Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
DR. PIPAT
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
2 ก.พ. 2023 เวลา 10:00 • สิ่งแวดล้อม
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ PM 2.5 : ฝ่าวิกฤตฝุ่นด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นที่รู้จักของสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และประชาชนเริ่มตระหนักรู้ถึงโทษและอันตรายของเจ้าฝุ่นนี้ต่อสุขภาพมากขึ้น ปีนี้เราเห็นว่าเจ้าฝุ่นเริ่มกลับมาอีกแล้ว และคาดกันได้ว่าปัญหานี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายปี ต้นปีหน้า และปีต่อๆ ไป ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจัง
ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ในประเด็นเศรษฐศาสตร์แล้ว จะแนบลิงก์ไว้ที่ท้ายโพสต์ครับ
แม้ปัญหานี้อาจอยู่คู่กับเรามานานแล้ว แต่ความตระหนักรู้ในช่วงหลังๆ ทำให้เราทราบถึงสาเหตุ โทษ และมีความระมัดระวังกับปัญหานี้มากขึ้น และมีข้อมูลให้เราติดตามปัญหานี้กันมากขึ้น
2
แต่ดูเหมือนว่าหลายครั้งบทบาทของรัฐจะออกไปในทางปฏิเสธปัญหา (เช่น ออกมายืนยันว่าปัญหายังไม่วิกฤต) จนคนเริ่มระแวงว่าควรฟังข้อมูลจากรัฐดีหรือไม่ และไปติดตามข้อมูลจากแหล่งเอกชนที่เร็วกว่าและน่าเชื่อถือมากกว่า
1
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าเราจะยังไม่มีทางออกที่เป็นรูปธรรมในการจัดการปัญหานี้แบบยั่งยืน นอกจากไอเดียการสร้างหอกรองฝุ่น ซึ่งคงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาสภาพอากาศแบบเปิดได้มากนัก เพราะทันทีที่เรากรองฝุ่นเสร็จ ฝุ่นในมวลอากาศปริมาณมหาศาลจะพัดเข้ามาแทนที่แทบจะทันที ไม่ต่างจากการเปิดแอร์ในสนามฟุตบอลขนาดใหญ่
ขอลองชวนคุยกันหน่อยครับว่า ถ้าเราเชื่อว่าประชาชนทั่วไปควรมีสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาด ในขณะที่คนที่ก่อมลพิษก็เชื่อว่าตนเองมีสิทธิในการใช้อากาศเป็นที่ปล่อยมลพิษ และเราอาจไม่สามารถห้ามการปล่อยมลพิษโดยสิ้นเชิงได้ เพราะมันคงมีต้นทุนต่อสังคมที่แพงเกินไป (เราคงไปห้ามรถยนต์วิ่ง ห้ามเกษตรกรเผาเศษพืช ห้ามไฟป่า ห้ามโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยควันพิษโดยเด็ดขาดไม่ได้) คำถามคือ แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เราทำอะไรกับมันได้บ้าง และจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไรดี
1
ผมขอแบ่งเป็นออกเป็นสามประเด็นครับ คือสาเหตุ ความสำคัญของปัจจัยสภาพอากาศ และแนวทางการแก้ไข
●
สาเหตุของฝุ่น
มีการศึกษาจำนวนมากที่วิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ทั้งที่ทำโดยกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานอื่นๆ แต่พอจะสรุปได้ว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีที่มาสามแหล่งใหญ่ๆ คือ หนึ่ง การเผาชีวภาพในที่โล่ง เช่นการเผาป่า เผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว เผาซังข้าว และการเผาอื่นๆ
2
สอง คือการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ทั้งรถยนต์ รถโดยสาร รถบรรทุก โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล
4
และสาม คือการเผาไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน
1
1
เพราะฝุ่นสามารถพัดกระจายไปได้ในระยะทางไกลๆ ในบางครั้งต้นเหตุของปัญหาก็มาจากแหล่งอื่น หรือแม้กระทั่งข้ามพรมแดน เช่นไฟป่า หรือการเผาทางการเกษตรที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การแก้ปัญหามีความละเอียดอ่อนและยากขึ้น
1
ในแต่ละช่วงเวลาของปี ความสำคัญของแหล่งที่มาของฝุ่นอาจต่างกันไป เช่น ในช่วงเก็บเกี่ยวอ้อย ฝุ่นอาจมาจากการเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวมากกว่าแหล่งอื่นๆ ในขณะที่ฝุ่นจากรถยนต์และการขนส่งเกิดขึ้นสม่ำเสมอตลอดทั้งปี
แต่สังเกตว่าปัญหาฝุ่นไม่ได้เป็นปัญหามากนักในช่วงส่วนใหญ่ของปี แปลว่าต้องมีเงื่อนไขอื่นที่ทำให้มันกลายเป็นปัญหา
2
●
สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญ
หลายคนอาจบอกว่า ไฟป่า และการเผาทางการเกษตรเกิดขึ้นกันมาเป็นร้อยปีแล้ว และมีการเผากันอยู่แล้วทั้งปี แต่ไม่เคยเป็นปัญหา ทำไมจึงเป็นปัญหาขึ้นมาในช่วงหลังนี้ และเป็นปัญหาใหญ่แค่บางช่วงเวลาของปี
ขณะเดียวกัน เราจะสังเกตได้ว่าในช่วงฤดูฝน ฝุ่นมักจะไม่ค่อยเป็นปัญหาใหญ่ แม้จะมีการเผา การปล่อยมลพิษจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมกันเป็นปกติ นั่นเป็นเพราะมีฝนมาช่วยลดปริมาณฝุ่น และเป็นช่วงที่มีลมพัดเข้าออกอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลค่าเฉลี่ยรายวันของระดับฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพ ในแต่ละเดือน (ข้อมูลปี 2016-2019) | ที่มา ผู้เขียน, ข้อมูลจาก Berkeley Earth (http://berkeleyearth.lbl.gov/air-quality/local/Thailand/Bangkok/Bangkok)
ในทางกลับกัน ปัญหาฝุ่นมักจะรุนแรงมากขึ้นในฤดูหนาว ในช่วงที่มีความกดดันอากาศสูง อากาศนิ่ง และสภาพภูมิประเทศภาคกลางที่เหมือนกับแอ่งกะทะ ทำให้ฝุ่นวนค้างอยู่ในพื้นที่ไม่ไปไหน ที่สำคัญคือฝุ่นมักหนาแน่นขึ้นในช่วงเย็นและค่ำ โดยน่าจะเป็นผลมาจากการสะสมฝุ่นที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน จนมีความหนาแน่นขึ้นเมื่ออากาศเย็นลง ก่อนจะกลับมาดีขึ้นในช่วงเช้า นั่นแปลว่า สภาพอากาศเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ปัญหาฝุ่นทวีความรุนแรงขึ้น
2
ด้วยวิวัฒนาการด้านการพยากรณ์อากาศ เราน่าจะพอทราบกันดีแล้วว่าสภาพอากาศแบบใดจะทำให้เรื่องฝุ่นกลายมาเป็นปัญหา และน่าจะพยากรณ์ได้ด้วยความแม่นยำว่าสภาพอากาศช่วงใดที่เอื้อให้ปัญหาฝุ่นกลายเป็นภาวะวิกฤต และเราน่าจะพอมีข้อมูลเพียงพอว่าช่วงใดฝุ่นที่มีที่มาจากต่างประเทศจะกลายเป็นฝุ่นส่วนใหญ่ของเรา
1
●
แล้วเราควรจะแก้ไขปัญหาฝุ่นอย่างไรดี
ผมคิดว่าคงไม่มีทางที่จะกำจัดต้นเหตุของฝุ่นได้ทั้งหมด ตราบเท่าที่เรายังมีความจำเป็นต้องเผา ต้องขับรถ ต้องมีโรงงานที่ปล่อยควันและฝุ่นละอองออกมา หรือถ้าทำได้ ต้นทุนในการกำจัดฝุ่นให้หมดไปก็คงสูงมาก แต่ผมคิดว่าทางที่เป็นไปได้ คือการลดปริมาณฝุ่นให้ได้มากที่สุด หาวิธีประสานงานและ ‘บริหารจัดการต้นเหตุของฝุ่น’ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีเงื่อนไขที่ทำให้สภาพอากาศแย่ลง
ในช่วงเวลาดังกล่าว ‘ต้นทุนส่วนเพิ่มทางสังคม’ หรือ Marginal Social Cost ของการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น จะสูงขึ้นมาก เทียบกับช่วงเวลาที่สภาพอากาศเปิด เราจึงต้องพยายามหาทางร่วมมือ หรือแม้แต่ห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นในช่วงนั้น (หรือถ้าห้ามไม่ได้ ก็ต้องปรับให้หนัก จนมีแรงจูงใจให้น้อยลง)
1
ผมคิดว่า เราต้องการการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ในสามเรื่องใหญ่ๆ คือ
หนึ่ง ก่อนจะดำเนินการแก้ปัญหา เราควรต้องเข้าใจถึงสาเหตุที่มีการเผาชีวภาพ ที่ดูเหมือนเป็นต้นเหตุของปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของปัญหาฝุ่นในบ้านเรา เช่น เหตุใดจึงต้องเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว (ค่าแรงในการเก็บเกี่ยวอ้อยเผา ถูกกว่าการเก็บเกี่ยวอ้อยยังไม่เผา) เราจะสร้างโครงสร้างแรงจูงใจอย่างไรเพื่อลดการเผา (ราคาอ้อยที่เผาแล้ว ควรถูกทำโทษมากขึ้น เพื่อลดแรงจูงใจในการเผา?)
1
และสนับสนุนทางเลือกที่ไม่ต้องเผา (ใช้รถเก็บเกี่ยวแทนการเผาและใช้แรงงานคน ซึ่งต้องมีการวางแผน และปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก)
1
ปัจจัยที่ว่ามา อาจทำให้รัฐใช้เงินภาษีเข้าไปอุดหนุนให้มีการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเพื่อลดการเผา เพราะต้นทุนในการอุดหนุนเพื่อลดปัญหาฝุ่น อาจจะน้อยกว่าต้นทุนทางสุขภาพ หรือต้นทุนที่ผู้บริโภคต้องไปซื้อเครื่องกกรองอากาศหรือหน้ากากกันฝุ่นเป็นไหนๆ
แล้วถ้าปัญหาคือการเผาป่า ทำอย่างไรจึงจะลดแรงจูงใจในการเผาป่า สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับคนในพื้นที่ ถึงโทษของการเผาป่า และมีการกำหนดโทษและบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม และเมื่อมีไฟป่าเกิดขึ้น จะทำอย่างไรที่จะดับไฟป่าให้เร็วที่สุด (เอางบซื้อรถถังรถเกราะไปซื้อเครื่องบินดับไฟป่าดีกว่าไหม?)
หรือเราควรจัดการกับส่วนเหลือจากการเกษตร เช่น ซังข้าว เศษวัชพืช อย่างไร โดยไม่ต้องเผาหรือให้การเผาให้น้อยที่สุด
2
สอง เราควรมีการบังคับใช้ระเบียบและกฎหมาย เรื่องมาตรฐานการปล่อยมลพิษและฝุ่นละอองอย่างเข้มงวด กับรถยนต์ (เช่นการตรวจประจำปี) และโรงงานอุตสาหกรรม (ที่ควรมีการตรวจระดับมลพิษอย่างสม่ำเสมอ) เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่เกิดในเมืองให้เหลือน้อยที่สุด
1
และ สาม ถ้าเราไม่สามารถกำจัดการเผา และการปล่อยฝุ่นละอองไปได้ทั้งหมด (เช่น เราห้ามเกษตรไม่ให้เผาเลยไม่ได้ เพราะต้นทุนเขาจะแพงเกินไป และเราห้ามโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ไม่ให้ปล่อยมลพิษโดยเด็ดขาดไม่ได้) เราควรต้องการบริหารจัดการการเผา และต้นเหตุฝุ่นอย่างมีเหตุมีผล และเข้มงวด เช่น ถ้าเรารู้หรือสามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำว่า
สภาพอากาศในอีกหนึ่งหรือสองวันข้างหน้าจะนิ่ง และจะทำให้ฝุ่นค้างอยู่ในพื้นที่นานกว่าปกติ การปล่อยมลพิษในเวลานั้นจะมีต้นทุนส่วนเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นมาก ในแต่ละพื้นที่ต้องสามารถสั่งห้ามไม่ให้มีการเผาในพื้นที่โดยเด็ดขาด หรือสั่งห้ามรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเข้าพื้นที่ในบ้างช่วงเวลา ถ้าใครฝ่าฝืน ต้องมีการลงโทษปรับอย่างหนัก
แต่ถ้าเรารู้ว่า ช่วงเวลาถัดจากนี้ลมจะพัดดี หรือคาดว่าฝนจะตกในพื้นที่ การเผาเพื่อกำจัดเศษวัชพืชคงไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหามากนัก เราอาจบริหารจัดการให้มีการเผาอย่างเหมาะสม (เช่น สลับพื้นที่กันเผา) เพื่อไม่ให้สร้างปัญหามากจนเกินไป ดีกว่าปล่อยให้มีการเผาอย่างไม่บริหารจัดการ จนเกินความสามารถของพื้นที่ในการรับฝุ่น
ทั้งนี้ เราอาจต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจถึงต้นเหตุ สภาพปัญหา และความตระหนักรู้ว่ากิจกรรมที่ทำกันง่ายๆ เช่น การเผาในที่โล่ง ก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคมได้มากขนาดไหน โดยเฉพาะในวันที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย
เราอาจต้องสร้างระบบเตือนภัยทางอากาศ เช่น ใช้สีเขียวแทนสภาพปกติ การเผาที่จำเป็นสามารถทำได้ สีเหลืองคือเริ่มอันตราย ควรขอความร่วมมือในการลดการเผาลง และสีแดง คือห้ามเผาในที่โล่งในพื้นที่ใกล้เคียงโดยเด็ดขาด หรือห้ามรถเข้าในพื้นที่
1
ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เราสามารถตรวจจับพื้นที่ที่มีการเผาไหม้ได้เกือบจะในทันที เพื่อทำการบริหารจัดการ และดับไฟถ้าจำเป็น ใครสนใจลองไปเวบไซต์ของ NASA ได้ครับ
แผนที่แสดงให้เห็นจุดที่มีไฟไหม้ ระหว่างวันที่ 1-7ธันวาคม 2561 | ที่มา https://firms.modaps.eosdis.nasa.gov/map/#z:5;c:108.2,13.8;
การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้ของปัญหา ทั้งเรื่องต้นเหตุและปัจจัยสนับสนุน มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด สามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ และมีความสามารถในการบริหารจัดการต้นเหตุของปัญหา การประสานงานในการประชาสัมพันธ์ และจัดลำดับความสำคัญได้อย่างเหมาะสม
อีกปัญหาที่อาจแก้ได้ยาก คือต้นเหตุฝุ่นที่มาจากต่างประเทศ เช่น ไฟไหม้ป่าในอินโดนีเซีย ที่ส่งผลถึงอากาศในสิงคโปร์ และภาคใต้ของประเทศไทย ฝุ่นจากการเผาในพม่าและกัมพูชาที่ทำให้พื้นที่บางส่วนของไทยได้รับผลกระทบเช่นกัน เรื่องนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการควบคุม ดูแล สร้างแรงจูงใจในการห้ามและงดการเผา รวมถึงการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ
แต่ก็คงไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะถ้าเรายังไม่สามารถหาระบบในการบริหารจัดการต้นเหตุของฝุ่นในบ้านเราได้อย่างเป็นรูปธรรม
บทความนี้ผมเขียนไว้ตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2019 เป็นบทความที่ Recycle ได้ทุกปี เรื่องฝุ่นเป็นปัญหารุนแรงและสำคัญ แต่มาแล้วหายไปเป็นช่วงๆ ทำให้ความพยายามแก้ไขปัญหาไม่ต่อเนื่องเสียที น่าเป็นประเด็นที่ถามนักการเมืองช่วงนี้นะครับ ว่าจะแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนอย่างไร....
1
อ่านเพิ่มเติม
the101.world
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ PM 2.5 : ฝ่าวิกฤตฝุ่นด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เขียนถึงต้นตอของวิกฤตฝุ่น PM 2.5 พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม บนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์
วิกฤตฝุ่นในมุมเศรษฐศาสตร์ : สิทธิในอากาศสะอาดควรเป็นของประชาชน อ่านได้ที่...
อ่านเพิ่มเติม
the101.world
วิกฤตฝุ่นในมุมเศรษฐศาสตร์ : สิทธิในอากาศสะอาดควรเป็นของประชาชน
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย มองวิกฤตฝุ่นในมุมเศรษฐศาสตร์ และชี้ทางออกให้สิทธิในอากาศสะอาดเป็นของประชาชน รวมถึงทำให้การผลิตและบริโภคต้องคำนึงถึงต้นทุนมลพิษต่อสังคม
ฝุ่นpm
มลภาวะ
สิ่งแวดล้อม
48 บันทึก
59
3
114
48
59
3
114
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย