Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Happily.ai
•
ติดตาม
30 ม.ค. 2023 เวลา 04:22 • ธุรกิจ
Self-Awareness รากฐานของการพัฒนา EQ (Emotional Intelligence)
หลาย ๆ ท่านคงทราบดีว่า ความฉลาดทางอารมณ์หรือ Emotional Intelligence (EQ) เป็นทักษะที่จำเป็นในการทำงาน คนที่มี EQ สูง นอกจากจะเข้าใจอารมณ์ของตัวเองและจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดีแล้ว พวกเขายังอ่านบรรยากาศและเข้าใจความเป็นไปของคนรอบข้างได้อีกด้วย
EQ มีองค์ประกอบ 5 อย่าง และ 1 ในนั้นคือ Self-awareness หรือการตระหนักรู้ในตัวเอง งานวิจัยพบว่า คนที่มี Self-awareness จะเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ตัดสินใจได้ดีขึ้น สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นพนักงานที่มี Self-awareness จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่า และผู้นำหรือหัวหน้าที่มีทักษะนี้ก็จะบริหารทีมได้ดี ทำให้พนักงานรู้สึกพึงพอใจกับงานมากขึ้นและสร้างผลกำไรแก่องค์กรได้มากกว่า
Self-awareness จึงเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในทุกองค์กรอย่างไม่ต้องสงสัย อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ เพียงแต่ว่าคุณรู้จักและเข้าใจ Self-awareness ดีแล้วหรือยัง?
Self-awareness คืออะไร?
การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) เป็นความสามารถในการรับรู้และเข้าใจ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก สิ่งที่เราให้คุณค่า รวมถึงเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อเราหรือพฤติกรรมของเราอย่างไรบ้าง ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถประเมินจุดแข็งและโอกาสเพื่อนำไปพัฒนาตนเองต่อไปได้ โดยที่เราสามารถแบ่งการตระหนักรู้ตนเองออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.การตระหนักรู้ภายใน (Internal Self-awareness)
หมายถึง การมองเห็นหรือการเข้าใจว่าเรามีตัวตน ความคิด ความรู้สึก หรือให้คุณค่ากับสิ่งใดและสิ่งเหล่านี้มีผลต่อคนอื่น ๆ อย่างไรบ้าง
การตระหนักรู้ประเภทนี้จะช่วยให้เราเข้าใจ รวมถึงเท่าทันความคิด ความรู้สึก หรืออารมณ์ของตนเองได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากเราเข้าใจว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นคืออะไรและสาเหตุมาจากไหน ทำให้สามารถจัดการและรับมือกับอารมณ์นั้น ๆ ได้อย่างรู้เท่าทัน
หากเราขาดการตระหนักรู้ภายใน เราอาจระบุที่มาของความรู้สึกผิดพลาด จนนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดได้ เช่น พาลโมโหใส่เพื่อนร่วมงาน เพราะเข้าใจว่าเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้เราโกรธ ทั้งที่จริงแล้วการจราจรอันวุ่นวายหรือผู้คนที่เบียดเสียดบนรถไฟฟ้าต่างหากที่ทำให้เราหงุดหงิด เป็นต้น
2.การตระหนักรู้ภายนอก (External Self-awareness)
หมายถึง การมองเห็นหรือการเข้าใจว่าตัวตนของเราเป็นแบบไหนในมุมมองของคนอื่น ๆ
การตระหนักรู้ประเภทนี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) ได้มากขึ้น ว่าเพราะอะไรเขาถึงทำเช่นนี้ เปรียบเสมือนการได้รับ Feedback จากคนรอบข้าง ว่าเขามองพฤติกรรมหรือว่าความคิดของเราอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับมือและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น
หน้าตาของ Self-awareness เป็นอย่างไร?
เรามีตัวอย่างสถานการณ์มาบอกเล่าเพื่อช่วยให้คุณเห็นภาพของการใช้ Self-awareness ในชีวิตประจำวันและในที่ทำงาน
ตัวอย่างที่ 1
เจ ต่อสู้กับการทำรายงานประจำไตรมาสและผลลัพธ์ที่ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายบ่อยครั้ง เขาสังเกตและรู้สึกถึงว่า มาตรฐานของเขากับผลงานที่ทำได้ไม่สมดุลกัน เขาจึงประเมินตัวเองเพื่อระบุสาเหตุและกำหนดวิธีที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น
เจ ถามตัวเองว่า อะไรทำให้งานที่ทำนั้นยากสำหรับเขา และเขาพบว่าเขาไม่ได้มีปัญหากับการทำงานให้สำเร็จตามที่กำหนดไว้ แต่มีปัญหากับการเขียนรายงานให้ลื่นไหลและอ่านเข้าใจได้ง่ายและชัดเจน เจจึงตัดสินใจลงเรียนคอร์สพัฒนาการเขียน และขอให้เพื่อนร่วมงานช่วยอ่านและให้ Feedback ก่อนจะส่งงาน รวมทั้งยังพัฒนาแบบฟอร์มรายงานไว้สำหรับใช้งานในอนาคต เพื่อที่รายงานจะได้มีข้อมูลสำคัญครบถ้วนและเขาไม่ทำผิดพลาดซ้ำในครั้งต่อ ๆ ไป
ตัวอย่างที่ 2
จูน มีความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) ซึ่งทำให้เธอต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า เธอรู้สึกว่าเก่งไม่พอและไม่พร้อมคว้าโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพราะความคิดนี้ขัดขวางเธอไว้ เธอจึงเลือกปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างการตระหนักรู้ในตนเอง
หลังจากมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามา ในแว่บแรกเธอคิดว่าไม่อยากทำและคิดที่จะปฏิเสธโอกาสนั้นไป แต่หลังจากปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญบ่อยครั้งและได้เรียนรู้วิธีการสร้างการตระหนักรู้แก่ตนเอง เธอก็เข้าใจว่า เป็นตัวเธอเองนั่นแหละที่บอกกับตัวเองว่าไม่อยากรับโอกาสที่เข้ามาหา เพราะกังวลว่าเธอจะทำได้ไม่ดีพอและเธอไม่เก่งเพียงพอ
จูนจึงย้ำกับตัวเธอเองว่า เราเก่งพอ เราดีพอ และถามย้อนกลับไปอีกว่า “ถ้าหากมันไปได้สวยละ?” แทนที่จะถามว่า “ถ้าชั้นทำมันพังละ?” อย่างที่เคยเป็นมา เมื่อตระหนักรู้ถึงความคิดความรู้สึกของตัวเอง จูนจึงเปิดรับโอกาสที่ผ่านเข้ามา โดยใช้ความตระหนักรู้ (Self-awareness) และความรักตัวเอง (Self-love) เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะเติบโตและก้าวหน้าต่อไป
แล้วจะพัฒนา Self-awareness ได้อย่างไร?
เฉกเช่นเดียวกันกับทุกทักษะ Self-awareness สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ นอกจากนี้การตระหนักรู้ในตนเองยังเป็นก้าวแรกของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ อีกด้วย นั่นก็เพราะหากคุณรู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกของคุณเอง คุณก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น นั่นคือนำไปสู่ Self-regulation องค์ประกอบที่ 2 ของ EQ นั่นเอง
ดังนั้นทั้งผู้นำ ผู้จัดการ และพนักงานทุกคนจึงต้องเพิ่มและพัฒนาการตระหนักรู้ในตนเองเพื่อประโยชน์แก่ตัวพนักงานและองค์กร เราจึงขอแนะนำวิธีการและเครื่องมือในการพัฒนา Self-awareness ดังต่อไปนี้
1. ทำความเข้าใจตัวเองผ่านแบบทดสอบต่าง ๆ
1.
แบบทดสอบบุคลิกภาพ 16 Personalities: แบบทดสอบจะช่วยให้เราเข้าใจว่าพฤติกรรมของเราเป็นอย่างไรและสามารถส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างได้อย่างไรบ้าง
2.
Self-awareness quiz ของ Tasha Eurich: แบบทดสอบนี้ช่วยให้เราเห็นและเข้าใจว่าเรามี Self-awareness มากน้อยขนาดไหน โดยแบบทดสอบนี้ใช้เวลาเพียง 5 นาที และยังแนะนำวิธีการพัฒนาที่สามารถทำได้ด้วยตนเองทันทีด้วย
2. สอบถาม Feedback จากคนรอบตัว
ถาม Feedback จากครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมงานเพื่อทำการสำรวจและทำความเข้าใจว่า พฤติกรรม อารมณ์และความรู้สึกของเรามีผลต่อคนรอบข้างอย่างไรบ้าง
3. เขียนบันทึก (Journal) เพื่อสะท้อนและสำรวจตัวตน
นำข้อมูลที่ได้จากแบบทดสอบและ Feedback จากคนรอบข้างทั้งหมดมาเขียน Journal เพื่อทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ทั้งความรู้สึกนึกคิดของเรา อารมณ์ที่เกิดขึ้นและวิธีรับมือของเราต่อเหตุการณ์นั้น ๆ
การเขียน Journal ช่วยให้เราเห็นภาพของตัวเราและอารมณ์ของเราเองได้ชัดเจนขึ้น เมื่อเราเขียนทบทวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เราเห็นรูปแบบ (Pattern) ของบางสิ่งบางอย่างที่นำไปสู่ความเครียดและความกังวลของเราได้
อันที่จริงหลักคิดของ Self-awareness มีความคล้ายคลึงกับเรื่อง “สติ” หรือ “การอยู่กับปัจจุบัน” ที่คนไทยได้ยินกันมาตั้งแต่เล็กด้วย และที่จริงแล้วการนั่งสมาธิก็ช่วยเรื่องการตระรู้หนักรู้ตัวเองด้วยเช่นกัน
สรุป
Self-awareness คือทักษะที่เป็นฐานรากของ EQ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เมื่อคุณตระหนักรู้และรู้เท่าทันความคิดความรู้สึกของตนเองแล้ว คุณก็จะมองเห็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง ควบคุมอารมณ์และจัดการอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้น ทำงานกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นและใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นองค์กรที่ผู้นำและพนักงานมี Self-awareness สูง ก็จะสร้าง Productivity และ Performance ได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
เกลานิสัยอันตราย
missiontothemoon
พัฒนาตัวเอง
บันทึก
6
3
6
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย