7 ก.พ. 2023 เวลา 23:00 • ธุรกิจ

Logic Mapping เครื่องมือช่วยแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน (A complex problem)

หากเราตั้งคำถามกับคน 100 คนว่า “คุณมีความรู้สึกอย่างไรกับคำว่า “ปัญหา”? เชื่อว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งน่าจะได้คำตอบไปในทางลบ และมีความรู้สึกว่าปัญหาเป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ที่จะต้องคิดหาวิธีไปแก้ไขไปจัดการ แต่ในทางตรงกันข้ามคำว่า “ปัญหา” กลับเป็นสิ่งที่มนุษย์เราต้องพบเจออยู่เสมอ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกลบหรือบวกกับมันก็ตาม…
บทความหนึ่งของ Dr. Hazel Bradshaw ซึ่งเป็นนักคิดและนักเขียน ที่เชี่ยวชาญในด้านการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้คิดค้นโมเดลในการจัดการกับปัญหาที่มีความซับซ้อน ได้เขียนถึงประเด็นเรื่อง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันว่า… มีความซับซ้อนมากขึ้น (Complexity) ซึ่งเป็นความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในหลายระดับของการใช้ชีวิต ตั้งแต่ความซับซ้อนในโลกกายภาพ ในโลกดิจิทัล ในโลกการดำเนินธุรกิจ ในด้านเศรษฐกิจ ในด้านสังคม ไปจนถึงความซับซ้อนในด้านสิ่งแวดล้อม
และปัญหาหนึ่งที่มักพบเจอคือ คนจำนวนมากขาดทักษะในการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex problem solving skill) ซึ่ง Dr. Hazel ได้เสนอเครื่องมือหนึ่งที่ชื่อว่า Logic mapping ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยคลี่ปัญหาที่ซับซ้อนและทับซ้อนให้คลายออก ให้เห็นภาพรวมของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญของ Logic Mapping คือ การเคลียร์ “ความเชื่อมโยง” ของความสัมพันธ์ของสาเหตุปัญหาแต่ละตัว ซึ่งจะมองแค่เพียงตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องมองในภาพรวมหรือองค์รวมของทั้งระบบที่มีความเกี่ยวข้องกัน หรือมีอิทธิพลต่อกัน
ฉะนั้น เครื่องมือ Logic Mapping จึงไม่ได้เป็นเครื่องมือที่มองออกจากมุมของผู้ตั้งปัญหาแต่เพียงอย่างเดียว แต่มองผ่านมุมมองและประสบการณ์ของกลุ่มเป้าหมายด้วย (audience experiences) ทั้งในแง่ของความต้องการ แรงจูงใจ และ pain point ที่เกิดขึ้น // หากพูดถึงในแง่ขององค์กร เครื่องมือ Logic Mapping สามารถเข้าไปช่วยในหลายแง่มุม ตั้งแต่การช่วยให้องค์กรมองเห็นปัญหาและเห็นปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร ช่วยในเรื่องการวางแผน ร่วมถึงความสามารถในการตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาได้อย่างตอบโจทย์
ซึ่งเครื่องมือตัวนี้จะมีกระบวนการ 6 ขั้นตอนสำคัญในการเข้าไปแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน ได้แก่
1. ระบุปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem) – เริ่มต้นด้วยการระบุปัญหาที่มีความซับซ้อนนั้นๆ ที่คุณกำลังเผชิญอยู่ เช่น การเข้ามาของธุรกิจใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายและลูกค้าที่หายไป
2. ระบุเป้าหมายที่ครอบคลุม (Overarching Goal) – ขั้นนี้คุณต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร ซึ่งเป้าหมายนี้จะใช้เป็นกรอบทิศทางในการมุ่งไป เช่น เป้าหมายคือการกระตุ้นยอดขายและเพิ่มแนวทางใหม่ๆ ในธุรกิจ
3. ระบุประเภทของกลุ่มเป้าหมาย (Audience Types) – คือ การระบุผู้ที่ได้รับผลกระทบโดนตรงจากปัญหาที่มีความซับซ้อนนี้ เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายแผนธุรกิจ หรือหุ้นส่วนทางธุรกิจของเรา เป็นต้น
ซึ่งในขั้นนี้เราต้องลงไปทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มด้วยว่า “อะไรคือตัวกระตุ้นหรือแรงจูงใจที่ทำให้พวกเขาอยากเข้ามามีส่วนร่วมในแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนนี้” ซึ่งแรงจูงใจนี้ ควรหาให้เจอทั้งแรงจูงใจภายใน (เช่น เชื่อมโยงกับคุณค่า ค่านิยม หรือจุดมุ่งหมายส่วนตนของคนผู้นั้น) และแรงจูงใจภายนอก (มักเกิดจากการนำสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้นให้บุคคลเกิดพฤติกรรมต่างๆ เช่น ความสำเร็จในงาน การให้รางวัลจูงใจ หรือการแข่งขัน เป็นต้น)
4. Pain-points หรือที่มาของปัญหา (Problem statements) – คือ การเข้าไประบุ Pain-points หรือที่มาของปัญหา ของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม โดยควรเชื่อมโยงไปถึงแรงจูงใจหรือตัวกระตุ้นให้เขาอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับปัญหาที่ซับซ้อนนี้
5. ข้อจำกัด (Constraints) – การระบุข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการแก้ไข Pain-points หรือที่มาของปัญหานั้นๆ สิ่งข้อจำกัดนี้อาจใหญ่ถึงเรื่องอุปสรรคทางกฏหมาย หรือข้อจำกัดเรื่องเวลา ข้อจำกันด้านทรัพยากร หรือข้อจำกัดเรื่องคน เป็นต้น
6. แนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้น (Emerging Concepts) – สุดท้ายคือการลิสต์แนวทางที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา อาจเป็นการเข้าไปแก้ที่กระบวนการทำงาน หรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ไปเลย หรืออาจจะเป็นการแค่การลดหรือเพิ่มขั้นตอน 1 อย่าง ก็อาจเป็นได้
ฉะนั้น ในขั้นสุดท้ายนี้ แนวคิดใดก็ตามหรือข้อเสนอใดที่เกิดขึ้น คุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อสันนิษฐานนั้นๆ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเชื่อมโยงกับแรงจูงใจของกลุ่มเป้าหมาย มิฉะนั้น จะกลายเป็นว่าคุณคิดวิธีแก้ปัญหาขึ้นมาจากตนเองและสุดท้ายจบลงที่ไม่มีใครอยากใช้
สุดท้ายนี้ การแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน อาจไม่สามารถใช้แนวคิดแบบเดิม ๆ หรือใช้มายเซตเดิมว่าตัวเองรู้อยู่แล้วว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร (เพราะเคยผ่านมา) ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง การพัฒนาทักษะคนในองค์กรให้มีวิธีคิดหรือมีเครื่องมือ ก็เป็นสิ่งที่แนะนำ
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.
โฆษณา