31 ม.ค. 2023 เวลา 09:01 • สิ่งแวดล้อม

แม่น้ำท่าว้า จากที่เคยเสื่อมโทรม เกิดการพัฒนาจนสะอาดจนมีหิ่งห้อยให้ชม

29 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก วัดสังขจายเถร ต.สวนแตง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรีว่า นายอุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( นายวราวุธ ศิลปอาชา ) ลงพื้นที่พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.สุพรรณบุรี สำรวจแหล่งชมหิ่งห้อยใหม่ บริเวณแม่น้ำท่าว้า
สำหรับแม่น้ำท่าว้า เดิมมีปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสีย เนื่องจากมีผู้ประกอบการในพื้นที่ ต.ท่าเสด็จ ทำฟาร์มสุกร ซึ่งขยายตัวมากขึ้นในช่วง 10 ปีหลัง ฟาร์มส่วนใหญ่ขาดการจัดการที่ดี มีการปล่อยสิ่งปฏิกูล มูลสุกร น้ำเสียลงแม่น้ำ ทำให้แม่น้ำเน่าเหม็น จนเมื่อปี 2562 หลังพรรคชาติไทยพัฒนา ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่สุพรรณบุรียกจังหวัด
และนายวราวุธ ศิลปอาชา ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการนำโครงการ งบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาจัดการปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งโดยการเข้าไปให้ความรู้ การปรับปรุงระบบการจัดการฟาร์มให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงความสะอาดและสิ่งแวดล้อม และมีการนำเทคโนโลยีบ่มมูลสุกรให้เปลี่ยนเป็นแก๊ซ ใช้แทนพลังงานให้ความร้อน ซึ่งทำให้มูลสุกรมีมูลค่า
โดยปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังมีการเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้สภาพแม่น้ำท่าว้า จากที่เคยเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น รบกวนประชาชนในพื้นที่ ขณะนี้แม่น้ำท่าว้าได้กลับมาสะอาดอีกครั้ง จนถึงขั้นมีหิ่งห้อยแพร่พันธุ์ บริเวณสองฝั่งลำน้ำ
นายอุดม โปร่งฟ้า กล่าวว่า การพลิกลำน้ำท่าว้า ที่เคยมีปัญหาน้ำเน่าเสีย ให้กลับมาใสสะอาด จนถึงขั้นที่วันนี้ มีหิ่งห้อยมาแพร่พันธุ์และอาศัย ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของความทุ่มเททำงาน ของผู้หลักผู้ใหญ่ และความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกคนใน จ.สุพรรณบุรี
โดยหิ่งห้อยที่นี่ ตั้งแต่ค้นพบมา ต้องบอกว่า มีจำนวนมาก เห็นได้ง่าย และมีความสวยงาม เนื่องจากสภาพสังคมโดยรอบ เป็นที่อยู่อาศัย ที่ไม่หนาแน่น ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ 2 ลำน้ำ ยังมีมาก ทำให้สภาพแวดล้อมเหมาะแก่การอยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของหิ่งห้อย การปรากฏขึ้นของหิ่งห้อยในบริเวณนี้ ก็บ่งบอกถึงความสะอาดของน้ำในแม่น้ำด้วย
ตนเห็นว่า เป็นโอกาสที่ดี หากจะพัฒนาลำน้ำท่าว้า ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีจุดชมหิ่งห้อยเป็นไฮไลท์สำคัญ โดยตั้ง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นต้นแบบ ที่เราจะเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้ โดยยอดนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวชม จับจ่ายใช้สอยที่อัมพวา มีตัวเลขประมาณราวปีละ 1 ล้านคน
แม่น้ำท่าว้า เราคงขอไม่มาก แค่ได้นักท่องเที่ยวแค่ 10% ของที่อัมพวา คือปีละแสนคน ก็เชื่อว่าจะสามารถดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว มากระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเป็นจำนวนที่จะไม่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ ไม่รบกวนถิ่นที่อยู่หิ่งห้อยจนเกินไปด้วย เชื่อว่าจะยั่งยืนได้มากกว่า
โฟกัสทุกความเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจและอัดแน่นไปด้วยสาระ 
ที่ TopNewsFocus เลือกสรรมาให้คุณเติมอาหารสมองกันได้ทุกวัน
ติดตาม Topnewsfocus ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา