30 ม.ค. 2023 เวลา 20:26 • ธุรกิจ

แบงก์ใหญ่ส่งสัญญาณลงสนามชิงไลเซนส์ ‘เวอร์ชวลแบงก์’ นำโดย ‘กสิกรไทย’

แบงก์ใหญ่ส่งสัญญาณลงสนามชิงไลเซนส์ ‘เวอร์ชวลแบงก์’ นำโดย ‘กสิกรไทย’ สนใจขอไลเซนส์ พร้อมเปิดกว้างจับมือพันธมิตร ด้าน ‘กรุงศรี’ อยู่ระหว่างศึกษาหวังช่วยผู้ใช้บริการลดต้นทุนการเงิน ขณะที่ ‘ทีทีบี’ ชี้ยังไม่สนใจเข้าร่วมชิงไลเซนส์ ด้าน ‘กอบศักดิ์’ ฟันธงเวอร์ชวลแบงก์ สะเทือนวงการสถาบันการเงิน เหตุใช้พนักงานน้อยกว่า แต่เข้าถึงคนได้มากกว่าอื้อ ย้ำชัดไม่ปรับตัวอยู่รอดยาก
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า หลักเกณฑ์ ในการขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) น่าจะออกมาชัดเจน อย่างเป็นทางการได้ในช่วงสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ ก่อนจะเปิดให้ผู้ให้บริการที่สนใจ ยื่นขอ “ไลเซนส์” ได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดจะได้ชื่อผู้ที่ได้ไลเซนส์ 3 รายในช่วงแรก ราว ไตรมาส 2 ปี 2567 และ Virtual Bank จะสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่กลางปี 2568 เป็นต้นไป
กรอบหลักเกณฑ์การขอตั้ง Virtual Bank เบื้องต้น ต้องจดทะเบียนตั้งในประเทศไทย ภายใต้ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท โดยจะให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ไม่สามารถตั้งสาขาหรือมีสาขาอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ตู้เอทีเอ็มต่างๆ ได้ รูปแบบประกอบธุรกิจของ Virtual bank ต้องตอบโจทย์ Green line ได้อย่างยั่งยืนและผู้ให้บริการจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการผ่านดิจิทัลที่สำคัญ คือระบบต้องไม่ล่มเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี หรือต่อครั้งไม่เกิน 2 ชั่วโมง ฯลฯ
การมาของ Virtual Bank ถือเป็นการเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งระบบการเงินและการให้บริการประชาชน และยิ่งการมาของ Virtual Bank เป็นไปตามเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนดเป้าหมายไว้ได้จริง ก็น่าจะทำให้ประเทศได้รับประโยชน์มากขึ้น
Virtual Bank คือ ธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ไม่มีสาขา โดยให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank ต้องมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล และนำเทคโนโลยี/ข้อมูลที่หลากหลายทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทางเลือก เช่น พฤติกรรมการใช้จ่าย มาใช้ประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ (new value proposition) แก่ลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ได้ครบวงจรและเหมาะสม ขณะที่ mobile/ internet banking ของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมเป็นเพียงหนึ่งในช่องทางการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเท่านั้น
เป้าหมายของ ธปท.ในการมี Virtual Bank คือ การเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับลูกค้าขนาดเล็ก ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบดิจิทัลอยู่แล้ว ควบคู่กับมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมรูปแบบใหม่ และการผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้แก่ประชาชนในวงกว้าง
การอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมบทบาทภาคการเงินไทยให้สามารถขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลที่มีต้นทุนการให้บริการต่ำ สะดวกและปลอดภัย ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น-bangkokbiznews
โฆษณา