1 ก.พ. 2023 เวลา 09:16 • สิ่งแวดล้อม

แพรกหนามแดง จากวิกฤติสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ตำบลแพรกหนามแดง เป็นตำบลหนึ่งของอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามมีแม่น้ำแม่กลองเป็นสายน้ำหลักและมีลำคลองสาขากว่า 300 คลอง ประกอบด้วยพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน 3 พื้นที่ คือ พื้นที่น้ำจืด พื้นที่น้ำกร่อย และพื้นที่น้ำเค็ม ประชาชนมีอาชีพเกษตรกรรมและประมง ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับสภาพพื้นที่น้ำ
ต่อมาด้วยนโยบายของรัฐ มีการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ที่จังหวัดกาญจนบุรีที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ทำให้น้ำจืดจากต้นน้ำไหลเข้าสู่พื้นที่แพรกหนามแดงน้อยลง น้ำเค็มจึงรุกเข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ทำนา สวนผัก และเลี้ยงปลาสลิด ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของกรมชลประทานที่เป็นหน่วยงานนอกพื้นที่ไม่ได้รับรู้ถึงวิถึชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนนี่เองที่ได้ไปก่อสร้างประตูกั้น น้ำเค็มทำให้เกิดการแยกสายน้ำและวิถึชีวิตชุมชนแพรกหนามแดงออกจากกันเป็น วิถึชีวิตน้ำจืด และวิถึชีวิตน้ำเค็ม
ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่น้ำต่างคนต่างอยู่ไม่มีความสัมพันธ์กันแบบสมัยก่อน เนื่องก็เพราะผลประโยชน์จากอาชีพที่ขัดแย้งกัน
ความขัดแย้งของชาวบ้านในการแย่งทรัพยากรน้ำี่เกิดขึ้นเป็นเวลาถึง 20ปี โดยตัวปัญหาก็คือการเปิดปิดประตูน้ำนี่เอง ในฝั่งน้ำจืดเมื่อประตูปิดตายทำให้น้ำไม่ไหลเวียนเกิดการเน่าเสียและมีการ สะสมของตะกอนดินที่หน้าประูตูกั้นน้ำ
เวลาหน้าน้ำหรือเมื่อเขื่อนปล่อยน้ำลงมาจะทำให้น้ำท่วมนาข้าว บ่อปลาสลิด สวนผัก ชาวบ้านในฝั่งนี้จึงไปเปิดประตูเพื่อระบายน้ำออก ผลจากการที่เปิดประตูระบายน้ำทำให้น้ำจืดไหลทะลักเข้าสู่ส่วนน้ำเค็ม เมื่อชาวบ้านฝั่งน้ำเค็มสูบน้ำเข้าบ่อกุ้งก็ทำให้กุ้งทะเลที่เลี้ยงไว้พากัน ตายหมด
นี่คือสาเหตุของความขัดแย้ง!!!!!!!!
สำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ให้หลักยุทธศาสตร์ทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาวิกฤติแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน ดังมีรายละเอียดดังนี้
เริ่มจากการที่ปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้นำชุมชนได้ชักชวนชาวบ้านทั้งสองฝ่ายมา คุยกันถึงเรื่องปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านทั้งสองฝ่ายได้รับรู้และเข้าใจถึงปัญหาของชาวบ้านอีกฝ่ายหนึ่ง จากนั้นก็แสดงความจริงใจที่จะร่วมกันหาทางออก เพื่อลดความขัดแย้งดังกล่าว
โดยยึดหลักที่ว่า ร่วมกันคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมกันทำ ร่วมกันตรวจสอบ ร่วมกันรับผลประโยชน์หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา
จากการพูดคุยกันหลายครั้งชาวบ้านทั้งสองฝั่งจึงร่วมกันศึกษาโดยแยกประเด็นดังนี้
1. ศึกษาความเป็นมาของปัญหาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
2. ศึกษาพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำแม่กลองตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
3. ศึกษาการไหลขึ้นลงของน้ำเค็มและน้ำจืดในพื้นที่
เมื่อชาวบ้านทั้งสองฝั่งพบว่าประตูน้ำที่กรมชลประทานมาสร้างไว้นี่แหละคือ ตัวปัญหาจึงได้ร่วมกันระดมความคิดและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อคิดค้นและออกแบบประตู กั้นน้ำกันใหม่ โดยชาวบ้านได้ติดต่อ สกว. เพื่อสนับสนุนงบประมาณ
เมื่อชาวชุมชนได้นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ก็ค้นพบประตูระบายน้ำแบบใหม่ที่เหมาะสมและแก้ปัญหาของเขาเหล่านั้นได้
การแก้ปัญหาของชาวชุมชนโดยการใช้ยุทธศาสตร์ทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาวิกฤติ น้ำอย่างยั่งยืน จะส่งผลให้ชาวชุมชนเกิดการพัฒนาทางด้านทักษะทางความคิด ทักษะการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลจนสามารถนำเสนอต่อผู้สนับสนุนได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่จะถ่ายทอดต่อบุคคลอื่นต่อได้
ที่สำคัญจะทำให้เกิดความรักสามัคคีกันของชาวชุมชน และเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต
โฆษณา