่วมทดลองในงานวิจัยนี้และมีเอนไซม์ ALDH2 บกพร่อง ประสบกับภาวะหลอดเลือดทำงานผิดปกติ หลังจากดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณพอเหมาะหรือ 1 แก้วมาตรฐาน
7
วู ระบุว่า ผลลัพธ์นี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเท่าใด ก็อาจส่งผลอันตรายต่อกลุ่มคนที่หน้าแดงเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคน ๆ นั้นมีปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบอยู่แล้ว เช่น เคยมีสมาชิกครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง
6
โฆษณา