30 ม.ค. 2023 เวลา 12:30 • กีฬา

เงินรางวัลของนักกีฬาโอลิมปิก รัฐบาลเอามาจากไหน วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง

เวลานักกีฬาโอลิมปิกได้เหรียญกลับบ้าน นอกจากชื่อเสียงแล้ว สิ่งที่จะได้รับแน่ๆ แบบการันตีเลยคือ "เงิน"
ภาคเอกชนจะอัดฉีดคุณอย่างมากมาย บางคนเป็นเศรษฐี ได้เงิน 40-50 ล้านบาทในพริบตากันเลยทีเดียว ในประเทศไทยนั้น ขอเพียงแค่คุณไปถึงเหรียญได้ ก็รวยไม่รู้เรื่อง
แต่ปัญหาของเรื่องนี้คือ ในมุมของเอกชน เขาก็ต้องมองว่า นักกีฬาคนไหนมีคาแรคเตอร์ต่อยอดได้ ก็สนับสนุนเยอะหน่อย ส่วนคนไหนที่ไม่ค่อยเด่น ต่อให้ได้เหรียญก็จะไม่ได้มีสปอนเซอร์เยอะมาก
ได้เหรียญโอลิมปิกเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าจะได้เงินสนับสนุนเท่ากันทุกคน อันนี้คือสัจธรรมเลย
ในเรื่องนี้ ภาครัฐเห็นปัญหาความไม่ยุติธรรม จึงเริ่มทำการแก้ไขโดยให้หน่วยงานชื่อ "กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ" เป็นคนกลางในการจัดสรรเงินให้นักกีฬาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่สนว่าใครจะดัง ใครจะไม่ดัง ถ้าคุณทำเพื่อชาติได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คุณก็รับเงินไป เป็นรางวัลตอบแทนความสำเร็จ
ในโอลิมปิกเกมส์นั้น กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จะมอบเงินให้นักกีฬาดังนี้
- เหรียญทอง 12 ล้านบาท
- เหรียญเงิน 7.2 ล้านบาท
- เหรียญทองแดง 4.8 ล้านบาท
1
ไม่เพียงแค่นั้นถ้ากีฬาชนิดไหนได้เหรียญกลับมา สมาคมของกีฬาประเภทนั้นจะได้เงินพิเศษอีก 30% และโค้ชจะได้อีก 20% ด้วย
ตัวอย่างเช่น ในโอลิมปิกที่โตเกียว เมื่อเทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ได้เหรียญทองปั๊บ เธอจะได้เงินจากกองทุนฯ 12 ล้านบาท ส่วนสมาคมเทควันโด้แห่งประเทศไทยจะได้เงิน 3.6 ล้านบาท และทีมสตาฟฟ์ที่นำโดยโค้ชเช ยองซ็อก ได้เงิน 2.4 ล้านบาท
1
การมีระบบ ระเบียบที่ชัดเจนว่าภาครัฐจะให้เงินสนับสนุนเท่าไหร่ ทำให้นักกีฬามีกำลังใจอย่างมาก แทนที่จะไปวัดดวงว่าเอกชนจะให้กี่บาท อันนี้การันตีมีตัวเลขชัดเจนเลยว่า ขั้นต่ำที่จะได้คือตัวเลขเท่านี้ เท่านี้
รวมถึงสตาฟฟ์โค้ชที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ เงินจากเอกชนอาจจะเข้าไม่ถึง แต่อย่างน้อยความพยายามเพื่อนักกีฬานั้น กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติก็ไม่เคยลืม
2
เรื่องที่เราควรรู้อีกนิดคือ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ไม่ได้มีหน้าที่แค่จ่ายเงินให้นักกีฬาทีได้เหรียญโอลิมปิก แต่พวกเขาสนับสนุนหลายสิ่งหลายอย่างมากกว่านั้น
1
1- เวลานักกีฬาเดินทางไปแข่งต่างประเทศ ถ้าสมาคมกีฬาติดต่อเข้ามา กองทุนฯ จะพิจารณาว่า เป็นการแข่งระดับไหน และจะจัดสรรเงินค่าเดินทาง ค่าที่พักให้ตามแต่เลเวลของการแข่ง เช่นถ้าชิงแชมป์โลกก็จะได้เยอะสุด ชิงแชมป์ทวีปก็ลดหลั่นลงมา
หรืออย่างในซีเกมส์ นักกีฬาที่ไปแข่งจะได้เบี้ยเลี้ยงทุกคน คนละ 900 บาทครับ เหมือนเป็นพ็อคเกตมันนี่สำหรับเดินทางนั่นแหละ ลองคิดดูว่านักกีฬามีหลายร้อยคน อีเวนต์หนึ่งก็หมดไปหลายล้านเหมือนกัน
ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. เล่าว่า "เราจะเห็นที่สมาคมกีฬาต่างๆ ขอบคุณสปอนเซอร์เอกชนอยู่ตลอด แต่ไม่ได้แปลว่ากองทุนไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่นี่เป็นเงินที่รัฐต้องมอบให้สมาคมอยู่แล้ว ก็เลยไม่จำเป็นต้องขอบคุณอะไรกันเป็นกรณีพิเศษ"
2- กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จะมอบทุนการศึกษาของนักกีฬา ตั้งแต่ประถม ไปถึงปริญญาเอก สามารถยื่นเรื่องของบได้เลย
3- นักกีฬาที่ประสบอุบัติเหตุจากการแข่งขันกีฬา จนต้องบาดเจ็บ จะมีเงินสงเคราะห์พิเศษจากกองทุนฯ คอยช่วยเหลือ
4- การจัดอีเวนต์กีฬาในประเทศ ถ้าหากเป็นระดับนานาชาติ ที่จะยกระดับคุณภาพของกีฬาในไทย ก็สามารถมาของบได้
5- เงินรางวัลอัดฉีดเวลานักกีฬาชนะ ไม่ใช่แค่โอลิมปิกนะครับ แต่รวมถึงพาราลิมปิก, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, ซีเกมส์ และ อาเซียนพาราเกมส์ด้วย โดยอาเซียนพาราเกมส์ (ซีเกมส์คนพิการ) ครั้งล่าสุด กองทุนฯ จ่ายเงินไป 101.3 ล้านบาท
ดังนั้นเราพอจะบอกได้ว่า นี่เป็นหน่วยงานหลักที่จะคอยมอบเงินสนับสนุนให้กับสมาคมต่างๆ และนักกีฬาทุกเพศทุกวัย ถือเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญเลยล่ะครับ ปีหนึ่งใช้งบหลายพันล้านทีเดียว
คำถามคือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเอาเงินมาจากไหน? คำตอบคือ เงินที่เรียกว่า “ภาษีบาป” นั่นเอง นับจากปี 2558 เป็นต้นมา มีการออกกฎหมายว่า เงินภาษี 2% ของภาษีสุรา และ ยาสูบ จะกลายมาเป็นงบของกองทุนฯ ครับ
1
สองภาษีนี้รวมกัน มีมูลค่า 2 แสนล้านบาทต่อปี แปลว่าโดยกลมๆ แล้ว แต่ละปี กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติจะได้เงิน ราวๆ 4,000 ล้านบาทนั่นเองครับ
จะว่าไปก็แปลกดีที่ บุหรี่กับสุรา ที่ทำให้คนมีสุขภาพแย่ลง แต่ภาษีของมันกลับเป็นน้ำเลี้ยงคอยผลักดันให้นักกีฬาประสบความสำเร็จมากขึ้น ถือเป็นอะไรที่ Ironic ดีเหมือนกันครับ
1
โฆษณา