30 ม.ค. 2023 เวลา 13:00 • สิ่งแวดล้อม

เมื่อ ‘ภาษีคาร์บอน’ SME ไทย ได้เวลาปรับใช้โมเดล ESG เพื่อความยั่งยืน

การประชุม APEC 2022 ได้พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมจุดยืนของไทยต่อการร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้ประเด็น ‘ภาษีคาร์บอน’ เป็นสิ่งที่กำลังถูกพูดถึงในวงการธุรกิจไทย เมื่อ EU ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกถึง 1.5 องศา เมื่อภาษีคาร์บอนเข้ามามีบทบาทในไทย Bangkok Bank SME จึงอยากชวนผู้ประกอบการ SME เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อปรับธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษ์โลกอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิด ESG
โดยวันนี้จะมาพูดถึง มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป (MEPs) บรรลุข้อตกลงมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
มาตรการ CBAM คืออะไร
CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) คือมาตรการภายใต้นโยบาย the European Green deal มีเป้าหมายให้สหภาพยุโรป (EU) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิอย่างน้อยร้อยละ 55 ในปี ค.ศ. 2030 และลดลงเหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050
เพื่อสร้างความเท่าเทียมต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายใน EU ที่มีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU’s Emission Trading System : EU ETS) กับสินค้าที่ผลิตภายนอก EU ผ่านการปรับราคาคาร์บอน เพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของ EU ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มงวด
ความคืบหน้ามาตรการปรับภาษีคาร์บอนในต่างประเทศ?
จากการประชุมของคณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป หรือ EU เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) แล้ว
โดยให้ขยายขอบเขตการบังคับใช้ CBAM กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย จากเดิม 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า ให้เพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้า
โดยรวมไฮโดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (indirect emissions) อาทิ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตสินค้า
ซึ่งได้ข้อสรุปในรายละเอียดสำคัญของมาตรการดังกล่าวแล้ว และจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566
ทั้งนี้ อาจขยายให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นด้วยในอนาคต โดยในช่วง 3 ปีแรก คือ ปี 2566 – 2568 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้นำเข้าสินค้าทั้ง 7 กลุ่ม เพียงแค่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ผลิต ให้ EU ทราบเท่านั้น ยังไม่มีการกำหนดค่าธรรมเนียม เพื่อให้ปรับตัว
จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น และต้องจ่ายภาษีคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ตนนำเข้า โดยจะขยายขอบเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายของ CBAM ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่บังคับใช้ในระบบ EU ETS เช่น สารอินทรีย์พื้นฐาน พลาสติกและโพลีเมอร์ แก้ว เซรามิค ยิปซัม กระดาษ เป็นต้น
ดังนั้นผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปยัง EU ควรเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะด้วยการปรับกระบวนการผลิตและเริ่มประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ด้านระบบวัดผลและรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้าตนเองตามมาตรฐานที่กำหนดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการดำเนินมาตรการ CBAM ของ EU
สำหรับกลุ่มสินค้าไทยที่เข้าข่ายมาตรการ CBAM ที่สำคัญ คือ เหล็กและเหล็กกล้า มูลค่าส่งออกที่ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ส่งออก 3.6 พันล้านบาท โดยมีมูลค่าส่งออกรวมไปสหภาพยุโรปไม่ต่ำกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 2.1 % ของการส่งออกของไทยไปยุโรป ดังนั้นภาษีคาร์บอนข้ามแดนจึงกระทบส่งออกไทยไม่น้อย
ขณะที่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสิงคโปร์ ประกาศจะปรับภาษีคาร์บอนขึ้นอีก 5 เท่าเป็น 25 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 601 บาท) ต่อตันคาร์บอนในปี 2024 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในประมาณปี 2050
ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอน และได้ดำเนินการเก็บภาษีคาร์บอนเพื่อกระตุ้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาตั้งแต่ปี 2019 และมีแผนที่จะขึ้นภาษีคาร์บอนในอนาคต โดยจะปรับตัวเลขเป็น 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2026 และ2027 และขึ้นเป็น 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ถึง 80 ดอลลาร์สิงคโปร์ภายในปี 2030
สำหรับการเก็บภาษีคาร์บอนของสิงคโปร์ในปัจจุบัน บังคับใช้กับโรงงาน อุตสาหกรรม ธุรกิจทั้งหมดทุกประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 25,000 ตันต่อปีขึ้นไป ซึ่งจะครอบคลุมถึงผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ 30 - 43 รายในประเทศสิงคโปร์ อาทิ โรงกลั่นน้ำมันและโรงไฟฟ้า ซึ่งปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากถึง 80 % ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งหมดของประเทศ
ขณะที่ ประเทศสวีเดน มีการเก็บภาษีจากก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่อัตรา 129.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมีการนำรายได้จากการเก็บภาษีมาเป็นเงินคืนหรือส่วนลดทางภาษีให้แก่อุตสาหกรรม โดยสามารถขอส่วนลดทางภาษีได้ถึงร้อยละ 22ของอัตราภาษีคาร์บอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐ
หากไม่ยื่นหลักฐาน CBAM Certificates ภายในเวลาที่กำหนด
ผู้นำเข้าสินค้านั้นจะต้องโดนโทษในอัตรา 3 เท่า ของราคาเฉลี่ยในปีก่อนหน้า ต่อ 1 CBAM Certificate ที่ยังไม่ได้ส่งมอบ และยังคงต้องทำการซื้อและส่งมอบ CBAM Certificate ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดสำหรับการนำเข้าสินค้านั้น
‘ภาษีคาร์บอน’ กรณีศึกษา และแนวทางใช้จริง
ประเทศไทยกำหนดการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 และรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ในกลุ่มสินค้าและบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง
สำหรับภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นภาษีที่เก็บจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยฐานภาษีคาร์บอนที่ใช้ในการจัดเก็บ มี 2 แบบ คือ
1.จัดเก็บภาษีทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้า
2. จัดเก็บภาษีทางอ้อมตามการบริโภค
ทั้งนี้ ในต่างประเทศการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปขณะที่ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เอเชีย และแอฟริกาบางประเทศเริ่มมีการนำภาษีคาร์บอนมาบังคับใช้เช่นกัน โดยปัจจุบันมี 29 ประเทศ
โดยกรณีศึกษาการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจากประเทศต่าง ๆ อาทิ สิงคโปร์มี 2 รูปแบบ คือ 1.จัดเก็บบนสินค้า 2.จัดเก็บจากกระบวนการผลิตสินค้า ขณะที่ กลุ่มประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป(EU) ใช้วิธีการจัดเก็บจากกระบวนการผลิตสินค้าทั้งในและต่างประเทศ
โดยอัตราภาษีคาร์บอนในต่างประเทศที่มีการจัดเก็บค่อนข้างแตกต่างกัน ตั้งแต่ 0.08 – 137 ดอลลาร์ต่อตัน CO2 ซึ่งมีทั้งการจัดเก็บภาษีทางตรงจากการผลิตและจัดเก็บภาษีจากการบริโภค
สำหรับประเทศไทย กรมสรรพสามิต กำลังศึกษาเพื่อนำภาษีคาร์บอนมาใช้ โดยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวได้อย่างยั่งยืน (Sustainability)
กรมสรรพสามิต ระบุว่า การเก็บจากกระบวนการผลิตนั้น จะต้องมีหน่วยวัด ใครปล่อยคาร์บอนออกมาเท่าไหร่ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ ก็เก็บเท่านั้น กรณีสิงคโปร์ใช้แบบนี้ เขาเก็บ 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคาร์บอนไดออกไซด์เมตตริกตัน (CO2t) ถือเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่เก็บภาษีนี้
แต่บทเรียนที่เจอ คือ การจะเก็บภาษีได้ จะทำคนเดียวไม่ได้ ซึ่งทางสรรพสามิตเขาไม่ได้เป็นคนเก็บ แต่ให้กระทรวงสิ่งแวดล้อมเป็นผู้เก็บ โดยหน่วยงานนี้เป็นผู้วัดและส่งให้กรมสรรพสามิต ดังนั้นจึงต้องให้หน่วยงานเหล่านี้มาหารือร่วมกัน
ส่วนกรณีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจาก EU และประเทศพัฒนาแล้ว คือ จัดเก็บภาษีจากการผลิตในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งกรณีที่มีการจัดเก็บจากสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย เป็นเพราะทาง EU กังวลว่า ภาคธุรกิจในประเทศจะย้ายฐานไปลงทุนต่างประเทศและส่งสินค้าเข้ามาแทน จึงได้ออกกติกาเก็บภาษีศุลกากรด้วย ไม่เพียงแนวทางการจัดเก็บภาษีเท่านั้นที่จะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้ การยกเว้นการเก็บภาษีก็ช่วยได้
โดยเบื้องต้นกำหนดว่าสินค้าใดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ สินค้าใดที่ต้องการส่งเสริม ก็จะมีแนวทางในการลดภาษีให้ ในทางกลับกัน สินค้าอะไรที่ไม่อยู่ในข่ายส่งเสริมจะจัดเก็บภาษีมากขึ้น เป็นต้น
ไทยเร่งออก พ.ร.บ. โลกร้อน
จุดประสงค์ของพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ร.บ.โลกร้อน) ฉบับนี้คือ การร่วมมือกับเอกชน ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะรายเล็กหรือใหญ่ จะมีหน้าที่เก็บข้อมูลกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ในกิจการของตน เช่น วางมิเตอร์การใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงงาน และจัดทำรายงานให้หน่วยงานรัฐในกำกับ เพื่อที่หน่วยงานนั้นจะส่งต่อข้อมูลให้ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) คำนวณออกมาเป็นข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่าง ๆ
ทั้งนี้ประเทศไทยได้ประกาศในการประชุม COP 26 ว่าไทยจะวางแผนในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวเข้าสู่สถานะ Net zero หรือ Net zero greenhouse gas emissions ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2065 และ Carbon natural หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050
ซึ่งได้ตั้งเป้าการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก จาก Maximum ของไทย 388 ล้านตันต่อปี ลงไปเหลือ 120 ล้านตันต่อปี ส่วนแผนระยะสั้น ประเทศไทยมีแผนที่ Nationally Determined Contributions หรือที่เรียกว่า NDC และจากนี้ไปจนถึง ปี ค.ศ. 2030 ตั้งใจว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ 40%
ดังนั้นการออกพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับนี้ จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศไทย ทั้งในด้านการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะว่าการค้าขายกับต่างประเทศจะถูกบังคับด้วยกรอบด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ต่อไปผู้บริโภคเอง ก็จะสามารถตัดสินใจเลือกอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำได้ และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะกลายมาเป็นเทรนด์การตลาดที่ผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันกันทำขั้นตอนการผลิตของตัวเองให้เป็นมิตรกับชั้นบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกวัน จากนี้ไปการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย จะต้องเดินหน้าไปพร้อมกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จะแยกจากกันไม่ได้เด็ดขาด
แนวคิดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในประเทศไทย
สำหรับการจัดเก็บภาษีบนสินค้านั้น โดยหลักการ คือ สินค้าใดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนก็จะจัดเก็บภาษีสินค้านั้น ซึ่งเป็นแนวทางที่กรมสรรพสามิต มองว่า มีความเหมาะสมกับประเทศไทย เพราะเป็นการเก็บภาษีจากราคาขายปลีกของสินค้า ดังนั้น ในเบื้องต้นหรือในระยะสั้นจะเลือกแนวทางการจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้
กรณีจัดเก็บภาษีคาร์บอนทางตรงจากการผลิต เนื่องจากต้องมีการออกแบบกระบวนการตรวจสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกระบวนการผลิต จึงเริ่มกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัว และการรายงานผลให้กับกรมสรรพสามิต ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและการประกอบกิจการพลังงาน จะต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่ภาครัฐ
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีโรงงานจำนวน 45,163 แห่ง ที่จะต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้น
โดยหมวดหมู่อุตสาหกรรมที่มีปริมาณการใช้พลังงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์อโลหะ อาหาร และเครื่องดื่ม และคาดว่าอัตราภาษีจะอ้างอิงตามราคาคาร์บอนเครดิตในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่าง 20 – 1,874.93 บาทต่อตัน CO2 หรือเทียบเท่า 0.5 - 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน CO2
กรณีจัดเก็บภาษีคาร์บอนทางอ้อมจากเชื้อเพลิงฟอสซิล กรมสรรพสามิต เริ่มจัดเก็บภาษีเชื้อเพลิงฟอสซิลให้อ้างอิงกับปริมาณ CO2 ที่ได้จากการเผาไหม้ได้ทันที
โดยกำหนดอัตราภาษีจากเชื้อเพลิงตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่อ้างอิงกับปริมาณ CO2 และปริมาณการปล่อย CO2 ของเชื้อเพลิงแต่ละประเภท
ซึ่งหากเปรียบเทียบภาษีสรรพสามิตและภาษีคาร์บอนจากน้ำมันเบนซินของไทยกับต่างประเทศพบว่าอัตราภาษีน้ำมันเบนซินของไทยอยู่ที่ 0.172 เหรียญสหรัฐฯ ต่อน้ำมันเบนซิน 1 ลิตร ซึ่งสูงกว่าการจัดเก็บในหลายประเทศ อีกทั้งหากเปลี่ยนอัตราภาษีน้ำมันเบนซินในปัจจุบันให้เป็นอัตราตามปริมาณการปล่อย C02 โดยไม่เพิ่มภาระภาษี จะเท่ากับประมาณ 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน CO2
ผู้ประกอบการSME ต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวอย่างไร?
1.ผู้ประกอบการควรตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากเป็นบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์จะต้องรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกในรายงานประจำปี
ขณะที่ในปี 2023 สินค้าส่งออกไปยังสหภาพยุโรปในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจะต้องมีการรายงาน Carbon Footprint ตามมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป อีกทั้ง สหรัฐฯ ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อนำมาตรการ CBAM มาใช้สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีการรายงาน Carbon footprint ของกระบวนการผลิตสินค้าเช่นเดียวกัน
2.ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ความพยายามของภาครัฐในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะส่งผลให้กิจการที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงหรือยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่ากิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญต่อการวางแผนการลงทุนในระยะยาวเพื่อการประหยัดและปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานเป็นพลังงานสะอาด รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
3.สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะได้รับความนิยมมากขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของ ESG อย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น หากผู้ประกอบการหันมาผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นการขยายตลาดไปสู่คนรุ่นใหม่ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว เช่น เลือกใช้พลังงานทดแทน ใช้โมเดล ESG ปรับโครงสร้างการผลิต ลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ครั้งเดียว ผลิตสินค้า Green Product เป็นต้น
ทางรอดของ ผู้ประกอบการส่งออกไทย
ผู้ประกอบการ SME ไทย ต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องนำมารายงาน EU ภายใต้มาตรการฯ และควรพิจารณาทางเลือกใหม่ในกระบวนการผลิต เพื่อให้ปล่อยคาร์บอนต่ำ นำพลังงานสะอาด และหมุนเวียนมาใช้ เพื่อลดภาระในการซื้อใบรับรอง CBAM ในอนาคต
ทั้งนี้ ในปี 2564 สถิติการส่งออกสินค้าของไทยไป EU ตามพิกัดสินค้าที่ระบุในร่างกฎหมาย CBAM ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า มูลค่า 125.42 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3.76% ของการส่งออกไปโลก อะลูมิเนียม มูลค่า 61.17 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3.75% ของการส่งออกไปโลก น๊อตและสกรู มูลค่า 95.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 19.96% ของการส่งออกไปโลก
สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 7 กลุ่มสินค้า ได้เตรียมความพร้อมและปรับตัวมาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการลดใช้พลังงาน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงาน การปรับกระบวนการผลิตเพื่อให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้น้อยที่สุด การอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับการปรับตัวที่ค่าพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนการขยายขอบเขตสินค้าไฮโดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ เช่น น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า โดยสินค้าดังกล่าว การส่งออกมีสัดส่วนเพียง 2 % แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการ SME เองก็ต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับมาตรการ CBAM
ผู้ประกอบการได้รับสัญญาณเตือนจาก EU มาก่อนหน้านี้แล้วกับการประกาศมาตรการ CBAM ก็เตรียมความพร้อมมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่ที่น่าจับตาต่อไปในอนาคต หากว่ามีการขยายขอบเขตกลุ่มสินค้าเพิ่ม
โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเม็ดพลาสติก กลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ จะกระทบหนักแน่ เพราะสัดส่วนการส่งออกเม็ดพลาสติก 6 % กลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ 3-5 % เมื่อรวมทั้ง 2 กลุ่มก็จะมีสัดส่วน 8-9 % ของการส่งออกไทย คาดว่าน่าจะทยอยประกาศในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เริ่มปรับตัวมีการใช้พลังงานอื่นทดแทนมากขึ้น
Case ตัวอย่าง ผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตสินค้า เพื่อรองรับภาษีคาร์บอน
ทั้งนี้กรมสรรพสามิตมีแนวทางในการสนับสนุนการนำเอทานอลบริสุทธิ์มาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ หรือ Bio Plastic ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตสินค้า และช่วยส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอีกด้วย
บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร ที่มองว่า กลุ่มสินค้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นประเด็นที่ตลาดโลกเริ่มพูดถึงการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดยุโรป อเมริกา ซึ่งถือเป็นปัจจัยท้าทายใหม่ของภาคส่งออกไทยที่ต้องตระหนักและต้องเร่งมือปรับตัวสู่แนวคิด ESG
ถือเป็นตัวอย่างธุรกิจที่มองการณ์ไกลถึง ‘ภาษีคาร์บอน’ ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและโลก ก่อเกิดแนวคิดผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่สามารถย่อยสลายได้เพื่อแก้โจทย์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งแนวทางตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก ที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพมาตรฐานระดับสากลจากทั้ง สหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป
โฆษณา