2 ก.พ. 2023 เวลา 11:24 • การศึกษา
ผมชอบบทความนี้
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กุมภาพันธ์ 2562
คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
ผู้เขียน หนุ่มเมืองจันท์
เผยแพร่ วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2562
วันก่อน ผมจัดชั้นหนังสือ เจอหนังสือเก่าเรื่อง The Last Lecture ที่เคยเป็นหนังสือขายดีเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน
1
ในเล่มมีรอยพับ รอยขีดของผมเต็มเล่ม
แบบนี้แสดงว่า “หนังสือดี”
1
หยิบมาพลิกอ่านอีกครั้งก็ได้ความรู้สึกดีเช่นเดิม
เผลอแป๊บเดียวจบเล่มเลยครับ
หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของ “แรนดี้ เพาช์” ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน
เขาเป็นโรคมะเร็งในตับอ่อนระยะสุดท้าย
หมอบอกว่าเขาจะมีชีวิตในโลกนี้อีกไม่นาน
“เพาช์” มีภรรยาและลูกเล็กๆ อีก 3 คน
เขาเลือกที่จะเผชิญหน้ากับ “ความตาย” อย่างมีความสุข
จัดการทุกอย่างแบบไม่ตีโพยตีพาย
และหนึ่งในภารกิจสุดท้ายที่ “เพาช์” เลือกคือ การบรรยาย
มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะมีการบรรยายหัวข้อหนึ่งชื่อว่า The Last Lecture
ศาสตราจารย์ทุกคนจะได้รับเชิญมาปาฐกถาโดยขอให้ครุ่นคิดถึงเรื่องความตายของตัวเอง
อะไรที่สิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญที่สุด หรือมีคุณค่าที่สุดในชีวิต
คนอื่นอาจจะต้องจินตนาการ
แต่ “แรนดี้ เพาช์” ไม่ต้อง
เพราะเขากำลังจะตายจริงๆ
เวลาที่เหลือในโลกอันน้อยนิด เขาเลือกที่จะแบ่งปันมาใช้กับการเตรียมตัวปาฐกถาครั้งนี้
“เจ” ภรรยาของเขาไม่เห็นด้วย
เธอต้องการเวลาทั้งหมดที่เหลืออยู่ของ “เพาช์” ให้อยู่กับเธอและลูกๆ
แต่เขาไม่ยอม
“เพาช์” ขอร้อง “เจ” ด้วย 2 เหตุผล
เหตุผลหนึ่ง คือเมื่อสิงโตบาดเจ็บ มันก็ยังอยากคำราม
สนามของเขาคือการบรรยายให้นักศึกษาฟัง
แต่เหตุผลที่สำคัญกว่า คือลูกยังเล็กอยู่ ทุกคนจะไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับ “พ่อ” เลย
การบรรยายครั้งนี้ เขาตั้งใจบรรยายให้ลูกฟังตอนโต
จะได้รู้ว่าพ่อเป็นใคร เป็นคนแบบไหน มองโลกอย่างไร
เขาอาจจะตั้งกล้องอัดคลิปเก็บไว้ก็ได้
แต่ “เนื้อหา” คงไม่น่าเชื่อถือเท่ากับการบรรยายที่มีคนปรบมือ หรือหัวเราะในสิ่งที่พ่อพูด
เขาตั้งชื่อหัวข้อการบรรยายครั้งสุดท้ายของชีวิต
“ทำความฝันวัยเด็กของคุณให้เป็นจริงได้อย่างไร”
1
เรื่องราวที่เขาบรรยายไม่เศร้าเลย
สนุกและเปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน
มี “คำสอน” มากมายแบบอาจารย์ที่เก่งทั้งความรู้และวิธีการสอน
หัวข้อหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ “คุณจะใช้ชีวิตของคุณอย่างไร”
“เพาช์” บอกว่า “ประสบการณ์” คือสิ่งที่คุณได้รับเมื่อคุณไม่ได้ในสิ่งที่คุณต้องการ
ในชีวิตของเรา ไม่มีใครชนะทุกครั้ง
ไม่มีใครได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการทุกครั้ง
ทุกคนเคยล้มเหลว
ทุกคนเคยพ่ายแพ้
แต่ทุกครั้งที่ล้มเหลว ไม่ได้ในสิ่งที่คุณต้องการ
สิ่งหนึ่งที่คุณได้รับเสมอ คือ “ประสบการณ์”
“ประสบการณ์” เรียนรู้ในตำราไม่ได้
1
ต้องลงเล่นในสนามจริงเท่านั้น
“เพาช์” ได้หลักคิดนี้จากช่วงที่เขาลาสอนไปทำงานที่บริษัทผลิตวิดีโอเกมแห่งหนึ่ง
“ความล้มเหลวไม่ใช่เป็นแค่สิ่งที่ควรยอมรับ แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเผชิญ”
1
เขาบอกว่า ทุกครั้งที่วิ่งปะทะกำแพง หรือชนกับความผิดหวังต้องเผชิญกับมันให้ได้
1
เมื่อกลับมาสอนวิชา “การสร้างโลกเสมือนจริง” เขาสนับสนุนให้นักศึกษาลองทำสิ่งที่ยากๆ โดยไม่ต้องกังวลกับ “ความล้มเหลว”
ปลายภาคเรียน “เพาช์” เตรียมตุ๊กตานกเพนกวิน 1 ตัวเป็นรางวัล
ตั้งชื่อรางวัลว่า “นกเพนกวินตัวแรก”
ผู้ชนะ คือกลุ่มที่กล้าเสี่ยงกับความคิดหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ
แต่ล้มเหลว
รางวัลนี้จึงมอบให้กับ “การล้มเหลวที่สง่างาม”
“เพาช์” เชื่อว่าผู้ที่ได้รางวัลแม้จะล้มเหลวในวันนี้
แต่เขาจะประสบความสำเร็จในอนาคต
ชื่อของรางวัลมาจากเรื่องราวของนกเพนกวินที่จะกระโดดลงไปในน้ำทั้งที่ในน้ำอาจมีสัตว์ที่เป็นอันตรายรอกินเขาอยู่
แม้จะรู้ว่าอันตราย แต่ก็จะมีนกเพนกวินตัวแรกกระโดดลงน้ำเสมอ
เขาสรุปซ้ำอีกครั้งว่า “ประสบการณ์” เป็นสิ่งที่คุณได้รับเมื่อคุณไม่ได้ในสิ่งที่คุณต้องการ
1
และ “ประสบการณ์” จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด
“เมื่อคุณแบ่งปันให้กับผู้อื่น”
1
“แรนดี้ เพาช์” มีคำ 2 คำที่เป็น “หลักคิด” ประจำตัว
“เพาช์” ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ถาวรเร็วกว่าคนอื่น
เมื่อมีคนถามเคล็ดลับของเขา
“เพาช์” พูดเล่นๆ ว่าเรื่องนี้ง่ายมาก ให้โทร.มาหาเขาคืนวันศุกร์ไหนก็ได้ตอนสี่ทุ่ม
“แล้วผมจะบอกคุณ”
ครับ เขากำลังบอกว่าเขาทำงานหนักกว่าคนอื่น
วันศุกร์ที่คนอื่นไปเที่ยว
4 ทุ่มเขายังทำงานอยู่เลย
“เพาช์” บอกว่าคนทั่วไปชอบ “ทางลัด”
“แต่ผมพบว่าเส้นทางลัดที่ดีที่สุด คือเส้นทางที่ยาวไกล”
คำง่ายๆ ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จมี 3 พยางค์
“ทำงานหนัก”
1
อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องการคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียน
ทุกปีจะมีใบสมัครเยอะมาก
มีเด็กสาวคนหนึ่ง แม้จะมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ แต่เกรด คะแนนสอบ และแฟ้มผลงานของเธอไม่ดีพอที่จะผ่านเกณฑ์
“เพาช์” พลิกดูแฟ้มของเธอครั้งสุดท้ายก่อนจะโยนเข้ากอง “ไม่ผ่าน”
ในแฟ้มมีการ์ดขอบคุณใบหนึ่งเขียนด้วยลายมือของเธอ
ไม่ได้ขอบคุณเขา หรือผู้บริหารคนใด
แต่เขียนขอบคุณเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ช่วยนัดหมายให้เธอตอนมาดูมหาวิทยาลัย
เป็นเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจในการคัดเลือก
บังเอิญการ์ดใบนี้อยู่ในแฟ้ม
“เพาช์” บอกกับกรรมการว่าการ์ดใบนี้บอกความเป็นตัวเธอมากกว่าเอกสารทั้งหมดในแฟ้ม
เด็กคนนี้น่าจะได้ “โอกาส”
กรรมการทุกคนเห็นด้วย
“เพาช์” บอกว่า คำ “ขอบคุณ” เป็นคำง่ายๆ ที่ทรงพลังที่สุดที่มนุษย์พึงให้แก่กัน
ครับ ขอบคุณ “แรนดี้ เพาช์”
สำหรับ The Last Lecture ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
แต่เขาคงไม่ได้ยิน
เพราะ 9 เดือนหลังการบรรยายครั้งนี้
“แรนดี้ เพาช์” เสียชีวิต
โฆษณา