2 ก.พ. 2023 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุป 10 ข้อสำคัญจากรายงานเศรษฐกิจ IMF

เป็นประจำทุก 3 เดือนที่ทางสถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จะออกรายงานสภาวะเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ออกมา ซึ่งรายงานนี้ถือเป็นรายงานที่ไม่ควรพลาดเพราะจะทำให้เราเห็นมุมมองทางเศรษฐกิจขององค์กรผู้มีบทบาทสำคัญและมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก
ในบทความนี้ทาง Bnomics จึงได้สรุปประเด็นสำคัญจากรายงานฉบับล่าสุดในเดือนมกราคม ปี 2023 ออกมาให้อ่านกัน 10 ข้อด้วย ดังนี้
1.ในประเด็นแรกที่อยากพูดถึงคือหัวข้อของรายงานฉบับล่าสุด ซึ่งทาง IMF ใช้ชื่อว่า “Inflation Peaking amid Low Growth” ซึ่งแปลเป็นไทยประมาณว่า “จุดสูงสุดของอัตราเงินเฟ้อท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่ต่ำ“
เป็นการสรุปเทรนด์สำคัญที่จะกำหนดกระแสของเศรษฐโลกในยุคต่อไปว่า จะยังเป็นเรื่องของอัตราเงินเฟ้อสูง และสภาวะการเติบโตเศรษฐกิจในระดับต่ำ
2. ซึ่งจากข้อมูลในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศเริ่มมีการปรับลดลงมา โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่การคำนวณราคาของพลังงานและอาหารสดเข้าไปด้วย
2
ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดมาจากความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับตัวลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดจากธนาคารกลางทั่วโลก โดยยังมีการคาดการณ์ว่าประเทศประมาณ 84% จะมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงในปีนี้
แต่อย่างที่บอกไปจากข้อก่อนในเรื่องหัวข้อ แม้เงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงขาลง IMF ก็ยังคาดการณ์ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปโลกในปี 2023 จะยังอยู่ “ระดับค่อนข้างสูง” ที่ระดับ 6.6% อยู่ดี
3. นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มลดลงก็จริง แต่ในส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในหลายประเทศกลับยังไม่ขึ้นถึงจุดสูงสุด
ซึ่งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังปรับตัวสูงขึ้น (หรือในบางประเทศก็คือยังทรงตัวในระดับเกินกรอบเป้าหมาย) ก็มีส่วนสำคัญมาจากการปรับราคาสินค้าและค่าจ้างเพื่อให้ตามทันราคาพลังงาน ราคาโภคภัณฑ์อื่นๆ และราคาอาหารสดที่สูงขึ้นมาก่อน
โดยธนาคารกลางก็จะให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างมาก เพราะเป็นส่วนที่นโยบายการเงินเข้าไปมีอิทธิพลได้มากกว่า ซึ่งถ้าตัวชี้วัดนี้ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับที่น่าพอใจ งานของธนาคารกลางทั่วโลกก็ถือว่ายังไม่จบสิ้น
1
4. ในส่วนของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2023 IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโต 2.9%
ซึ่งถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในรอบ 20 ปีก่อนหน้าการระบาดโควิด (ปี 2000-2019) ที่อยู่ที่ 3.8% ต่อปี
แต่ก็ยังมีข่าวดี เพราะว่าตัวเลข 2.9% ที่ออกมา เป็นการปรับคาดการณ์ปี 2023 ดีขึ้นครั้งแรกในรอบปีจากทาง IMF ก็แสดงนัยยะว่า IMF มองเศรษฐกิจโลกปีนี้จะไม่แย่เท่ากับที่พวกเขาเคยคิดไว้
5. การคาดการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นมานี้ ส่วนสำคัญมาจากการเปิดประเทศของจีน ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิดกันไว้ก่อนหน้านี้
ซึ่งจีนเป็นเศรษฐกิจขนาดอันดับ 2 ของโลก หากจีนสามารถกลับมาสู่ระดับปกติได้อย่างรวดเร็ว ก็จะส่งผลกระจายไปสู่เศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ก็ต้องจับตามองการจัดการของภาครัฐต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งจะยังเป็นตัวแปรสำคัญของเศรษฐกิจจีนในช่วงต่อไป
6. นอกจากนี้ ก็ยังมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจหลายประเทศที่แสดงถึงความยืดหยุ่น (Resilience) ต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐกิจในประเทศภาคพื้นยุโรปที่ปรับตัวกับสถานการณ์ได้ดีกว่าที่คิดกันไว้
ซึ่งเกิดมาจากการปรับตัวทางด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่เข้ามาบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ การปรับตัวทางด้านอุปทานพลังงานที่ดีกว่าที่คาด และอากาศของทวีปยุโรปที่อุ่นกว่าปกติทำให้ราคาพลังงานไม่แพงเกินไป
อย่างไรก็ดี แม้จะดีกว่าที่คาดกันว่าก่อนหน้า การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังอยู่ในระดับต่ำและก็มีความเสี่ยงต่อสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอยู่ โดยเฉพาะ สหราชอาณาจักรที่ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปี 2023 จะหดตัว 0.6% แย่ที่สุดในกลุ่ม G7
7. ในส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค ASEAN-5 ทาง IMF คาดการณ์ว่าจะเติบโตในปี 2023 ได้ 4.3% (ลดลง -0.2% จากครั้งก่อน) ซึ่งเกิดมาจากสภาวะการเติบโตของสภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ต่ำส่งผลต่อภูมิภาคนี้มากกว่าการเปิดประเทศของจีน
และเมื่อดูคาดการณ์ละเอียดลงไปรายประเทศของ ASEAN-5
ไทยเติบโต 3.7% (เท่าเดิมจากครั้งก่อน) อินโดนีเซียเติบโต 4.8% (ลดลง 0.2% จากครั้งก่อน) สิงคโปร์เติบโต 1.5% (ลดลง 0.8% จากครั้งก่อน) มาเลเซียเติบโต 4.4% (เท่าเดิมจากครั้งก่อน) และฟิลิปปินส์เติบโต 5.0% (เท่าเดิมจากครั้งก่อน)
8. ในส่วนของความเสี่ยงด้านลบที่ต้องขับตามองในช่วงถัดไป ประกอบไปด้วย
  • ความเสี่ยงของการฟื้นตัวของจีนที่อาจจะสะดุด
  • สงครามในยูเครนที่อาจจะยกระดับได้อีก
  • ความตึงเครียดในภาวะหนี้สาธารณะ ที่อาจผิดนัดจากดอกเบี้ยทั่วโลกสูง
  • ความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะดื้อไม่ยอมปรับลงในระยะยาว
  • การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงิน และ
  • ปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศ
9.ส่วนด้านปัจจัยบวกประกอบไปด้วย
ความหวังจากความต้องการซื้อที่อัดอั้นในช่วงการแพร่ระบาดที่จะยังกลับมาอยู่ ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และ
ความหวังที่อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลงเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยไม่ต้องขึ้นมาก เพิ่มโอกาส Soft Landing (ที่มีน้อยลงเรื่อยๆ)
10. ท้ายที่สุดทาง IMF ก็แนะนำนโยบายที่จำเป็นเร่งด่วน ควรจะให้ความสำคัญก่อนดังนี้
  • การจัดการปัญหาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่หมัด ซึ่งก็สอดคล้องกับการจัดการความเสี่ยง
  • ควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 อีกต่อไป
  • สร้างเสถียรภาพทางการเงิน อย่างเช่น ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ต้องดูแลให้ดี
  • ฟื้นฟูสถานะหนี้ให้กลับสู่ความยั่งยืน เพื่อการันตีความสามารถใช้จ่ายภาครัฐในอนาคต
  • สนับสนุนกลุ่มคนที่เปราะบาง เนื่องจากเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติมากที่สุด
  • สร้างความแข็งแกร่งทางด้านอุปทาน ให้มีความยืดหยุ่น ลดความกดดันด้านราคา และ
  • สร้างความร่วมมือด้านนโยบายระดับนานาชาติ
ส่วนนี้เป็นการพยายามสรุปย่อออกมาเป็นข้อ ในรายงานฉบับเต็มจะยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละประเด็น และก็มีการพูดถึงประเด็นอีก เช่น ประเทศอินเดีย สถานการณ์ความมีเสถียรภาพการเงินระดับโลก เป็นต้น ซึ่งถ้าใครอยากอ่านเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปอ่านได้ที่แหล่งข้อมูลด้านล่างเลยครับ
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา