31 ม.ค. 2023 เวลา 07:45 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Wing Shya ช่างภาพผู้อยู่เบื้องหลังงานภาพเบื้องหลังในภาพยนตร์ หว่องกาไว

ในกระบวนการสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ นอกจากทีมสร้างภาพเคลื่อนไหวแล้ว ช่างภาพนิ่ง ยังเป็นอีกส่วนประกอบสำคัญที่จะถ่ายทอด ส่งต่อ หรือกระทั่งบันทึกอารมณ์ ณ ห้วงเวลานั้นๆ ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ และนั่นก็ทำให้ภาพนิ่งในงานภาพยนตร์ไม่ได้เพียงถูกใช้ในการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ หรือเป็นการบันทึกภาพงานเบื้องหลังเท่านั้น
ภาพนิ่งในงานภาพยนตร์ยังสามารถขยายกลายมาเป็น “ชิ้นงานศิลปะ” ที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับภาพนิ่งเบื้องหลังภาพยนตร์ของหว่องกาไวที่ถูกบันทึกโดยช่างภาพชาวฮ่องกง Wing Shya (วิง เชีย) ซึ่งได้ขยายผลงานจากการเป็นช่างภาพในกองถ่ายภาพยนตร์สู่งานนิทรรศการศิลปะภาพถ่ายที่ถ่ายทอดอารมณ์ความเคลื่อนไหวในภาพนิ่งเหล่านั้นได้อย่างจับใจ
บรรยากาศนิทรรศการที่จัดแสดงในไทย
Sarakadee Lite ได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการภาพถ่าย Wing Shya The Photography Exhibition จัดแสดงผลงานภาพถ่ายของ Wing Shya ที่ HOP (Hub Of Photography) ซึ่งเพิ่งปิดนิทรรศการลงไป (ช่วงเวลาจัดแสดง 3 ธันวาคม 2565 – 29 มกราคม 2566)
เราพบว่าศาสตร์ภาพนิ่งเบื้องหลังภาพยนตร์มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย และในเมืองไทยเองก็ยังไม่ค่อยได้จับงานภาพนิ่งเบื้องหลังภาพยนตร์มาขยายเป็นงานศิลปะมากนัก เราจึงชวน Wing Shya มาพูดคุยถึงวิธีการทำงานเบื้องหลังที่ทำให้ภาพเบื้องหลังกองถ่ายไม่ถูกเก็บไว้เป็นเพียงเรื่องเบื้องหลังอีกต่อไป
• เบื้องหลังการทำงานของช่างภาพเบื้องหลัง
Wing Shya เกิดปี ค.ศ. 1964 ที่เกาะฮ่องกง เขาจบการศึกษาด้านวิจิตรศิลป์จาก Emily Carr Institute ประเทศแคนาดา และกลับมาทำงานเป็นช่างภาพควบคู่ไปกับงานออกแบบกราฟิกที่ฮ่องกง ไม่นานนักราวปี ค.ศ. 1997 เขาก็ได้เริ่มงานถ่ายภาพนิ่งและงานออกแบบกราฟิกให้กับภาพยนตร์ของผู้กำกับชื่อดัง หว่องกาไว (Wong Kar-Wai) เริ่มต้นด้วยเรื่อง Happy Together ต่อเนื่องด้วยหนังรักคลาสสิคข้ามยุค In the Mood for Love, Eros และ 2046 ส่วนปัจจุบันเขามีสตูดิโอส่วนตัวในฮ่องกง และเดินทางไปจัดแสดงงานภาพถ่ายเบื้องหลังกองถ่ายในประเทศต่างๆ
สำหรับ หว่องกาไว ชื่อนี้แฟนหนังรู้จักดีในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของฮ่องกงที่มีเอกลักษณ์ภาพยนตร์ด้านบรรยากาศ “เหงาๆ” และการถ่ายทอด “อารมณ์ ณ ขณะหนึ่งของความใกล้ชิด” ระหว่างตัวละคร บุคคล รวมไปถึงการออกแบบแสง สี และฉากหลังบนพื้นที่ที่สะท้อนความเป็นเมืองของเกาะฮ่องกงยุค 90 ไปจนถึงต้นยุค 2000 และภาพนิ่งจากภาพยนตร์ที่บันทึกโดย Wing Shya จึงถือเป็นส่วนสำคัญของงานบันทึกความทรงจำ และเก็บบรรยากาศอารมณ์ของ ณ ขณะนั้นไว้ด้วยเช่นกัน
“ภาพนิ่งต้องสามารถเล่าเรื่องราวได้ เช่นเดียวกับภาพเคลื่อนไหวที่เราเห็นเป็นฉากๆ ในภาพยนตร์”
นี่คือหลักการสำคัญในการทำงานภาพนิ่งของเขาที่ได้อธิบายไว้สั้นๆ พร้อมเผยเทคนิคที่เขาใช้บันทึกภาพว่า “ผมให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเทคนิค”
In the Mood For Love
ในงานภาพถ่ายของเขา นอกจากจะเก็บบันทึกอารมณ์ในฉากสำคัญและเล่าเรื่องราวของภาพยนตร์แล้ว ภาพที่เป็นมุมระยะประชิด ภาพระยะใกล้ของตัวละครและนักแสดงยังถูกใช้เป็น สื่อ สำหรับการศึกษาตัวละคร (character study) ที่ดึงดูดให้ผู้ชมระลึกถึง ตัวตนของตัวละคร กระตุ้นให้ผู้ชมอยากทำความรู้จักตัวละครมากขึ้น และยังเป็นส่วนต่อขยายเรื่องราวได้ดีไม่ต่างจากภาพเคลื่อนไหว
อีกทั้งในส่วนของผู้ชมที่เคยชมภาพยนตร์หรือคุ้นเคยกับเนื้อเรื่องมาบ้าง งานภาพถ่ายนิ่งเบื้องหลังภาพยนตร์ของเขาได้กลายเป็นชิ้นงานศิลปะที่สะท้อนมุมมองของศิลปินและล้อไปกับธีมและอารมณ์ของภาพยนตร์ ดังนั้นงานกำกับภาพนิ่งจึงไม่ใช่เพียงการสแนปถ่ายไปตามซีนของภาพเคลื่อนไหวแล้วจบแต่ทุกการลั่นชัตเตอร์ต้องมีการวางแผนงานอย่างแม่นยำ
“เวลาที่ต้องทำงานกับนักแสดง ผมจะบอกซีนนาริโอให้นักแสดงถ่ายทอดบทบาทตามบทในฉากนั้นๆ ออกมา และผมจะหายตัวออกจากซีนไปสังเกตการณ์ขณะที่ถ่ายภาพการแสดงนั้นๆ เป็นโมเมนต์แบบถ้ำมอง หรือแอบมองมากๆ แต่ผมก็จะแลกเปลี่ยนความคิดกับนักแสดงที่ผมจะถ่ายภาพในวันนั้นๆ อยู่เกือบตลอดกระบวนการ และผมจะบันทึกภาพการแสดงของพวกเขาในซีนต่างๆ ที่วางไว้”
• ส่วนต่อขยายจากภาพยนตร์สู่งานศิลปะในแกลเลอรี
ในบรรดาภาพยนตร์ของหว่องกาไว “โทนสีแดง” และ “แสงไฟนีออน” เป็นหนึ่งในจุดสะดุดตาของผู้ชมและถูกกล่าวถึงมาโดยตลอดพอๆ กับฉากหลังที่เป็น “ฮ่องกง” ในยุคสมัยที่ยังอยู่ในความดูแลของสหราชอาณาจักรอังกฤษ ก่อนจะถูกส่งคืนสู่รัฐบาลจีนเมื่อหมดสัญญาเช่าเป็นเขตธุรกิจในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1997
ทั้งนี้ในความเห็นของศิลปินที่อยู่เบื้องหลังภาพนิ่งในงานของหว่องมาหลายเรื่อง เขาให้ความคิดเห็นว่าแสงนีออนและโทนสีแดง เป็นความตั้งใจที่สามารถสะท้อนความรู้สึกและอารมณ์ร่วมสมัยของความเป็น “เมืองฮ่องกง” ในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี และนั่นก็ทำให้ “สีแดง” ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสีที่สะดุดตาในนิทรรศการล่าสุดของเขาที่กรุงเทพฯ โดยมีห้องสีแดงเป็นห้องนิทรรศการสุดท้ายพร้อมติดตั้งวิดีโอวอลล์ฉายภาพนิ่งวนลูปไปเรื่อยๆ สะท้อน “ศิลปะ” ผ่านมุมมองของการเล่นแสงและสีของงานภาพถ่ายผ่านเลนส์กล้องของเขา
ในห้องนี้ผนังห้องทั้งสี่ด้านถูกทาสีแดงชาดเป็นสีแดงสดแบบสีมงคลในความเชื่อของจีนและภาพจำจากภาพยนตร์แนวหว่อง เสริมบรรยากาศด้วยเสียงดนตรีประกอบเป็นซาวด์ที่เขาสร้างบรรยากาศให้กับชุดภาพถ่ายจากภาพยนตร์ In the Mood For Love และ Happy Together ที่จัดแสดงร่วมอยู่ด้วย
ภาพเดี่ยวบนผนังด้านขวา ภาพถ่ายหญิงสาวทอดร่างอยู่กลางวงล้อมเทียนหลายสิบเล่ม เชื่อมต่อกับวิดีโออาร์ตที่ฉายภาพวนลูปมุมมองโคลสอัพเรือนร่างและใบหน้าของหญิงสาวส่งความเย้ายวนยั่วล้อกับคนดู เหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ศิลปินบอกไว้ถึงการที่เขาผสมผสานประสบการณ์ถ่ายภาพนิ่งสำหรับภาพยนตร์ที่เน้นการเล่าเรื่องเข้ากับการถ่ายภาพแฟชั่นที่มีองค์ประกอบเรื่องการสื่อสารงานดีไซน์เสื้อผ้า สื่อความเย้ายวน ร่วมกับเสน่ห์เฉพาะตัวของนางแบบและนายแบบ
สอดคล้องที่กับที่ศิลปินย้ำว่า บรรยากาศและอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญในงานภาพถ่ายของเขามากกว่าเทคนิคการถ่ายภาพ และบรรยากาศในห้องสีแดงห้องสุดท้ายของนิทรรศการแห่งนี้ก็สะท้อนสุนทรียะในการนำเสนองานศิลปะของเขาได้ชัดเจน
ภาพถ่ายเบื้องหลังงานภาพยนตร์จึงไม่เพียงทำหน้าที่เป็น “สื่อกลาง” ให้ผู้ชมได้ทำความรู้จัก หรือทำความเข้าใจภาพของฮ่องกงในเฟรมหนังที่คุ้นเคย แต่สำหรับคนไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ ภาพถ่ายเบื้องหลังกองถ่ายของเขายังสามารถสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกและอาจจะกระตุ้นให้คุณอยากตามตัวละครจากเฟรมภาพนิ่งไปสู่เรื่องราวของพวกเขาที่โลดแล่นบนจออย่างเต็มเรื่องได้เช่นกัน…นี่แหละเสน่ห์ของภาพนิ่งในโลกภาพยนตร์ที่กำลังเคลื่อนไหว
Fact File
• นอกเหนือจากเป็นศิลปินช่างภาพถ่ายภาพนิ่งแล้ว Wing Shya ยังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ มีผลงานเด่นเป็นภาพยนตร์ภาคต่อ 2 เรื่องในปี 2010-2011 ได้แก่ Hot Summer Days และ Love in Space รวมทั้งมีงานภาพถ่ายแฟชั่น งานภาพยนตร์โฆษณา งานมิวสิควิดีโอ ภาพยนตร์สั้นสำหรับแคมเปญของแฟชั่นไฮแบรนด์ระดับโลกอีกมากมาย ติดตามผลงานอื่นๆของเขาได้ทางเวบไซต์ www.wingshya.com
• HOP หรือ Hub Of Photography’ HOP PHOTO GALLERY เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับงานด้านภาพถ่าย มีทั้งห้องจัดแสดงนิทรรศการ พื้นที่แลกเปลี่ยนสำหรับผู้สนใจงานศิลปะสร้างสรรค์เกี่ยวกับภาพถ่าย และยังเป็นแหล่งแฮงค์เอาท์ในย่านศรีนครินทร์ ทุกคนที่สนใจได้ลองเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเล่าเรื่องทางภาพ ผ่านหลากหลาย กิจกรรมที่จะจัดขึ้นหมุนเวียนไปตลอดปี
โฆษณา