3 ก.พ. 2023 เวลา 08:00 • ไลฟ์สไตล์

ไขข้อสงสัย “ปลาเก๋าหยก” เพาะเลี้ยงในไทยถูกกฎหมายหรือไม่?

กำลังเป็นกระแสร้อนแรงในโลกออนไลน์ เมื่อ “ปลาเก๋าหยก” ถูกตั้งคำถามว่าสามารถเพาะเลี้ยง-ขาย ในไทยได้อย่างถูกกฎหมายหรือไม่? หลังเริ่มมีการทยอยเปิดตัวเป็นเมนูอาหาร พร้อมออกจำหน่ายเร็วๆ นี้
หลังจากมีข่าวการเปิดตัวเมนูอาหารที่ทำจาก “ปลาเก๋าหยก” ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งระบุว่า เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย แต่ไม่นานก็เจอกระแสตีกลับ เมื่อปลาเก๋าหยกปรากฏอยู่ในบัญชี “สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร ที่มี “ปลาเก๋าหยก” รวมอยู่นั้น เป็นข้อมูลจากประกาศกฎกระทรวงในปี 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำหายาก หรือป้องไม่ให้เกิดอันตรายกับสัตว์น้ำและระบบนิเวศ ซึ่งมีสัตว์น้ำทั้งหมด 13 ชนิดที่เข้าข่าย “ต้องห้าม” ไม่ให้เพาะเลี้ยง เนื่องจากเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาเรื่อง “เอเลียนสปีชีส์” หรือ การที่มีสัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามารุกรานสัตว์น้ำในถิ่นอาศัยเดิมทยอยหายไป
เอเลียนสปีชีส์ คือ สัตว์ต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานการดำรงชีวิตอยู่ของสัตว์ในท้องถิ่นเดิม รวมทั้งยับยั้งการสืบพันธุ์ของสัตว์ท้องถิ่นชนิดนั้นๆ เมื่อสัตว์ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ก็นำไปสู่การสูญพันธุ์และส่งผลให้ระบบนิเวศล่มสลาย รวมถึงมีผลกระทบในวงกว้างมาถึงมนุษย์
การเข้ามาของเอเลียนสปีชีส์มีทั้งการนำปลาหายากจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยง แล้วปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ไปจนถึงการทำบุญปล่อยสัตว์น้ำต่างๆ ลงสู่แม่น้ำ ส่วนในกรณีของปลาเก๋าหยกนั้น เดิมทีเป็นสายพันธุ์ปลาที่มาจากแถบแอฟริกา แต่ได้รับความนิยมในสังคมชาวเอเชียอย่างมาก ตั้งแต่จีน ฮ่องกง มาเลเซีย เวียดนาม และ ไต้หวัน เนื่องจากเป็นปลาแข็งแรง เพาะพันธุ์และปรับตัวง่าย นำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย
โฆษณา