2 ก.พ. 2023 เวลา 15:28 • ท่องเที่ยว

อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากีร์ รัฐคุชราต

23 ม.ค. 2566 ภารกิจการล่าสัตว์ด้วยกล้องถ่ายรูปเริ่มขึ้นราวบ่ายสามโมงหลังจากเดินทางมาถึงอุทยาน Gir National Park & Sanctuary ตำบลซะซานกีร์ เมืองจูนากาดห์ รัฐคุชราต การจัดการของอุทยานนับว่าดี จุดบริการนักท่องเที่ยวและร้านขายของที่ระลึกสร้างกลมกลืนกับบรรยากาศอุทยาน พื้นที่โดยรวมสะอาด เมื่อซื้อบัตรแล้วนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มจะถูกจัดให้ขึ้นรถจี๊ป 5-6 คน ทุกคันมีเจ้าหน้าที่อุทยานในชุดลายพราง 1 คน และพนักงานขับรถ 1 คน รถจี๊ปแต่ละคันต้องวิ่งในเส้นทางที่กำหนดเท่านั้น เช่น Route 1, 2, 3
คณะเราใช้รถ 3 คัน ไปคนละเส้นทาง รถจี๊ปขับออกจากจุดบริการนักท่องเที่ยวไปตามถนนใหญ่ด้านนอกราว 10 - 15 นาทีจึงเลี้ยวเข้าเขตอุทยานที่จัดเส้นทางซาฟารีไว้ มีเวลานั่งรถตระเวนในอุทยานร่วม 3 ช.ม. ทุกคนจะได้พบสัตว์ป่าพื้นถิ่นนานาชนิด แต่รางวัลใหญ่สุดของการล่าสัตว์ด้วยกล้องถ่ายรูปวันนี้คือ การพบสิงโตเอเชีย รถคันไหนจะเป็นผู้โชคดี หรือจะโชคดีกันโดยถ้วนหน้านะ
ที่นี่เป็นป่าไม้ผลัดใบในฤดูแล้ง (Dry deciduous forest) ในอดีตเป็นพื้นที่ล่าสัตว์ของนาวับ เจ้าผู้ครองนครจูนากาดห์ สมัยอาณานิคม นาวับมักเชิญเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอังกฤษมาร่วมล่าสัตว์เสมอๆ จนจำนวนสัตว์ลดลง โดยเฉพาะสิงโตลดเหลือเพียงไม่กี่สิบตัว อุปราชอังกฤษปรารภปัญหานี้กับนาวับ จึงมีการตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ในพื้นที่ ต่อมา ปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) รัฐบาลอินเดียตั้งอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากีร์ขึ้น จากการสำรวจในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) พบจำนวนประชากรสิงโตเพิ่มเป็น 500 กว่าตัว
เรื่องที่มาของสิงโตในอินเดียเท่าที่รับฟังในทริปนี้มีความแตกต่างกัน บ้างว่า หลายร้อยปีก่อนเมื่อชาวอัฟริกันเข้ามาติดต่อกับอินเดีย ได้นำลูกสิงโตมาด้วย ต่อมาขยายพันธุ์และอยู่กันตามธรรมชาติเรื่อยมา ส่วนเจ้าหน้าที่อุทยานบอกอย่างหนักแน่นว่าสิงโตเป็นสัตว์พื้นถิ่นแถบนี้ ถึงเรียกว่า Asiatic lion ไง และรัฐคุชราตเป็นพื้นที่ตะวันออกสุดที่สามารถพบถิ่นอาศัยของสิงโต
ต้นไม้ในอุทยานฤดูนี้ใบสีน้ำตาลแห้งกรอบ ร่วงหล่น หญ้าแห้งเกรียน เมื่อรถจี๊ปแล่นเข้าพื้นที่อุทยานไม่นาน เราพบว่าพื้นดินสองข้างทางมีรอยเผาไหม้ สอบถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่า เมื่อเริ่มเข้าฤดูแล้ง ใบไม้ร่วงทับถมลง คนงานในอุทยานจะริดกิ่งไม้บางส่วน และเผาแบบจำกัดบริเวณ ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันไฟป่า อีกส่วนหนึ่งเพื่อให้หญ้าเติบโตขึ้นใหม่ในฤดูฝน เป็นอาหารให้สัตว์ชนิดต่างๆในห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ อุทยานจะปิดระหว่างกลางมิถุนายนถึงกลางตุลาคมของทุกปีเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าด้วย
ถนนในอุทยานเป็นดินลูกรังบดอัด รถสามารถวิ่งสวนกันได้ ถ้ารถวิ่งตามๆกัน ฝุ่นจะฟุ้งตลบ ระหว่างทางเห็นนกยูง นกชนิดต่างๆหากินสองฝั่ง นกฮูกตัวน้อยรีบเข้ากระโดดเข้ารังแล้วโผล่หน้ากลับมาดูมานุดอย่างสนใจ เจอกวางดาวหลายฝูงเล็มหญ้าเป็นระยะๆ เห็นกวางป่า Sambar ด้วย มีค่าง (Langur) หลายฝูง บ้างนั่งเสวนาหาเห็บ บ้างส่งเสียงดังวิ่งไล่กัน
รถหลายคันหยุดจอดอยู่นานในจุดที่มักพบสิงโตเป็นประจำ (แต่สิงโตมักจะมาช่วงเช้า!) ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย บ้างมาเป็นครอบครัวใหญ่เหมือนจะมีปู่ย่าตายายมาด้วย กาจิ หัวหน้าทัวร์บอกว่าสังเกตสีหน้าของคนในรถที่สวนกัน จะพอเดาได้ว่าเจอสิงโตมั้ย เราทักทาย และถามว่า เจอสิงโตหรือยัง คนบนรถทุกคันส่ายหน้า (So don’t we!) กาจิถามเจ้าหน้าที่ฯว่า ขับไปเส้นทางอื่นได้มั้ยเผื่อจะเจอสิงโต คำตอบคือ รถทุกคันต้องแล่นในเส้นทางที่กำหนดเท่านั้น ชะรอย Route ของเราจะคลาดแคล้วกับสิงโตเป็นแน่แท้
ในอุทยานมีห้องสุขาสะอาดและที่แวะพักเป็นจุดๆ ความน่ารักคือ ทุกที่ทำบันไดเหล็กแข็งแรงตั้งไว้ให้รถจี๊ปเข้าจอดเทียบ นักท่องเที่ยวสามารถลงจากรถได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องปีนขึ้น-ลงจากรถ ไม่ต้องเสี่ยงอุบัติเหตุตกรถ เป็นการออกแบบหรือจัดการแบบคิดถ้วนๆดี เจ้าหน้าที่อุทยานเล่าว่า รถจี๊ปและพนักงานขับรถไม่ใช่ของอุทยาน (คงจะเป็นเอกชนรับสัมปทานมาให้บริการ) ส่วนเจ้าหน้าที่รับเงินเดือนจากอุทยาน เป็นคนในพื้นที่
รถเราขับจนถึงเขื่อนเก็บน้ำคามเลศวร (Kamleshwar) แวะพักชมบรรยากาศริมเขื่อนครู่ใหญ่จึงเดินทางต่อ ความที่อุทยานแห่งนี้กินพื้นที่กว้าง จึงผ่านภูมิประเทศหลากหลาย เป็นเนินสูง ที่ราบ ลงสะพานข้ามห้วย ข้ามลำธาร ผ่านบึง เห็นแม่น้ำอยู่ลิบๆบางช่วง มีรางรถไฟผ่าน นั่งรถพร้อมกล้องคู่ใจตระเวณไกล แต่ได้พบเพียงรอยเท้าใหม่ๆ จนใกล้เวลาอุทยานปิดตอน 18.00 น. จึงกลับไปยังจุดบริการนักท่องเที่ยว
เมื่อพร้อมหน้ากัน จึงรู้ว่า อย่างน้อย รถของ ”ทีม 3 เดนตายแห่งซานสการ์ + 2” ได้เจอทั้งสิงโต ควาย(ผอม) และจระเข้ ยังเจอ Gum tree ลำต้นสีขาว ที่มีดอกเปลี่ยนสีตามฤดูกาล ฤดูร้อนดอกชมพู ฤดูฝนดอกเขียว และฤดูหนาวดอกสีขาวด้วย ทีม 3 เดนตายแห่งซานสการ์ + 2 นำรางวัลใหญ่คือภาพนางสิงห์ยามหลับไหล 2 ตัวมาแบ่งปันให้ชาวเราโดยถ้วนหน้า ซาฟารีครั้งนี้จึงจบลงอย่างมีความสุข
โฆษณา