3 ก.พ. 2023 เวลา 14:00 • อาหาร

ไขข้อสงสัย “วาซาบิ” ฆ่าพยาธิได้ จริงหรือ?

ไขข้อสงสัย “วาซาบิ” ฆ่าพยาธิได้ จริงหรือ?
ในวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น “วาซาบิ” ถือเป็นเครื่องเคียงที่มักรับประทานคู่กับซูชิและปลาดิบเสมอ เพราะจะช่วยลดกลิ่นคาวของปลาสดได้ดี ช่วยดึงเอารสธรรมชาติในตัวปลาออกมาได้
ขณะเดียวกัน ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการบริโภคปลาดิบและตามด้วยวาซาบิ จะช่วยฆ่าพยาธิได้ แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายกังขา ความเชื่อนี้จริงมากเพียงใด ติดตามได้ในบทความนี้
📌 ​วาซาบิ คืออะไร
วาซาบิเป็นพืชสมุนไพรของญี่ปุ่น ตระกูลมีหัวเช่นเดียวกับหัวไชเท้า ผักกาด และกะหล่ำปลี มีสีเขียวสด ให้ความรู้สึกเผ็ดขึ้นจมูก ทำให้รู้สึกสดชื่น น้ำหูน้ำตาไหล ซึ่งพืชที่ทำให้มนุษย์รู้สึกฉุนขึ้นจมูกเช่นนี้มีเพียง 3 ชนิดเท่านั้นในโลก คือ ฮอร์สแรดิช มัสตาร์ด และวาซาบิ
สำหรับวาซาบิที่พวกเรารับประทานกัน เชฟจะนำแท่งพืชวาซาบินี้มาขูดและบดเป็นผงออกมา
📌​คำถามคือ​ เเล้ววาซาบิ ฆ่าพยาธิได้จริงไหม
ตามข้อมูลจาก คริส วัตสัน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Eat for Longer.com นักวิจัยด้านโภชนาการและการรับประทานคลีน ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า “วาซาบิไม่สามารถฆ่าพยาธิในปลาดิบได้” แต่มีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรีย ลดกลิ่นคาวปลา ต้านการอักเสบ และช่วยเจริญอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของรศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเมื่อปี 2561 ว่า “วาซาบิไม่สามารถฆ่าพยาธิได้”
แพทย์หญิงพัชรพร เตชะสินธุ์ธนา ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า การฆ่าพยาธิในปลาดิบที่ถูกวิธี ทำได้โดยนำปลาดิบแช่ในอุณหภูมิที่เย็นจัด ต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7 วัน หรือต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 15 ชั่วโมง เพื่อฆ่าพยาธิ “ส่วนใหญ่” แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
2
📌 ความเชื่อ “ปลาน้ำจืดมีพยาธิ แต่ปลาทะเลไม่มีพยาธิ” ถูกต้องหรือไม่
1
ในประเด็นนี้ แพทย์หญิงพัชรพร บอกว่า ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง ทั้งปลาน้ำจืด และปลาทะเลต่างมีพยาธิเหมือนกันทั้งสิ้น เพียงแต่อัตราการเจอพยาธิในปลาน้ำจืดจะสูงกว่าปลาทะเล
2
สำหรับ ปลาน้ำจืด จะพบพยาธิตัวจี๊ด ซึ่งทำให้จุดที่มันกระจุกอยู่บวมแดงขึ้นมา เกิดก้อนคล้ายเนื้องอก พยาธิใบไม้ในตับ ทำให้ท้องอืด ตับโต และเสี่ยงเป็นมะเร็งท่อน้ำดี พยาธิใบไม้ลําไส้ ทำให้ปวดท้องตลอด ถ่ายเป็นน้ำหลายครั้ง
ส่วนใน ปลาทะเล มักพบพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis simplex) ซึ่งมีปากเป็นหนามขนาดเล็ก ปลายหางมีส่วนแหลมยื่นออกมา โดยมันจะใช้ส่วนแหลมทั้งทางปากและหางชอนไชเนื้อเยื่อเข้าไป หลังจากชอนไชเข้าไปได้สำเร็จ อาจเกิดอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ ลำไส้อุดตัน คลื่นไส้อาเจียน เลือดออกในกระเพาะ และอาจมีอาการคล้าย ๆ ไส้ติ่งอักเสบ เนื่องจากหนามแหลมมสร้างความระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้ ก่อให้เกิดบาดแผลข้างใน และภายใน 1-5 วัน ผู้ป่วยอาจอาเจียนออกมาเป็นตัวพยาธิ
การจะฆ่าพยาธิอะนิซาคิส ทำได้โดยปรุงปลาให้สุก หรือแช่ในอุณหภูมิที่เย็นจัด
1
โฆษณา